เกิดอุบัติเหตุรถชนรับมือยังไงดี ควรแจ้งประกันทันทีไหม ?

แชร์ต่อ
เกิดอุบัติเหตุรถชนรับมือยังไงดี ควรแจ้งประกันทันทีไหม ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

หัวข้อที่น่าสนใจ

ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุต่อให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง มีสติมากแค่ไหน ก็มีโอกาสเกิดเกิดอุบัติเหตุรถชนได้ ถ้าเกิดเหตุการชนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงขับรถชนคนเสียชีวิตต้องรับมือยังไง คนไม่เคยเจอคงไม่รู้ แต่คนไม่รู้เตรียมตัวไว้ย่อมไม่เสียหาย ที่ต้องทำเพียงแค่แจ้งบริษัทประกันทันทีเลยไหมหรือต้องทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้ว ตามไปอ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ได้เลย

การเคลมประกันรถยนต์เมื่อเกิดเหตุรถชน คืออะไร ?

ทำความเข้าใจกันก่อน “เคลมประกัน” เป็นกระบวนการที่ผู้เอาประกันร้องขอให้บริษัทประกันชดเชยค่าเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายกับรถยนต์ที่ทำประกันเอาไว้ ซึ่งความคุ้มครองต่าง ๆ ที่จะได้รับ มักเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

ทั้งนี้ การเคลมประกันจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหาย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แนะนำว่าควรตรวจสอบความคุ้มครองให้ดีก่อนทำประกัน เพื่อให้แน่ใจว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประกันที่ทำไว้ เช่น ประกันชั้น 2 ไม่มีคู่กรณี หรือประกันชั้น 1 เราเป็นฝ่ายผิด เป็นต้น

เคลมประกันรถยนต์มีกี่แบบ ?

การเคลมประกันรถยนต์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เคลมสดและเคลมแห้ง ซึ่งแต่ละแบบมีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นตามไปลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ กันเลยดีกว่า

เคลมสด

เป็นการเคลมประกันที่เกิดขึ้น “ทันที” หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ ด้วยการเรียกพนักงานของบริษัทประกันมาตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้น พร้อมกับประเมินว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ทั้งนี้พนักงานจะทำการถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐาน และออกเอกสารการเคลมประกันรถยนต์ให้กับผู้เอาประกัน

ซึ่งการเคลมสดยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเด็นย่อย ๆ ดังนี้

  • เคลมสดแบบมีคู่กรณี

    ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด สิ่งสำคัยคือต้องขอข้อมูลทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ของคู่กรณีเอาไว้ โดยประกันที่สามารถเคลมแบบนี้ได้ คือ ประกันรถยนต์ชั้น 1, 2+ และ 3+ หากทำประกันชั้น 2 ไม่มีคู่กรณี จะไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ

  • เคลมสดแบบไม่มีคู่กรณี

    หรือพูดง่าย ๆ ว่า “โดนชนแล้วหนี” ประกันที่สามารถเคลมได้ คือ ประกันชั้น 1 แต่อาจต้องควักจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก ตามที่ตกลงกันไว้กับบริษัทประกัน ในส่วนของประกันชั้น 2+ และ 3+ จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันว่ามีคู่กรณีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย กล้องหน้ารถ กล้องวงจรปิด หรือพยานรู้เห็น เป็นต้น

เคลมแห้ง

หรือที่เรียกกันว่า “การเคลมประกันรถรอบคัน” เป็นการเคลมที่ผู้เอาประกันต้องดำเนินการด้วยตัวเอง “หลังจาก” ประสบอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีและไม่รุนแรงมาก เช่น ถอยรถชนต้นไม้/เสาไฟฟ้า หรือขับรถขูดกับฟุตบาท เป็นต้น

จะเกิดอะไรขึ้น หากประมาทร่วม คู่กรณีบาดเจ็บ ?

สำหรับกรณีประมาทร่วม คู่กรณีบาดเจ็บ คู่กรณีสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ.รถยนต์ หรือประกันภัยภาคบังคับได้เลย นอกเหนือจากนั้นจะยังคงได้รับความคุ้มครองจากประกันรถยนต์เพิ่มเติม ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

หรือในกรณีที่คู่กรณีบาดเจ็บสาหัส ในส่วนนี้ก็เหมือนด้านบน ทั้งนี้ประมาทร่วมสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ.รถยนต์ ได้ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ ได้ชดเชยไม่เกิน 30,000 บาท/คน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร ได้ชดเชยไม่เกิน 35,000 บาท/คน
  • กรณีขับรถชนคนเสียชีวิต ได้ชดเชยไม่เกิน 35,000 บาท/คน

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน มีอะไรบ้าง ?

​​วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน มีอะไรบ้าง ?​ | มิสเตอร์ คุ้มค่า

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างเกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ว่าจะเป็นรถชนท้าย รถโดนชน เฉี่ยวชนกันเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือใด ๆ ก็ตาม แนะนำให้ทำตามวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • 1. ตั้งสติและรีบหยุดรถทันที

    เมื่อรู้ตัวว่าโดนชนท้าย ให้ตั้งสติให้ดีพร้อมกับหยุดรถและเปิดไฟฉุกเฉิน เพราะการหยุดรถในจุดเกิดเหตุจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุและใครเป็นผู้เสียหาย ในกรณีที่โดนชนแล้วหนีให้จำทะเบียนรถที่ชนให้ดี เพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในภายหลัง ไม่แนะนำให้ขับตามเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

  • 2. ไม่พูดกล่าวโทษคู่กรณี

    บอกไว้ก่อนเลยว่าคำพูดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ หลายคนเผลอพลั้งปากเนื่องจากระงับสติไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์รถชนทีไรเป็นอันต้องหัวเสีย ตามด้วยลงไปต่อว่าคู่กรณีทันที ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงมาก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้

  • 3. โทรเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    หลังจากตั้งสติได้แล้ว ไม่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ได้ก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือโทรเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดำเนินการตามกฎหมาย อย่าเชื่อคำอ้างของคู่กรณีว่าตัดสินกันเองได้ เพราะผู้เสียหายจะเสียเปรียบในรูปคดีในชั้นศาลทันที เนื่องไม่มีเจ้าหน้าที่พยานยืนยัน

  • 4. เล่ารายละเอียดความเป็นจริง

    การเล่ารายละเอียดที่เกิดขึ้นจริงอย่างครบถ้วน ถูกต้องถือเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมกับแจ้งชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนรถ และชื่อประกันกับเจ้าหน้าที่

  • 5. ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์

    กรณีที่คุณเป็นผู้เสียหาย (ฝ่ายถูก) จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถยนต์ และประกันรถยนต์ สามารถเรียกค่ารักษาพยาบาล ค่าทำให้เสียเวลา และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากคู่กรณีอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นส่วนที่คุณจำต้องพูดคุยตกลงกับคู่กรณี หรือให้ทางเจ้าหน้าที่ประกันเป็นผู้ดูแล และแนะนำในส่วนนี้

  • 6. หากได้รับบาดเจ็บให้รีบไปพบแพทย์

    หากพบว่าคุณได้รับบาดเจ็บจากการประสบอุบัติเหตุ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไปหาหมอ การเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีในภายหลังจะเป็นไปได้ยาก แม้จะเป็นการได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจอักเสบหรือติดเชื้อรุนแรงได้

  • 7. หากมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ควรแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ทันที

    ในท้ายที่สุดหากพบว่ามีผู้บาดเจ็บหนักหรือขับรถชนคนเสียชีวิต นอกจากจะต้องนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วนแล้ว ควรแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รถชน เราเป็นฝ่ายถูก เรียกร้องอะไรได้บ้าง ?

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสงสัย คือ โดนรถชน เราเป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รถชนอะไรจากคู่กรณีได้บ้าง บอกตรงนี้เลยว่าเรียกร้องได้แทบทุกอย่าง ดังนี้

  • 1. ค่ารักษาพยาบาล

    หากผู้เอาประกันถูกรถชนจนได้รับบาดเจ็บ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือ พ.ร.บ.รถยนต์ จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท รวมถึงค่าปลงศพแล้วแต่กรณี โดยต้องรอพิสูจน์ถูกหรือผิด

  • 2. ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน

    ถ้าโดนรถชนท้ายจนทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวภายในรถได้รับความเสียหาย ฝ่ายที่ถูกชนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรงต่อคู่กรณีได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, แท็ปเล็ต, กระเป๋า หรืออื่น ๆ โดยบริษัทประกันของคู่กรณีจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามความเหมาะสม

  • 3. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

    แน่นอนว่าเมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุหนักจนต้องซ่อมเป็นเวลานาน ทำให้ผู้เอาประกันไม่มีรถใช้ แบบนี้สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้เช่นกัน โดยบริษัทของคู่กรณีจะพิจารณาและประเมินความเสียหายตามกฎเกณ์

    แต่ถ้าคู่กรณีไม่มีประกัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รถชนได้จากคู่กรณีโดยตรง แนะนำให้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ภายในวันไหน เพื่อป้องกันการโดนเบี้ยว

  • 4. ค่าเสียหายต่อตัวรถยนต์

    ฝ่ายถูกชน (ฝ่ายถูก) สามารถเรียกค่าเสียหายต่อตัวรถยนต์จากคู่กรณีได้ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทประกันของคู่กรณีจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงออกใบเคลมเป็นค่าซ่อมรถให้ แต่ถ้าคู่กรณีไม่มีประกัน สามารถเรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีได้เลย แต่ต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน

  • 5. ค่ารถยก

    หากเกิดอุบัติเหตุอย่างหนักจนรถของผู้เอาประกันไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ จำเป็นต้องใช้บริการรถยก บริษัทประกันของคู่กรณีจะต้องชดเชยค่าเคลื่อนย้ายรถด้วย

จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก “ประกันรถยนต์” มีความสำคัญมาก ๆ เพราะนอกจากจะมาช่วยไกล่เกลี่ยหลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทั้งในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ รวมถึงอื่น ๆ ได้อีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วก็ควรเปรียบเทียบประกันรถยนต์ให้ดีก่อนซื้อด้วยล่ะ

คำจำกัดความ
​​กล่าวโทษ ​หาว่าผิด, ชี้ว่าผิด, แจ้งว่ากระทำผิด, ตำหนิติเตียน
​ไกล่เกลี่ย ​พูดจาเพื่อให้เขาประนีประนอมกัน, พูดจาเพื่อให้เขาตกลงกัน
​ค่าสินไหมทดแทน ​เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน หรือแก่บุคคล อันเนื่องมาจากการละเมิด หรือการผิดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย​

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่