เมื่อต้องการซื้อขายรถยนต์มือสอง สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ๆ คือ สัญญาซื้อขายรถยนต์ หากจะทําสัญญาซื้อขายรถกันเองก็ควรทำให้ถูกต้อง พื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง และถ้ากำลังสงสัยว่าต้องขายประกันรถยนต์ด้วยไหม รวมถึงข้อควรรู้อื่น ๆ มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์ประเด็นที่น่าสนใจมาให้หมดแล้ว ตามไปหาคำตอบกันหน่อยดีกว่า
อยากขายรถมือสอง เริ่มต้นจากตรงไหน ?
ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากขายรถมือสอง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ขายได้ แต่ต้องให้ได้ราคาดีตามคาดหวัง จริง ๆ ไม่ยากอย่างที่คิดสำหรับมือใหม่เพียงรู้ข้อควรทำเหล่านี้ มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์ทริคขายรถมือสองมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง ? ตามไปดูกันหน่อย
1. ทำความสะอาดทั้งภายนอกและภายใน
ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำอยู่แล้ว ทั้งทำความสะอาดภายนอกและภายใน รวมถึงขจัดรอยขีดข่วน และลงแว็กซ์ให้ดูเงางาม สำรวจล้อและยางรถยนต์ว่ายังอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ดูดฝุ่น ภายในห้องโดยสารต้องไม่มีกลิ่นอับ ที่สำคัญควรเช็คระบบไฟต่าง ๆ เพื่อให้รถอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด
2. ถ่ายรูปรถให้สวยงาม
รูปรถถือเป็นสิ่งแรกที่ผู้ซื้อจะได้เห็นสภาพรถก่อนเบื้องต้น แนะนำว่าควรหาพื้นที่ จัดองค์ประกอบรถให้ดูสวยงาม และควรถ่ายภาพรถให้ครบทุกมุมทั้งภายนอกและภายใน และควรมีมุมมองรอบคัน เพราะภาพที่ถ่ายจะนำไปใช้เพื่อประกาศขายตามเว็บไซต์ หรือโซเชียลต่าง ๆ “ภาพดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ท่องไว้ให้ขึ้นใจ
3. บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวกับรถให้ชัดเจน
เมื่อทำความสะอาดและจัดองค์ประกอบในการถ่ายรูปให้สวยงามแล้ว ต้องเขียนคำบรรยายเกี่ยวกับรถให้ชัดเจนด้วย ว่ารถซื้อมาปีอะไร เลขไมล์มากน้อยแค่ไหน สภาพการใช้งานเป็นยังไง มีการใช้งานมากน้อยแค่ไหน รวมถึงออฟชั่นของรถมีอะไรบ้าง ติดไฟแนนซ์หรือไม่ ฯลฯ
หากรถมีตำหนิ รอยขีดข่วน ก็ควรบอกอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันข้ออ้างในกรณีที่ผู้ซื้อต่อราคา เนื่องจากให้ข้อมูลที่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งการบรรยายรายละเอียดที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่ไม่ควรบรรยายเกินความเป็นจริง
4. ตั้งราคาขายให้เหมาะสม
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถมือสองของหลาย ๆ คน คือ “ราคา” แนะนำให้ลองเปรียบเทียบราคากลางของรถรุ่นเดียวกัน ว่าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ โดยดูจากปีรถ ออฟชั่นต่าง ๆ รวมถึงดูด้วยว่ามีอุปกรณ์แตกต่างจากคันอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญอย่าตั้งราคาสูงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ขายไม่ออก ถ้าอยากขายให้ได้เร็ว ๆ ควรตั้งราคาให้ถูกกว่ารถคันอื่นเล็กน้อย
5. ตกลงเงื่อนไขการซื้อขายให้ชัดเจน
เมื่อมีผู้ซื้อสนใจและติดต่อเข้ามาเพื่อขอดูรถ ให้พูดคุยและตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ประกันรถยนต์ การต่อรองเรื่องราคา การซื้อขายผ่านไฟแนนซ์ ฯลฯ กรณีที่ผู้ซื้อมีความลังเล แต่มีแนวโน้มที่จะซื้อ ให้แสดงข้อมูลอื่น ๆ ว่ารถมือสองในราคานี้ สภาพดี ๆ แบบนี้หาได้ยาก เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และไม่ควรแสดงความต้องการที่จะขายมากเกินไป
ข้อควรระวังก่อนเซ็นหนังสือซื้อขายรถ มีอะไรบ้าง ?
ทำความเข้าใจก่อนว่าหนังสือซื้อขายรถหรือหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ คือ “สัญญาซื้อขาย” ทางกฎหมายที่มีความสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในตอนที่ต้องการซื้อขายรถยนต์ ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายซื้อหรือฝ่ายขาย สัญญาซื้อขายรถที่ถูกต้องตามกฎหมายเปรียบเสมือนหลักฐาน ที่ช่วยยืนยันรายละเอียดตามกระบวนการที่ถูกต้อง และเก็บเป็นหลักฐานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลังได้
หมายความว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์ที่ไม่ครบถ้วน หรือการลงลายมือชื่อที่ไม่ถูกต้อง อาจทำติดปัญหาการซื้อขาย ไม่สามารถทำการโอนได้นั่นเอง ถ้าอย่างนั้นมีข้อควรระวังอะไรที่ต้องรู้บ้าง ตามไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันหน่อยดีกว่า
1. เอกสารต้องครบถ้วน
ในหนังสือซื้อขายรถจะต้องมีเอกสารที่สำคัญ ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อที่กรมขนส่งทางบกได้ โดยเอกสารที่จำเป็นมีดังนี้
- ทะเบียนรถยนต์ หรือสมุดคู่มือจดทะเบียนฉบับจริง
- หนังสือสัญญาซื้อขายรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- หนังสือสัญญาโอนรถ และรับโอนรถ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2. ตรวจเช็กสภาพรถก่อนทำสัญญาซื้อขายรถมือสอง
สิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะเซ็นสัญญาโอนรถ คือ การเช็คสภาพรถที่จะซื้อให้ดีก่อน โดยเฉพาะเมื่อคุณซื้อรถมือสองจากแหล่งซื้อขายที่ไม่มีการรับประกัน แบบนี้ยิ่งต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ารถที่คุณเล็งไว้อยู่ในสภาพที่น่าพึงพอใจหรือไม่ เนื่องจากหลังจากซื้อขาย คุณจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้นอกจากสิ่งที่ระบุในสัญญาซื้อขายรถมือสองที่เซ็นไปแล้ว
3. ลายเซ็นในหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ ครบ ชัดเจน
แน่นอนว่าการเซ็นหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ หรือเอกสารรับทราบในการทำธุรกรรมใด ๆ ผู้ทำสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายควรอ่านให้ละเอียด รอบคอบก่อนจรดปลายปากกา รวมถึงตรวจสอบลายเซ็นของอีกฝ่ายว่าถูกต้อง ชัดเจน พร้อมตรวจสอบเงื่อนไขและข้อตกลงให้ดีก่อนทุกครั้ง
โดยฝั่งผู้ซื้อจะต้องสังเกตลายเซ็นเจ้าของรถให้ดี ว่าตรงกับลายเซ็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเล่มทะเบียนรถหรือไม่ หรือถ้าผู้ขายได้จดทะเบียนนิติบุคคล เอกสารทุกอย่างที่มีลายเซ็นควรต้องมีตราประทับบริษัทประกอบในเอกสารด้วย เนื่องจากผู้ขายไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็ควรมีเอกสารหลักฐานยืนยันอำนาจในการนำรถมาขายประกอบการทำสัญญา
4. เก็บใบซื้อขายรถ และเอกสารต่าง ๆ ให้ดี
ย้ำอีกครั้งว่าการทำสัญญาต่าง ๆ ควรมี “ หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ ” เตรียมไว้อย่างน้อย 2 ฉบับ โดยต้องมีความเหมือนกันและมีการลงลายเซ็นของคู่สัญญา และพยานในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการฉ้อโกงกันในภายหลัง
5. ควรหลีกเลี่ยงและระวังการโอนลอย
การโอนลอยอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวผู้ขายเดิม หากรถที่ขายเกิดอุบัติเหตุ ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม ไม่เสียภาษีรถยนต์ หรือมีปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดิมจะยังถูกอ้างอิงกับทะเบียนรถดังกล่าว ในทางกลับกันถ้ายังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ครบถ้วน แต่ผู้ชายไปแจ้งรถหาย อาจโดนข้อหารับซื้อของโจรได้
โอนลอยคืออะไร ? พร้อมแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์ โอนลอยที่ควรรู้
“โอนลอย” คือ การเซ็นสัญญาโอนรถของทางผู้ขาย แต่ยังไม่มีการกรอกข้อมูลในส่วนของผู้รับโอน หรือถ้ามีการกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไปไม่ถึงขั้นตอนการยื่นเอกสารต่อกรมขนส่งทางบก ทำให้ผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถอย่างถูกต้อง โดยมีข้อดีและข้อจำกัดดังนี้
ข้อดีของการโอนลอย
- ทำให้การซื้อขายจบได้อย่างรวดเร็ว : โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านคนกลาง เช่น ต้องการนำรถไปขายต่อเต็นท์มือสอง การโอนลอยจะถือว่าสะดวกมาก ๆ เนื่องจากเต็นท์รถไม่ได้นำรถไปใช้งาน เพียงแต่นำไปขายต่อเท่านั้น เมื่อได้เจ้าของใหม่จึงนำแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์ โอนลอยไปกรอกข้อมูลผู้รับโอน
- เจ้าของรถไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องด้วยตัวเอง : ยิ่งถ้าขายต่อเต็นท์รถอย่างที่กล่าวไปเมื่อข้างต้น เจ้าของรถสามารถเซ็นโอนลอย เพื่อให้เต็นท์รถไปจัดการกับเจ้าของใหม่ได้ โดยที่เจ้าของรถคันแรกอย่างเราไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการอะไรเลย
ข้อจำกัดของการทำสัญญาแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์ โอนลอย
- เจ้าของรถต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา : เช่น โดนใบสั่งจราจร, มีคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน, นำรถไปก่ออาชญากรรม ฯลฯ หากมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ชื่อเจ้าของเดิมจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
- ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ซื้อ : เช่น หากบัตรประชาชนเจ้าของเดิมหมดอายุ หรือเจ้าของเดิมเสียชีวิต เอกสารโอนลอยจะไม่สามารถใช้งานได้ และถ้าหากผู้ซื้อไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รถที่ได้มาจะไม่สามารถดำเนินทางด้านทะเบียนใด ๆ ได้เลย
- ความเสี่ยงเจอรถผิดกฎหมาย : หากซื้อรถด้วยวิธีโอนลอย อาจเสี่ยงต่อการเจอรถที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โอนลอยรถยนต์ที่ไหนได้บ้าง ?
สำหรับการซื้อขายรถมือสองที่ต้องการโอนลอย จริง ๆ สามารถทำได้ทุกที่ เซ็นเอกสารที่จำเป็นเผื่อไว้แล้วให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนรถได้เลยที่กรมขนส่งฯ หากจะดำเนินการ “การโอนรถเปลี่ยนชื่อเจ้าของ” สามารถเดินทางไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานขนส่งในพื้นที่ที่อาศัย สำนักงานขนส่งในพื้นที่ที่มีการระบุไว้ในเล่มทะเบียน ซึ่งในกรณีที่เป็นสำนักงานขนส่งในพื้นที่ ก็สามารถดำเนินการได้ แม้จะไม่ใช่จังหวัดที่มีระบุไว้ในเล่มทะเบียน
ค่าธรรมเนียมโอนรถยนต์
- ค่าอากรแสตมป์ 50 บาท ต่อราคาประเมิน 10,000 บาท เช่น รถยนต์มีราคาประมาณ 100,000 บาท จะเสียค่าอากรแสตมป์ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมการโอนรถ 100 บาท
- ค่าคำขอ 5 บาท
ขายรถต้องขายประกันรถยนต์ด้วยไหม ?
หากกำลังสงสัยว่าถ้าขายรถแล้ว รถคันดังกล่าวยังมีประกันคุ้มครองอยู่ แบบนี้จำเป็นต้องขายประกันรถยนต์ด้วยไหม? คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย” หากผู้ซื้อเห็นว่าความคุ้มครองที่ติดมาด้วยตอบโจทย์ และคุ้มครองครอบคลุม ก็สามารถทำเรื่อง “โอนประกันรถมือสอง” ได้เลย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่
กรณีที่ประกันรถยนต์ที่ติดมากับรถเป็นแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ ต้องเปลี่ยนชื่อในกรมธรรม์เป็นชื่อเจ้าของรถคนใหม่ก่อน เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วยังเป็นชื่อเจ้าของคนเดิมอยู่ เจ้าของรถคนเก่าจะเป็นฝ่ายผิด และต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก โดยเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อดำเนินการโอนประกันเป็นชื่อเจ้าของคนใหม่มีดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของกรมธรรม์คนเก่า พร้อมเซ็นยินยอมโอนสิทธิ์ให้เจ้าของรถคนใหม่
- ใบซื้อขายรถยนต์ เพื่อแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกัน
2. ประกันรถยนต์แบบไม่ระบุผู้ขับขี่
ถ้าประกันที่ติดรถมาเป็นแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 หรือชั้นไหนก็ตาม จะได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องตามเดิม โดยเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์จะเหมือนเดิมทุกอย่าง ทั้งนี้หากผู้ซื้อรถต้องการเปลี่ยนชื่อในกรมธรรม์เป็นชื่อตัวเอง สามารถทำได้เช่นกัน โดยเอกสารที่ต้องเตรียมจะเหมือนกับการโอนประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ทุกอย่าง
ในกรณีที่คุณเป็นผู้ซื้อ และไม่อยากได้ประกันที่ติดรถมาด้วย เนื่องจากคุ้มครองไม่ตอบโจทย์ ค่าเบี้ยสูง หรือใด ๆ ก็ตาม แนะนำให้เปรียบเทียบประกันรถยนต์แต่ละเจ้าให้ดีก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นแผนความคุ้มครอง ค่าเบี้ย จำนวนอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการ ฯลฯ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจได้ตลอดการเดินทาง
สรุปทิ้งท้ายก่อนจากกันไปหน่อยดีกว่า ในกรณีที่ขายรถแล้วจะขายประกันรถยนต์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย แนะนำให้พูดคุยตกลงกันให้ดี พร้อมให้ความสำคัญในเรื่องของสัญญาซื้อขายรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาโอนรถ รวมถึงแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์ โอนลอย ที่ต้องถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาในภายหลัง
คำจำกัดความ
ฉ้อโกง | ชื่อความผิดทางอาญาฐานหลอกลวงผู้อื่นโดยทุจริตด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลว งหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ เรียกว่า ความผิดฐานฉ้อโกง |
อาชญากรรม | การกระทำผิด โดยทำให้เกิดความเดือดร้อน เสียหาย ต่อ ทรัพย์สิน หรือ บุคคล เป็นการเรียกการกระทำทางคดีอาญาแบบทั่วไป |
กรรมสิทธิ์ | ความเป็นเจ้าของทรัพย์ |