หนึ่งในเรื่องที่ผู้ทำประกันภัยรถยนต์ต้องทำความเข้าใจ ไม่ต่างจากเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ระบุไว้ คือ เรื่องการเวนคืนกรมธรรม์ คำนี้มีความหมายว่ายังไง ได้เงินคืนไหม เอกสารเวนคืนกรมธรรม์ที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงกรณีขายรถไปแล้วสามารถเวนคืนได้หรือไม่ ? มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์ประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้ว ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
เวนคืนกรมธรรม์ คืออะไร ?
ทำความเข้าใจกันก่อนว่าเวนคืนกรมธรรม์ เปรียบเหมือนการ “ ยกเลิกกรมธรรม์ ” เพื่อยกเลิกความคุ้มครองต่าง ๆ ที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ ส่วนสาเหตุของการยกเลิกประกันภัยรถยนต์ก็มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกัน เช่น ไม่พึงพอใจบริการเมื่อเคลมประกันรถยนต์, ไม่อยากมีพันธะกับตัวรถ หรืออื่น ๆ
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันจะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงสาเหตุที่ต้องการยกเลิกกรมธรรม์ และทางบริษัทจะต้องคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ที่ทำประกัน โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน
ขั้นตอนและเอกสารเวนคืนกรมธรรม์ มีอะไรบ้าง ?
สำหรับขั้นตอนการยกเลิกประกันภัยรถยนต์ก็ไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อนอย่างที่คิด โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีเอกสารกรมธรรม์ตัวจริงยังไม่ออก
- ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เรา ซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์ หรือตัวแทนที่แจ้งทำประกันด้วย
- แจ้งว่าจะยกเลิกประกันภัยรถยนต์ทะเบียนไหน พร้อมชื่อผู้เอาประกัน และสาเหตุที่ต้องการยกเลิก
2. กรณีเอกสารกรมธรรม์ตัวจริงออกแล้ว
- ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ โบรกเกอร์ หรือตัวแทนที่แจ้งทำประกันด้วย
- แจ้งว่าจะยกเลิกประกันภัยรถยนต์ทะเบียนไหน พร้อมชื่อผู้เอาประกัน และสาเหตุที่ต้องการยกเลิก
- ส่งเอกสารกรมธรรม์ตัวจริงให้เจ้าหน้าที่ เพื่อทำเรื่องยกเลิกตามขั้นตอนต่อไป
3. กรณียกเลิกกรมธรรม์หลังคุ้มครองไปแล้ว
- ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ โบรกเกอร์ หรือตัวแทนที่แจ้งทำประกันด้วย
- แจ้งว่าจะยกเลิกประกันภัยรถยนต์ทะเบียนไหน พร้อมชื่อผู้เอาประกัน และสาเหตุที่ต้องการยกเลิก
- ส่งเอกสารกรมธรรม์ตัวจริงให้เจ้าหน้าที่ เพื่อทำเรื่องยกเลิกตามขั้นตอนต่อไป
ในส่วนของเอกสารเวนคืนกรมธรรม์ที่จำเป็นต้องเตรียมให้พร้อม และส่งไปพร้อมกับเอกสารกรมธรรม์ตัวจริง มีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกัน
- เล่มกรมธรรม์ตัวจริงที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยรถยนต์
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีที่ต้องการให้โอนเงินเวนคืนเข้า
- แบบฟอร์มการเวนคืนกรมธรรม์ พร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย
ขายรถไปแล้ว ยกเลิกประกันภัยรถยนต์ได้ไหม ?
หนึ่งในประเด็นที่คนอยากขายรถตั้งคำถาม คือ ถ้าขายไปแล้วสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ไหม ? คำตอบคือ “ยกเลิกได้” โดยขั้นตอนก็ไม่ได้ต่างจากที่เราแจ้งไปก่อนหน้านี้เลยสักนิด นอกจากนี้ถ้าอยากขายรถพ่วงประกันก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะต้องทำการโอนกรมธรรม์ให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง โดยมีข้อควรรู้เพิ่มเติมดังนี้
ประกันภัยแบบไม่ระบุชื่อ
กรณีที่เป็นประกันภัยรถยนต์แบบไม่ระบุชื่อ ทางผู้ขายจะต้องโอนกรมธรรม์ตัวจริงให้กับผู้ซื้อในทันที พร้อมกับมอบกรมธรรม์ตัวจริงทั้งชุดให้กับผู้ซื้อรถ เอกสารที่ต้องใช้มีแค่สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของเก่า และเซ็นเอกสารยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าของคนใหม่ จากนั้นให้ผู้ซื้อนำเอกสารดังกล่าว พร้อมกับใบซื้อขายเข้ายื่นกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันเป็นชื่อของตัวเอง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าโอนกรมธรรม์เสร็จสิ้น
ประกันภัยแบบระบุชื่อ
แผนประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่จะแตกต่างจากแบบไม่ระบุชื่อ คือ จะคุ้มครองเฉพาะคนขับที่แจ้งชื่อเอาไว้เท่านั้น ซึ่งตามปกติจะกำหนดไว้ที่ 2 คน เมื่อต้องการขายรถแบบพ่วงประกันจำเป็นจะต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบ เพื่อทำการประเมินและปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตาม “คุณสมบัติ” ของผู้เอาประกันคนใหม่
โดยมีหลักการคำนวณจากอายุ สุขภาพ และประวัติการขับขี่ เมื่อคุณลักษณะของผู้ขับขี่ที่ประสงค์จะรับประกันชุดเดิม จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ถูกต้อง เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา แล้วพบว่าชื่อผู้เอาประกันยังเป็นชื่อเดิม แม้ว่าประกันจะยังให้ความคุ้มครอง แต่เจ้าของใหม่ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเอง
หลังจากเวนคืนกรมธรรม์แล้ว
ต้องบอกก่อนว่าการเวนคืนกรมธรรม์ จะได้รับมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์คืนเพียงแค่ ‘บางส่วน’ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาความคุ้มครองที่ใช้ไป (เป็นไปตามตารางเวนคืนกรมธรรม์) โดยระยะเวลาคุ้มครองจะถูกนำมาพิจารณากับเบี้ยประกันที่จะได้คืน ยิ่งจำนวนคุ้มครองมากเท่าไหร่ เบี้ยประกันที่จะได้คืนก็น้อยลงเท่านั้น
ตัวอย่างการคำนวณ :
ประกันภัยรถยนต์ที่คุณซื้อไว้ ต้องจ่ายค่าเบี้ย 20,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน (180 วัน) คุณตัดสินใจขายรถ และต้องการยกเลิกกรมธรรม์ที่ทำไว้ หมายความว่าประกันรถยนต์ดังกล่าว คุ้มครองไปแล้ว 6 เดือน เมื่ออ้างอิงตามตารางเวนคืนกรมธรรม์ คุณจะได้รับเงินคืน 30% ของค่าเบี้ยประกัน ยอดก็คือ 6,000 บาท คิดจาก 20,000 (ค่าเบี้ยประกัน) x 30% = 6,000 บาทนั่นเอง
*หมายเหตุ: ในกรณีที่ความคุ้มครองเหลือน้อยกว่า 60 วัน การเวนคืนกรมธรรม์ก็อาจไม่คุ้มสักเท่าไหร่ เพราะจะได้รับเบี้ยประกันคืนเต็มที่แค่ 10% เท่านั้น
ข้อดีและข้อจำกัดของการเวนคืนกรมธรรม์ เป็นยังไง ?
ก่อนตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์ อยากให้ผู้เอาประกันเปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดให้ดีก่อน เพราะการยกเลิกกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจะได้รับเบี้ยประกันคืนไม่เต็มจำนวน เพื่อให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องมานั่งเสียดาย เสียใจในภายหลัง ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปเปรียบเทียบกันเลยดีกว่า
ข้อดีของการยกเลิกกรมธรรม์
- ได้รับเงินก้อนจากจำนวนเบี้ยประกันที่เหลืออยู่ เหมาะสำหรับคนที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน แถมยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
- สามารถปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด เช่น ยกเลิกกรมธรรม์ประกันชั้น 1 เพราะจ่ายเบี้ยไม่ไหว และเปลี่ยนมาเป็นประกันชั้น 2+ แทน เป็นต้น
- ได้เปลี่ยนไปใช้บริการของบริษัทประกันที่ให้ความคุ้มครองที่ดีกว่า
- เป็นการตัดพันธะของเจ้าของรถกับตัวรถออกจากกัน ในกรณีที่ต้องการขายรถ และอายุของประกันยังหลงเหลืออยู่
ข้อจำกัดของการยกเลิกประกันภัยรถยนต์
- แม้ว่าขั้นตอนการเวนคืนกรมธรรม์ในปัจจุบันจะไม่ยุ่งยาก แต่ก็มีการสอบถามรายละเอียด และขั้นตอนอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องเตรียมมากมาย
- มีช่วงเวลาหนึ่งที่รถยนต์คันโปรดจะไม่ได้รับความคุ้มครอง จนกว่าจะทำประกันกับบริษัทใหม่เสร็จเรียบร้อย หากโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าของรถจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเองทั้งหมด
- “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะจากการคำนวณเบี้ยประกันในประเทศไทย พบว่าเพียงไม่ถึง 10 วันแรกของความคุ้มครอง มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์จะลดลงเหลือประมาณ 72% เท่านั้น
- การยกเลิกกรมธรรม์จากบริษัทเดิม ไปใช้บริการของบริษัทใหม่ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองหรือบริการที่ดีกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่าการเวนคืนกรมธรรม์มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ดังนั้นก่อนตัดสินใจขอยกเลิกควรไตร่ตรองให้ดีก่อน ถ้าจะให้ดีและคุ้มค่ามากที่สุดควรตัดสินใจตั้งแต่ “ความคุ้มครองยังไม่เริ่ม” เพื่อป้องกันส่วนต่างที่คุณต้องเสียไปในช่วงต้นของความคุ้มครองนั่นเอง
ก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัยรถยนต์ทุกครั้ง แนะนำให้เปรียบเทียบประกันรถยนต์ ให้ดีก่อน ว่าตอบโจทย์ความต้องการได้ดีแค่ไหน หากทำไปแล้วไม่ตอบโจทย์ แม้จะสามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้ แต่ก็มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมมากมาย โดยเฉพาะมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ของแต่ละกรมธรรม์หรือบริษัท เพราะแต่ละที่อาจมีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง
คำจำกัดความ
พันธะ | ทำให้ติด หรือเกี่ยวกันไว้, ผูก, มัด, ตรึง |
ลายลักษณ์อักษร | ข้อความ หรือเครื่องหมายที่ขีดเขียนไว้เป็นตัวหนังสือ |