พระเครื่อง พระสมเด็จของแท้ คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ชาวไทยหลายคนใช้เตือนสติให้ทำความดี เชื่อกันว่าจะช่วยนำพาให้ชีวิตแคล้วคลาดปลอดภัย แม้ว่าในยุคสมัยปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ ? มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาไม่หยุดหย่อน แต่ ‘พระเครื่อง’ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ยังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีที่สุด
สำหรับ ‘นักสะสมพระเครื่อง’ มือสมัครเล่น ที่เริ่มต้นสนใจอยากจะเล่นพระสมเด็จ เพราะศรัทธาและมองว่าเป็น ‘ธุรกิจ’ อย่างหนึ่ง ที่อาจทำให้ร่ำรวยภายในชั่วข้ามคืน มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจมาให้เรียบร้อยแล้ว จะน่าสนใจแค่ไหน ? เราจะเล่าให้ฟัง
4 พระสมเด็จของแท้ พื้นฐานต้องรู้ของคนอยากเล่นพระ
คิดจะเล่น พระพิมพ์สมเด็จ ต้องรู้ก่อนว่ามีกี่แบบ แต่ละแบบมีลักษณะความเชื่อและประวัติความเป็นมายังไง ? เพื่อให้คุณสามารถ ‘แยกแยะ’ ของแก้ vs ของเก๊ได้อย่างแยบยล ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
1. พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม
หลังจากที่ ‘สมเด็จโต’ ขอออกจากการถวายราชการเทศ ในช่วงอายุ 82 พรรษา ท่านได้ใช้เวลาว่างในการสร้างพระเครื่องขึ้นมา โดย ‘แม่พิมพ์’ ที่ถูกนำมาใช้ คือ “หลวงวิจารณ์เจียรนัย” ซึ่งช่างทองในราชสำนักนำมาถวาย จึงได้เริ่มสร้าง “พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม” ในปี พ.ศ.2409 และหลังจากโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น สมเด็จพุฒาจารย์ จึงได้เรียกพระเครื่องที่สร้างขึ้นมาว่า “พระสมเด็จ” และได้สร้างเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2415
โดย “เนื้อพระสมเด็จ” เป็นเนื้อผงขาว เซียนพระหลายคนพากันเรียก “เนื้อพระสมเด็จ” เนื่องจากมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอื่น ๆ เพื่อนำมาสร้างเป็นพระสมเด็จ จนกลายเป็น “พระเครื่องล้ำค่า” สุดยอดปรารถนาของนักเล่นพระ
นอกจากนี้ยังมี “พระสมเด็จสองคลอง“ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่จากวัดระฆัง ที่ถูกเอาไปเข้ากรุบางขุนพรหม ที่เซียนหลายคนยังคงถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันว่าจริง ๆ แล้วเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง หรือพระสมเด็จบางขุนพรหมกันแน่ ซึ่งถือเป็น ‘การบ้าน’ ที่นักสะสมพระเครื่องมือใหม่สมัครต้องหาข้อมูลให้ดี เพราะทั้ง 2 แบบมี ‘มูลค่า’ ต่างกันมาก โดยวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สวย ๆ แตะองค์ละ 100 ล้าน แต่ถ้าบางขุนพรหมสวย ๆ ตกราว ๆ 10 ล้าน ถ้าไม่แม่นจริงอาจถูก ‘ย้อมแมว’ ได้ง่าย
2. พระสมเด็จ บางขุนพรหม
หลังจากได้สมณศักดิ์ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ได้ 2 ปี หรือช่วง พ.ศ.2411-2413 ท่านได้สร้างพระสมเด็จขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง และนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ประธานที่วัดบางขุนพรหม จึงเป็นที่มาของ “พระสมเด็จ บางขุนพรหม“ โดยผู้อาราธนาให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์ คือ เสมียนตราด้วง “ต้นตระกูล ธนโกเศศ” ข้าราชการเสมียนตราในสมัย ร.5
แท้จริงแล้ว “พระสมเด็จ บางขุนพรหม” พิมพ์เกศบัวตูม กรุเก่า มีทั้งหมด 9 พิมพ์ แต่เป็นพิมพ์หนึ่งที่ตรงกับวัดระฆัง จึงสันนิษฐานกันว่าเป็น “พระพิมพ์”
3. พระสมเด็จ วัดเกษไชโย
“พระสมเด็จเกศไชโย“ 1 ใน 3 ตระกูลพระผงสมเด็จ ที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์โต มีหลายพิมพ์ หลายแบบ แต่จำนวนพระมีน้อย แถมยังชำรุดมากกว่า 90% ถ้าจะหา พระสมเด็จ วัดเกษไชโย ที่สมบูรณ์จริง ๆ บอกเลยว่า ‘ยากมาก’ ทำให้วงการพระเครื่องทั่วไป รู้จักกันเพียงแค่ 3 พิมพ์ ดังนี้
- พิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น (พิมพ์นิยม)
- พิมพ์อกตัน 6 ชั้น
- พิมพ์อกตลอด 6 ชั้น
นอกจากนี้ยังมี “พิมพ์มาตรฐาน” ที่มีค่านิยมสูง เปรียบเหมือนเพชรน้ำเอกของเมืองอ่างทองอีกหลายพิมพ์ แต่เซียนพระหรือผู้รู้ส่วนมากไม่ค่อยออกมาเปิดเผยสักเท่าไหร่ แถมจำนวนพระก็มีน้อยไม่ต่างกัน
4. พระสมเด็จขาโต๊ะ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
เป็นพระสมเด็จองค์เดียวที่ไม่ใช่สายสมเด็จโต แต่กลับได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย โดยท่านได้สร้าง “พระเนื้อผงรุ่นแรก” ในปี พ.ศ.2486 มีทั้งหมด 13 พิมพ์ “หลวงปู่โต๊ะ” สร้าง “พระสมเด็จขาโต๊ะ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี“ ด้วยความตั้งใจ และปรารถนาจะให้ขลังเป็นพิเศษ ด้วยการเสาะหาวัตถุมงคลและอาถรรพ์เวทย์ต่าง ๆ ที่มีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์มาทำ และกดพิมพ์ด้วยมือของท่านเอง เซียนพระหลายคนนิยมเรียกพระรุ่นนี้ว่า “รุ่นแช่น้ำมนต์” เนื่องจากมีการนำไปแช่น้ำมันต์ในตุ่มมังกร
“หลวงปู่โต๊ะ” เป็นพระที่อุทิศตนบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติที่งดงามมาตลอดชีวิตที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ทำให้เชื่อกันว่า “พระพุทธ คุณ โชคลาภ” นั้นทวีคูณ โดยเฉพาะคนที่เป็นคนดี ประพฤติตัวดีตามคำสั่งสอนของหลวงปู่ จะมีโอกาสได้พบกับโ๙คลาถ เมตตา และแคล้วคลาดปลอดภัย
ทั้งหมดนี้คือเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรารวบรวมมาบอกนักสะสมพระเครื่องมือสมัครเล่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องราวเกี่ยวกับ “พระสมเด็จ” ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมาก ที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจจะส่องพระพลาด ได้พระเก๊หรือพระแบบอื่น ๆ มาครอบครองได้
ด้วยความที่ในปัจจุบัน “พระเครื่อง” เป็นหนึ่งในเครื่องรางที่มีมูลค่าสูง หากคิดจะเล่นเพื่อสะสม หรือจะเล่นเพื่อเชิงธุรกิจก็ตาม ควรศึกษารายละเอียดให้ดี ทั้งประวัติ เนื้อพระ และจุดสังเกตต่าง ๆ เพราะแต่ละรุ่น หรือแต่ละแบบมีราคาต่างกันหลายเท่าตัว เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง vs พระสมเด็จบางขุนพรหม ที่มีมูลค่าจ่างกันมากถึง 10 เท่า !