เจาะลึกประเภทรถยนต์มีอะไรบ้าง เลือกประกันยังไงให้ตอบโจทย์

แชร์ต่อ
เจาะลึกประเภทรถยนต์มีอะไรบ้าง เลือกประกันยังไงให้ตอบโจทย์ | มิสเตอร์ คุ้มค่า

ถ้าหากพูดถึงประเภทรถยนต์ (Segment Car) หลายคนคงนึกถึงรถ PPV, SUV, รถกระบะ, รถเก๋งอะไรทำนองนี้ แต่ประเภทของรถที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้ คือ Segment รถยนต์ในบ้านเรา ที่เป็นการการแบ่งประเภทรถยนต์ตามขนาดของรถยนต์ แต่ละแบบต่างกันยังไง ควรเลือกประเภทประกันรถยนต์ที่คุ้มครองตอบโจทย์ ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า กันเลย

ประเภทรถยนต์ (Segment Car) มีอะไรบ้าง ?

ประเภทรถยนต์ (Segment Car) มีอะไรบ้าง ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าประเภทรถยนต์ หรือ Segment Car เป็นการแบ่งประเภทรถตามขนาดของรถยนต์ ส่วนใหญ่จะใช้กับรถเก๋งและรถยนต์ทั่วไป โดย “ตัวอักษรภาษาอังกฤษ” จะแทนความหมายของรถยนต์แต่ละขนาด มีตั้งแต่ A-E ดังนี้

  • 1. A-Segment

    หมายถึง รถยนต์ที่มีขนาดถังเล็ก มีขนาดเครื่องยนต์อยู่ที่ 660 cc. ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1,000 cc. เป็นรถที่สามารถซอกแซกไปในพื้นที่แคบได้ดี ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายแบรนด์ หลากหลายรุ่น เช่น Nissan March, Suzuki Spacia หรือ Daihatsu Hijet เหมาะสำหรับคนที่ยังขับรถไม่แข็งมากเท่าไหร่ รวมถึงครอบครัวขนาดเล็ก ประมาณ 2-3 คน

  • 2. B-Segment

    สำหรับ B-Segment เป็นประเภทของรถที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่า A-Segment ขึ้นมาหน่อย มีเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,000 cc. - 1,500 cc. มาพร้อมกับราคาที่จับต้องได้ และสมรรถนะกำลังของเครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะกับทุกการเดินทาง

    โดยรถยนต์ประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    • รถยนต์ Eco Car ที่มีขนาดเครื่องยนต์ประมาณ 1,200 cc.
    • รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 1,200 cc. แต่ไม่เกิน 1,500 cc.
  • 3. C-Segment

    หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในชื่อว่า Compact Car เป็นประเภทรถยนต์ที่มีขนาดไม่เล็กหรือไม่ใหญ่มากจนเกินไป (คล้ายกับ B-Segment แต่มีขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่า) มีขนาดเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,500 cc. - 2,200 cc. และมีขนาดความยาวของตัวรถประมาณ 4.4-4.75 เมตร เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน

  • 4. D-Segment

    เป็นประเภทของรถที่มาพร้อมกับความหรูหรา ทั้งภายนอกและภายในห้องโดยสาร มีขนาดตัวรถยาวตั้งแต่ 4,500 มม. ขึ้นไป ให้ความรู้สึกทันสมัย และมีฟังก์ชันสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถือว่าตอบโจทย์ผู้คนในปัจจุบันได้ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะขับในเมืองหรือขับออกต่างจังหวัดล้วนตอบโจทย์ได้ดีในการใช้งาน ส่วนใหญ่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาท

  • 5. E-Segment

    เป็นประเภทรถยนต์ขนาดใหญ่ ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง ให้ความสะดวกสบาย มาพร้อมกับสมรรถนะและเครื่องยนต์ที่แรง ต่างประเทศคุ้นเคยกันดีในชื่อ “Full Size Car” แน่นอนว่าทั้งใหญ่และแรงแบบนี้ราคาย่อมสูงตามไปด้วยเป็นเรื่องธรรมดา

หลายคนให้คำนิยามรถยนต์ประเภทนี้ว่าเป็นรถระดับผู้บริหารอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะนั่งสบายแล้ว ยังให้ความพรีเมียม ตกแต่งหรู บางคันสบายขั้นสุดด้วยเบาะนั่งที่สามารถนวดได้ ข้อจำกัดของรถยนต์ประเภทนี้ คือ ค่าบำรุงรักษาที่ค่อนข้างสูง

แต่ละประเภทประกันรถยนต์ ให้ความคุ้มครองยังไงบ้าง ?

ประเภทรถยนต์มีผลต่อเรื่องประกันรถยนต์ในเงื่อนไขของขนาด รถขนาดใหญ่กว่าค่าเบี้ยประกันย่อมสูงกว่าหากเทียบตามลักษณะประเภทการคุ้มครองแบบเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในปัจจุบันมีประเภทประกันรถยนต์ 2 ประเภท คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยภาคบังคับมีจุดประสงค์ในการคุ้มครองความเสียหายให้กับ “ผู้ประสบภัย” ที่กฎหมายกำหนดให้คนมีรถทุกคนต้องทำ

ในขณะที่ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ จะเป็นการซื้อ “ความคุ้มครองเพิ่มเติม” ซื้อก็ได้ ไม่ซื้อก็ไม่ผิดกฎหมายหากจะใช้รถบนท้องถนน ข้อดีคือช่วยแบกรับความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นตามมา หลัก ๆ มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

  • ประกันภาคสมัครใจ ประเภท 1

    เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 เป็นประกันรถที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมสูงสุด โดยมีความคุ้มครองครบทั้งหมด 3 หมวดหลัก ดังนี้

    • หมวดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก : คุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างหาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก กรณีรถของผู้เอาประกันเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย
    • หมวดความเสียหายต่อตัวรถยนต์ : คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ สูญหาย และไฟไหม้
    • หมวดความคุ้มครองเพิ่ม เพื่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร : คุ้มครองชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้โดยสารในรถยนต์ รวมถึงการประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญา
  • ประกันภาคสมัครใจ ประเภท 2

    สำหรับประเภทประกันรถยนต์ ประเภท 2 จะให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับประเภท 1 แต่แตกต่างกันตรงที่ไม่มีการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ของผู้เอาประกัน โดยแบ่งความคุ้มครองดังนี้

    • หมวดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก : คุ้มครองเหมือนกับประเภท 1 คือ คุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก กรณีรถของผู้เอาประกันเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย (รถชน เราเป็นฝ่ายผิด)
    • หมวดความสูญหาย ไฟไหม้ : เหมือนกับประเภท 1 เช่นกัน โดยคุ้มครองความเสียหายจากการสูญหาย ไฟไหม้ แต่จะไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวรถผู้เอาประกันจากอุบัติเหตุการชน หรือภัยธรรมชาติเหมือนในหมวดที่ 2 ของประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1
    • หมวดความคุ้มครองเพิ่มเพื่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร : คุ้มครองชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้โดยสารในรถยนต์ รวมถึงการประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญา
  • ประกันภาคสมัครใจ ประเภท 3

    ถือเป็นประเภทประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครอง ‘น้อยที่สุด’ เมื่อเทียบกับประเภท 1 และประเภท 2 โดยจะให้ความคุ้มครองเพียงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ถ้ารถของผู้เอาประกันเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ภาคสมัครใจ

    • คุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก
    • คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
  • ประกันภาคสมัครใจ ประเภท 4

    ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

  • ประกันภาคสมัครใจ ประเภท 5

    เป็นประเภทประกันรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย เป็นประกันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

    • ประกันรถยนต์ชั้น 2 พลัส

      ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมจากประกันรถยนต์ชั้น 2 ปกติ โดยเพิ่มความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถจากอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม แต่จะคุ้มครองกรณีที่รถชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น รวมถึงต้องมีคู่กรณีอยู่ด้วย ดังนี้

      • ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกและผู้โดยสารในรถ
      • คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
      • คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกัน กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
      • คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกัน
    • ประกันรถยนต์ชั้น 3 พลัส

      เป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมจากประกันรถยนต์ชั้น 3 ปกติ มีการคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถ โดยจะคุ้มครองกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณีเช่นกัน มีรายละเอียดการให้ความคุ้มครองดังนี้

      • คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกและผู้โดยสารในรถ
      • คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
      • คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกัน กรณีชนกับยานพาหนะทางบก

เงื่อนไขความคุ้มครอง ‘ประกันตัวผู้ขับขี่’

จะเห็นได้ว่าแต่ละประเภทประกันรถยนต์ ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1 และประกันรถยนต์ ชั้น 2 ล้วนให้ความคุ้มครองประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญาแทรกอยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์ให้เห็น โดยเงื่อนไขความคุ้มครองดังกล่าว มีระบุไว้ในเอกสารแนบกับความคุ้มครองเพิ่มเติม คือ

“บริษัทประกันตัวผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย ในกรณีรถยนต์ที่ระบุไว้ในตารางเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถูกควบคุมตัว การประกันตัวบุคคลดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการโดยไม่ชักช้า ตามจำนวนเงินที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล กำหนดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด”

ความคุ้มครองการประกันภัยผู้ขับขี่คดีอาญา (รย.03) ตามหลักการแล้ว จะให้ความคุ้มครองตัวผู้ขับขี่ให้มีอิสรภาพจากการถูกควบคุมตัวในคดีอาญาของพนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล “ชั่วระยะเวลาหนึ่ง” ระหว่างการต่อสู้คดีความ อันสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดขึ้น

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ มีกี่แบบ อะไรบ้าง ?

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักประเภทรถยนต์ และทำความเข้าใจประเภทประกันรถยนต์มาแล้ว เรามาดูในส่วนของ ‘กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์’ กันบ้างดีกว่า ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่และแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กรมธรรม์แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ (UN-Named Driver)

เป็นกรมธรรม์แบบเดิมที่ให้ความคุ้มครองผู้ขับขี่คนใดก็ได้ที่เป็นผู้ใช้รถคันนั้น ๆ ผู้เอาประกันภัยยินยอมให้ขับขี่เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันเช่นตน

กรมธรรม์แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ (Named Driver)

เป็นกรมธรรม์รูปแบบใหม่ที่นำเอา ‘อายุ’ ของผู้ขับขี่มาเป็นองค์ประกอบในการกำหนดเบี้ยประกันภัย โดยไม่ได้เกิดจากการบังคับทางกฎหมายแต่อย่างใด และการประกันประเภทนี้ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในตลาดประกันภัยในปัจจุบันถือเป็น “การประกันภัยภาคสมัครใจ”

ทริคเลือกซื้อประกันรถยนต์ให้คุ้มค่า ที่คนมีรถควรรู้ก่อน ?

ด้วยความที่ในปัจจุบันมีประเภทประกันรถยนต์ภาคสมัครใจให้เลือกหลากหลาย อาจทำให้หลายคนสับสน และไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วควรเลือกซื้อแบบไหนให้ตอบโจทย์ เหมาะสมกับประเภทรถยนต์ของตัวเอง มิสเตอร์ คุ้มค่า แนะนำทริคในการเลือกซื้อมาให้แล้ว ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันได้เลย

  • 1. เช็คเบี้ยประกันรถยนต์แต่ละเจ้า

    ก่อนตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ราคาสูงที่สุด คุ้มครองครอบคลุมทุกภัย หรือประกันรถยนต์ชั้น 3 ราคาย่อมเยา แต่ความคุ้มครองลดหลั่นลงมา ควรเปรียบเทียบราคาจากหลาย ๆ บริษัทให้ดีก่อน เพราะแต่ละบริษัทมักมีข้อเสนอ ส่วนลด หรือโปรโมชั่นแตกต่างกัน

  • 2. เลือกประเภทประกันรถยนต์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์

    หลังจากเช็คเบี้ยประกันเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อมาคือการเลือกประเภทประกันรถยนต์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การขับขี่ และความเสี่ยงของตัวเอง

    • ประกันรถยนต์ชั้น 1 : เหมาะกับรถยนต์ป้ายแดง และผู้ขับขี่ที่ยังขับไม่คล่อง หรือไม่คุ้นเส้นทาง
    • ประกันรถยนต์ชั้น 2 พลัส : เหมาะกับคนที่เสี่ยงชนน้อย ชำนาญ ชินเส้นทาง และมีประสบการณ์สูง
    • ประกันรถยนต์ชั้น 2 : ราคาย่อมเยา เหมาะกับคนที่ขับรถระยะใกล้ ไม่ค่อยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
    • ประกันรถยนต์ชั้น 3 พลัส : ค่าเบี้ยไม่แพง เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์ในการขับขี่
    • ประกันรถยนต์ชั้น 3 : เหมาะสำหรับรถที่ไม่ค่อยได้ขับ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุน้อย เนื่องจากให้ความคุ้มครองเท่าที่จำเป็นในราคาประหยัดที่สุด
  • 3. เทียบความคุ้มครองอย่างถี่ถ้วน

    อีกหนึ่งสิ่งที่ควรดูและเทียบอย่างละเอียด คือ ทุนประกันและความคุ้มครองกรณีเกิดเหตุ รวมถึงความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่าซ่อม เช่น ค่ารักษาพยาบาล การประกันตัวผู้ขับขี่ การคุ้มครองไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะกับความเสี่ยงของเรามากที่สุด

  • 4. มองหาเจ้าที่กำหนดค่าเสียหายส่วนแรกได้

    ทำความเข้าใจก่อนว่าค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) คือ ส่วนที่คุณต้องร่วมจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ยิ่งค่าเสียหายส่วนแรกน้อย เบี้ยประกันจะสูง ในทางกลับกันหากยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกสูงขึ้น ค่าเบี้ยประกันจะถูกลง ดังนั้นจึงควรเลือกบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่สามารถกำหนดตัวเลขส่วนนี้ได้เอง เพราะจะช่วยให้ประหยัดค่าเบี้ยได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีประเภทรถยนต์ให้เลือกจับจองเป็นเจ้าของมากมาย รวมถึงประเภทประกันรถยนต์ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะเลือกซื้อรถหรือประกัน สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ สำรวจไลฟ์สไตล์การขับขี่ของตัวเอง ว่าเหมาะกับประเภทของรถแบบไหน ประกันชั้นใด เพื่อให้คุณได้รับประโยชน์อย่างถึงที่สุด และไม่ต้องมานั่งเสียดายในภายหลังนั่นเอง

คำจำกัดความ
​​ซอกแซก ​ดั้นด้นไปทุกแห่งหนทั้งที่ไม่น่าไป
​องค์ประกอบ ​สิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใหญ่, ส่วนประกอบ
​เสมือนหนึ่ง ​ราวกับว่า, เหมือนกับว่า (คำเชื่อมแสดงการเปรียบเทียบข้อความข้างหน้ากับข้อความข้างหลังว่ามีลักษณะเท่าเทียมกัน)​

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่