หนึ่งในปัญหาที่คนมีรถหลายคนต้องกุมขมับกันบ่อย ๆ คือ จอดรถอยู่ดี ๆ พอกลับมากลับพบว่ารถโดนเฉี่ยว มีรอยบุบ รอยขีดข่วนเต็มไปหมด เกิดอุบัติเหตุในลานจอดรถหรือที่จอดรถแบบนี้ สามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์ได้ไหม หรือมีอะไรที่ต้องรู้เพิ่มเติมอีกบ้าง ? ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปค้นหาคำตอบเพิ่มเติมในบทความนี้กันเลยดีกว่า
รถจอดอยู่แล้วโดยเฉี่ยว โดนชน แบบนี้ใครผิด ?
เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าถ้าหากรถโดนเฉี่ยวทั้ง ๆ ที่จอดนิ่งอยู่เฉย ๆ แบบนี้จะตัดสินยังไงว่าใครถูก ใครผิด ? หากคุณกำลังหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่ มิสเตอร์ คุ้มค่า ขออธิบายแยกเป็น 2 กรณี เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น ดังนี้
1. ฝ่ายถูกชน
หากอ้างอิงตามกฎหมายแล้ว “ฝ่ายถูกชนมักถูกตัดสินให้เป็นฝ่ายถูก” เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินจากความประมาทของผู้อื่น ไม่ว่าจะจอดในที่จอดรถ ลานจอดรถก็ตาม แต่ถ้าจอดในพื้นที่ห้ามจอดที่มีป้ายจราจรกำกับชัดเจน อาจมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และโดนตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน
ทั้งนี้ หากคุณ(ฝ่ายถูก) จอดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการถูกเฉี่ยวชน เช่น จอดกีดขวางเส้นทางจราจร, จอดในจุดอับสายตา ฯลฯ อาจถูกพิจารณาให้มีความผิดฐาน ‘ประมาทร่วม’ ได้ เพราะฉะนั้นก่อนก้าวเท้าลงจากรถ แนะนำให้สำรวจการจอดรถของตัวเองให้ดี ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่
ประมาทร่วมคืออะไร เคลมประกันรถยนต์ได้ไหม ?
หากเกิดอุบัติเหตุแล้วเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าเป็น “ประมาทร่วม” หลายคนคงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าคำคำนี้หมายความว่าอะไร สามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่ บอกก่อนว่าประมาทร่วม คือ เหตุการณ์หรืออุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของทั้ง 2 ฝ่าย โดยกฎหมายระบุว่า “ต่างฝ่ายต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”
หมายความว่าทั้งคู่มีส่วนผิดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายไม่มีคำว่าประมาทร่วม เนื่องจากคำว่า ‘ร่วม’ อาจสื่อถึงการกระทำโดยเจตนา จึงต้องแยกเป็นกรณีต่างคนต่างประมาท
และถ้าหากถามว่ากรณีประมาทร่วมสามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับประเภทประกันที่ทำ” หากทำประกันชั้น 1 เอาไว้ สามารถเคลมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายผิด หรือเป็นการเฉี่ยวชนแบบไม่มีคู่กรณี ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำประกันนอกจากจะเช็คราคาประกันรถยนต์อย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครองให้ครบด้วย เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง
2. ฝ่ายชน
ในทางกลับกันหากคุณถอยรถชนคันอื่น ฝ่ายคนชนจะถูกตัดสินให้เป็นฝ่ายผิดเสมอ เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จากความประมาทเลินเล่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถชน หรือถอยรถชนคันที่จอดอยู่แล้วในพื้นที่จอดรถ หรือพื้นที่ห้ามจอดจะไม่มีผลอะไรต่อการเปลี่ยนฝ่ายผิดเป็นถูก โดยฝ่ายชนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถคันที่จอดอยู่
รถโดนเฉี่ยว แจ้งเคลมประกันรถยนต์ได้ไหม ?
ในกรณีที่คุณมั่นใจว่าจอดรถในลาดจอดรถ หรือที่จอดรถดีแล้ว ไม่มีทางที่รถโดนเฉี่ยวได้แน่นอน แต่ทว่าดันซวยได้ซะนี่ แถมคู่กรณีก็หายหัว (โดนชนแล้วหนี) หากทำประกันชั้น 1 ไว้ หายห่วงได้เลย เพราะสามารถเคลมประกันรถยนต์ได้แม้ว่าจะไม่มีคู่กรณีก็ตาม แต่ถ้าเป็นรถที่ทำประกันชั้น 2+ และ 3+ เอาไว้ ต้องการเป็นการชนแบบมีคู่กรณี หรือมีหลักฐานระบุเลขทะเบียนรถของคู่กรณี จึงจะสามารถแจ้งเคลมประกันได้
รถจอดอยู่แล้วโดนชน รับมือยังไงดี ?
เมื่อพบสถานการณ์น่าปวดหัวมาจ่ออยู่ที่ประตูของคุณเข้าแล้ว อย่าเพิ่มหัวร้อน หัวเสีย หรือวิตกจนทำอะไรไม่ถูก เพราะ มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์วิธีรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้ามาให้แล้ว ดังนี้
1. ติดต่อบริษัทประกันรถยนต์
อันดับแรกให้ติดต่อบริษัทประกันเพื่อแจ้งเคลมประกันรถยนต์ ด้วยการแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รถโดนเฉี่ยวขณะจอดอยู่ที่จอดรถหรือลานจอดรถ, ลักษณะการเกิดเหตุ, ความเสียหายเบื้องต้น รวมถึงตำแหน่งที่เกิดเหตุ (โลเคชั่น) พร้อมแจ้งข้อมูลกรมธรรม์ประกันรถยนต์
ซึ่งอาจประกอบด้วยเลขกรมธรรม์, ชื่อผู้เอาประกัน, เลขทะเบียนรถและยี่ห้อรถคันเอาประกันทั้งฝั่งเรา และฝั่งคู่กรณี (ถ้ามี) หากเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ควรโทรแจ้งตำรวจด้วย
2. สำรวจความเสียหายเบื้องต้น
จากนั้นระหว่างรอเจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันเดินทางมาถึง ให้สำรวจความเสียหายเบื้องต้นโดยรอบ พร้อมรวบรวมหลักฐานรถโดนเฉี่ยวที่เกิดขึ้นด้วยการบันทึกภาพนิ่ง หรือภาพวิดีโอเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจ้งเคลมประกันรถยนต์ในขั้นตอนถัดไป
ทั้งนี้ หากรถได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงการตรวจสอบสภาพความเสียหายของตัวรถด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและความสูญเสียตามมาได้
3. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ประกัน
แจ้งข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ตัวแทนบริษัทประกันทราบอีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย และฝ่ายถูก/ฝ่ายผิด กรณีที่ต้องมีการเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ย เจ้าหน้าที่ตัวแทนประกันจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ในการไกล่เกลี่ย และรักษาผลประโยชน์แก่รถคันเอาประกัน โดยที่คุณไม่ต้องพูดคุยหรือเจรจากับคู่กรณี (ถ้ามี) ด้วยตัวเอง
4. รับใบเคลมประกันรถยนต์
เมื่อเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากบริษัทประกันสรุปเหตุการณ์ ความเสียหาย หรือไกล่เกลี่ยความรับผิดชอบกับคู่กรณีได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกใบแจ้งเคลมประกันรถยนต์ สำหรับใช้นำรถคันเอาประกันเข้ารับบริการ ณ ศูนย์ซ่อมหรืออู่บริการที่อยู่ในเครือต่อไป
จอดดีแล้วแต่รถโดนเฉี่ยว เรียกร้องอะไรได้บ้าง ?
เมื่อรู้ว่าประกันรถยนต์ชั้น 1 สามารถแจ้งเคลมในกรณีรถโดนเฉี่ยว ไม่มีคู่กรณีได้ หลายคนเลยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัทประกัน โดยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในความเป็นจริง ‘ฝ่ายถูก’ สามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง และ มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้ลิสต์มาให้เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
1. ค่าเสียหายต่อตัวรถ
เมื่อเกิดการเฉี่ยวหรือชน แน่นอนว่ารถยนต์ย่อมได้รับความเสียหายตามา เจ้าของรถ (ฝ่ายถูกชน) สามารถเรียกร้องค่าซ่อมรถได้จากกรมธรรม์ประกันภัยของคู่กรณี ในกรณีที่คู่กรณีได้ทำประกันเอาไว้ บริษัท (ฝ่ายคู่กรณี) จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
หรือถ้าคู่กรณีไม่มีประกันก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยซ่อมรถได้โดยตรงจากผู้กระทำผิด แต่อาจต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐานประกอบด้วย
2. ค่ารักษาพยาบาล
หากได้รับบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะจอดรถ สามารถแจ้งเบิกเคลมค่ารักษาพยาบาลได้จากประกันรถยนต์ภาคบังคับหรือ พ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาล รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท และค่าปลงศพโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด
3. ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน
ในกรณีที่ทรัพย์สินอื่น ๆ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์รถโดนเฉี่ยว ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออื่น ๆ ฝ่ายที่ถูกชนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ โดยเรียกร้องค่าชดเชยได้โดยตรงจากคู่กรณี หรือกรมธรรม์ประกันภัยจากคู่กรณีได้เลย
4. ค่ารถยก หรือรถลาก
ถ้าไม่ใช่แค่การเฉี่ยวชนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ค่อนข้างรุนแรงจนรถไม่สามารถเคลื่อนย้ายด้วยตัวเองได้ และต้องเรียกใช้บริการรถยากหรือรถลากเพื่อนำเข้าอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการ บริษัทของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
5. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
อีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่หลายคนมักมองข้าม เพราะส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ คือ ‘ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ’ โดยสามารถเรียกค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถ ในขณะที่รถเสียหรืออยู่ในระหว่างซ่อมได้ ซึ่งสามารถเรียกร้องได้โดยตรงจากบริษัทประกันของคู่กรณี
รวมถึงสามารถเรียกร้องอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ตามที่ คปภ.ประกาศไว้ แต่ถ้าหากรถคู่กรณีไม่มีประกัน แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ค่าชดเชยในส่วนนี้ เพราะคุณสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจากคู่กรณีได้โดยตรง (เรียกร้องด้วยตัวเอง)
ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใคร และที่ใด เพราะต่อให้คุณจอดรถในลานจอดรถหรือที่จอดรถที่แสนจะปลอดภัย ยังมีโอกาสพบเจอเหตุการณ์รถโดนเฉี่ยวได้อยู่เสมอ ดังนั้นการทำประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองตอบโจทย์ แจ้งเคลมได้ทุกกรณีถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ เลยสำหรับคนที่จะทำประกันรถยนต์
คำจำกัดความ
ประมาทเลินเล่อ | กระทำลงไปโดยขาดความระมัดระวัง หรือละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ |
เฉี่ยว | อาการที่กระทบ หรือเสียดสีไปโดยเร็วแต่ไม่รุนแรงมาก |
โลเคชั่น | ทำเล, สถานที่ |