เป็นฝ่ายถูกจากอุบัติเหตุรถชน เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ไหม ?

แชร์ต่อ
MrKumka.com ขั้นตอนและเอกสารเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถหลังเกิดอุบัติเหตุ

เชื่อว่ามีหลายคนมาก ๆ ที่ยังไม่รู้จัก ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ทำให้เสียผลประโยชน์ไปเยอะพอสมควร MrKumka จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักว่า ‘ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ’ คืออะไร ต้องทำเรื่องยังไง รวมถึง “ข้อมูล” อื่น ๆ ที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม ถ้าพร้อมแล้วก็ไปลุยกันเลยดีกว่า !

“ขับรถชน เป็นฝ่ายถูก” แต่ดันมองข้าม ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

“ค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ” คือ ‘เงินชดเชย’ ที่บริษัทประกันรถยนต์ของฝ่ายผิด ชดใช้ให้กับผู้เสียหาย เนื่องจากหลังเกิดเหตุรถชนแล้ว ไม่มีรถยนต์ไว้ใช้งานระหว่างรอซ่อม โดยเงินชดเชยในส่วนนี้ ผู้ที่เป็นฝ่ายถูกจะต้อง “เรียกร้องกับบริษัทประกันฝ่ายผิดด้วยตัวเอง” และฝ่ายผิด (คู่กรณี) จะต้องทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเอาไว้ด้วย ฝ่ายถูกถึงจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยในส่วนนี้ได้

ทำเรื่องเบิก “ค่าขาดประโยชน์” ยังไง ?

หลายคนเมื่อรู้ว่าต้องเรียกร้องเงินชดเชยในส่วนนี้เอง ก็ถอยหนีไปก่อนแล้ว เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงไม่ยากอย่างที่คิด โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้

  1. ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณี (ฝ่ายผิด) เพื่อยืนยันคำเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ในช่วงเวลาที่รถกำลังซ่อมอยู่
  2. เมื่อบริษัทของคู่กรณี “แจ้งเอกสาร” ที่ต้องการ ให้คุณดำเนินการนำเอกสารต่าง ๆ จัดส่งไปยังบริษัทของคู่กรณี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
  3. จากนั้นรอบริษัทคู่กรณีเช็กข้อมูล เพื่อพิจารณาว่าต้องชดเชยเป็นเงินเท่าไหร่ รวมถึงทำการประเมิน และเจรจาต่อรอง
  4. หลังจากตกลงกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถภายใน 7 วัน

“เอกสาร” ที่จำเป็นต้องใช้

สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ “เอกสาร” โดยเอกสารที่คุณจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมมีดังนี้

  • ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์
  • ใบรับรองความเสียหายต่อทรัพย์สิน (ใบเคลมประกัน)
  • สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
  • สำเนาทะเบียนรถยนต์
  • สำเนาใบขับขี่รถยนต์
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบรับรถ หรือใบส่งมอบรถ
  • รูปถ่ายตอนซ่อม และรูปถ่ายความเสียหาย
  • หนังสือเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกันหน้าแรก

“แบบฟอร์ม” ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

สำหรับแบบฟอร์มค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หรือ “หนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม” สำหรับยื่นบริษัทคู่กรณีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน บอกไว้ก่อนว่า “ไม่มีแบบฟอร์มตายตัว” และไม่จำเป็นจะต้องเป็นฟอร์มทางการ หมายความว่าคุณสามารถพิมพ์หรือเขียนใหม่ด้วยตัวเองได้เลย เพียงแต่จะต้องระบุ “ข้อความสำคัญ” ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมให้ครบถ้วน ชัดเจน ดังนี้

  1. รายละเอียดของจดหมาย และรายการเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  2. รายละเอียดรถที่เกิดอุบัติเหตุและรถคู่กรณี
  3. รายละเอียดการซ่อมรถ และวัตถุประสงค์ในการใช้รถ
  4. รายการเรียกร้องค่าสินไหมขาดประโยชน์จากการใช้รถ

“อัตราขั้นต่ำ” ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

ค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถเป็น ‘เงินชดเชย’ ที่บริษัทประกันของฝ่ายผิดชดใช้ให้กับผู้เสียหาย

อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนสงสัยว่า “เงิน” ที่จะได้รับจากการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จะได้เท่าไหร่ ซึ่งเราได้ทำการลิสต์ “อัตราขั้นต่ำ” ของรถแต่ละประเภทมาให้เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
  2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
  3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
  4. รถประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1-3 โดยเฉพาะ “รถจักรยานยนต์” ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป

บริษัทประกันคู่กรณี “ไม่ยอมจ่าย” ทำยังไงดี !?

กรณีที่เรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไปแล้ว บริษัทคู่กรณีไม่ยอมจ่าย เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ สามารถแจ้งเรื่องต่อ คปภ. เพื่อเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยได้เช่นกัน แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าอำนาจหน้าที่ของ คปภ. มีเพียงแค่สั่งให้บริษัทประกันภัยของคู่กรณีจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายได้

ในกรณีที่ คปภ. ไกล่เกลี่ยให้แล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย จำเป็นจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ หรือฟ้องร้องคดีผู้บริโภคต่อไปนั่นเอง

แจ้งเรียกร้องค่าขาดประโยชน์กับ คปภ. ได้ที่ไหน ?

สามารถแจ้งร้องเรียนเรื่องการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม ได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย” ผ่านทางเว็บไซต์ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ.” หรือยื่นเรื่องด้วยตัวเองที่ คปภ.สำนักงานใหญ่ และสำนักงาน คปภ.ภูมิภาคได้เช่นกัน

เป็นยังไงกันบ้าง ? สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ที่เรานำมาบอกต่อเมื่อข้างต้น เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนการ “เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน” ที่ให้ประโยชน์กับฝ่ายถูกมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะ ? ซึ่งนอกจากจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว คุณยังจำเป็นจะต้อง “เลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ที่ตอบโจทย์” เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด สามารถเลือกซื้อประกันที่ใช่ ความคุ้มครองที่ชอบได้แล้ววันนี้ ที่เว็บไซต์ MrKumka.com

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่