หากวันหนึ่งชุดความคิดที่ว่า “จอดตรงนี้ไม่เป็นอะไรหรอก” ทำให้รถของคุณโดนชนท้าย หรือเฉี่ยวชนด้านข้างตัวรถจนได้รับความเสียหาย ประมาณว่าจอดรถในที่ห้ามจอดแล้วโดนชน คงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าใครเป็นฝ่ายผิด และสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับการจอดในพื้นที่ห้ามจอดรถมาใก้แล้ว ตามไปทำความเข้าใจกันเลย
จอดรถในที่ห้ามจอดแล้วรถโดนชน เรียกร้องอะไรได้ไหม ?
ในกรณีที่คุณจอดรถในบริเวณห้ามจอดรถทุกชนิด แล้วรถโดนชน ส่วนใหญ่มักจะเจอคำพูดสวนกลับมาว่า “ก็จอดในพื้นที่ห้ามจอดเอง ผิดกฎจราจร ไม่จำเป็นต้องชดใช้หรือรับผิดชอบอะไร” และมีหลายคนที่เชื่อแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณสามารถเถียงกลับได้เลยทันที เพราะถึงแม้ว่าคุณจะจอดผิดที่ผิดทาง ก็ไม่ได้หมายความว่ารถคันอื่นจะมีสิทธิ์มาชนท้ายสักหน่อย
รถที่ขับมาชนจะถือว่าเป็น “ฝ่ายผิด” ทุกกรณี เนื่องจากขับรถด้วยความประมาท หากต้องการในกรณีที่รถของคุณจอดในพื้นที่ห้ามจอด ให้เขาไปเรียกร้องกับจราจรเอง แต่ทั้งนี้ต้องดูการจอดรถของคุณด้วย ว่าจอดอยู่ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการโดนเฉี่ยวชนหรือไม่ หากเป็นแบบนี้จะถือว่า ‘ประมาทร่วม’ ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอีกที
รู้หน่อย จอดรถในพื้นที่ห้ามจอดจุดไหนผิดกฎหมาย ?
อ้างอิงจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่าด้วยเรื่องการจอดรถในที่ห้ามจอด มีจุดที่ควรระวังดังนี้
- จอดรถบนสะพานหรือในอุโมงค์
- จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายห้ามจอดรถบริเวณนี้
- จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
- จอดรถบนทางเท้า
- จอดรถในทางร่วมแยก
- จอดรถซ้อนคันกับรถคันอื่น
- จอดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
- จอดรถในระยะ 10 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร
- จอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
- จอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง
- จอดรถใกล้ตู้ไปรษณีย์ในระยะ 3 เมตร
- จอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง
- จอดรถในที่คับขัน (การจราจรพลุกพล่าน หรือมีสิ่งกีดขวาง)
- จอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อหัวน้ำดับเพลิง
หากฝ่าฝืนจอดรถบริเวณพื้นที่ห้ามจอดรถขวางทางเข้า ออก หรือจุดที่มีป้ายห้ามจอดรถทุกชนิด รวมถึงบริเวณที่เราบอกไปเมื่อสักครู่ จะถือว่ากระทำผิดตามมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ห้ามผู้ใช้รถจอดในพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือกีดขวางการจราจร จนเป็นปัญหาในการสัญจรให้กับผู้อื่น
ทำผิดกฎจราจร จอดในพื้นที่ห้ามจอดแล้วโดนชน เคลมประกันได้ไหม ?
ต้องบอกก่อนว่ากรณีจอดรถบริเวณห้ามจอดรถขวางทางเข้า ออก แล้วโดนชน ไม่ว่าจะมีคู่กรณี หรือโดนชนแล้วหนีก็ตาม ประกันยังคงให้ความคุ้มครองตามเดิม เพราะตามข้อกฎหมายแล้ว “คู่กรณีที่ขับมาชนจะเป็นฝ่ายผิด” ซึ่งทางบริษัทฯ จะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีให้เอง
ในกรณีที่รถโดนชนท้าย คู่กรณีไม่มีประกัน หรือโดนชนแล้วหนี ประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ยังคงให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ที่ทำไว้ แต่ถ้าหากเป็นประกันชั้นอื่น อาจต้องตามเรื่องกันให้วุ่นวาย ด้วยการขอภาพจากกล้องวงจรปิด และพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อตามตัวคู่กรณีมาชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
หากคู่กรณีไม่รับผิดชอบ เรื่องจะจบแบบไหน ?
หลังจากให้เจ้าหน้าที่สำรวจภัยเจรจากับคู่กรณี แล้วผลปรากฏว่าทางนั้น (ฝ่ายผิด) ไม่รับผิดชอบ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมหรือค่าเสียหายต่าง ๆ ไม่ต้องกังวล เพราะบริษัทประกันจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป โดยคู่กรณีจะสามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวนหรือไม่ บริษัทประกันมีทางเลือกให้ผ่อนชำระเป็นงวด หรือแบบอื่น ๆ ก็ให้เป็นหน้าที่ของบริษัทฯ ดำเนินการ
ส่วนรถยนต์ของคุณที่มีประกันอยู่แล้ว จะได้รับใบเคลม สามารถนัดวันเอารถเข้าไปอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการในเครือได้ทันที ไม่ต้องมาวุ่นวาย หรือปวดหัวกับประเด็นนี้เลยสักนิด
ซึ่งถ้าหากคุณเลือกซื้อประกันที่ให้ความคุ้มครองตอบโจทย์ ขอยืนยันเลยว่าคุณจะไม่ต้องมาปวดหัวเรื่องใด ๆ เลยสักนิด เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจทำประกันทุก ๆ ครั้ง นอกจากจะเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครองให้ดีก่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวคุณเอง
รถโดนชนท้าย คู่กรณีไม่มีประกัน เคลมประกันยังไง ?
แม้ว่าจอดรถในที่ห้ามจอดแล้วโดนชน จะสามารถเคลมประกันจากบริษัทประกันได้ แต่ก็มีปัญหาน่าปวดหัวไม่รู้จบ โดยเฉพาะกรณีรถโดนชนท้าย คู่กรณีไม่มีประกัน แบบนี้จะเคลมได้ไหม เคลมยังไง ? หากคุณต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้ แนะนำให้ตั้งสติให้ดี พร้อมกับโทรเรียกเจ้าหน้าที่ประกันให้มาตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยด่วน
จากนั้นรอให้เจ้าหน้าที่สำรวจภัยมาถึง พร้อมเล่ารายละเอียดทั้งหมดให้เขาพิจารณา เพื่อทำเรื่องพิจารณาเคลมประกันตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเป็นคนเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายกับฝ่ายผิด โดยที่คุณไม่ต้องเป็นฝ่ายเจรจาเรียกค่าเสียหายด้วยตัวเอง
หลังจากที่ตกลงกันได้แล้ว บริษัทประกันจะให้ฝ่ายผิดลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนให้อู่ประกันหรือศูนย์ซ่อมตีราคาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วจึงส่งบิลค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปให้รถฝ่ายผิดทราบ ส่วนค่าเสียหายจะมากหรือน้อย ให้ถือเป็นภาระที่ฝ่ายผิดต้องชดใช้กับทางบริษัทประกัน
จอดรถแบบไหน ถึงเรียกว่าถูกกฎหมาย ?
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจประเด็นการจอดรถในจุดห้ามจอดรถ และกรณีรถโดนชนเมื่อจอดรถในที่ห้ามจอดไปแล้ว เรามาดูการจอดรถที่ถูกต้องตามกฎหมายกันบ้างดีกว่า เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว แถมยังเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้อย่างอยู่หมัด
1. การจอดรถริมฟุตบาท
สำหรับการจอดรถในช่องเดินรถหรือริมฟุตบาท ที่มีให้เห็นเกลื่อนกลาดในปัจจุบัน จะต้องจอดชิดเลยซ้ายสุดให้ขนานกับขอบทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร และต้องเป็นขอบทางที่ทาสีขาว-ดำเท่านั้น หากเป็นสีขาว-เหลือง จะจอดได้ในกรณีรับส่ง และขาว-แดงคือห้ามจอดรถ
ในกรณีที่รถเสียขึ้นมากะทันหัน กฎหมายอนุโลมให้สามารถจอดข้างทาง และเปิดไฟผ่าหมาก (ไฟฉุกเฉิน) เพื่อส่งสัญญาณเตือนผู้สัญจรรายอื่นได้
2. การจอดรถในช่องจอดรถ
ช่องจอดรถที่ถูกตีเส้นขึ้นมาสำหรับจอดรถโดยเฉพาะ คือ การจอดที่ถูกต้องตามกฎหมายในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, ห้างสรรพสินค้า, ลานจอดรถของบริษัท, โรงพยาบาล หรืออาคารต่าง ๆ เนื่องจากเป็นช่องที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ว่าไม่รบกวนการเดินรถในพื้นที่นั้น ๆ
3. การจอดซ้อนคัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจอดรถซ้อนคันมีให้เห็นเต็มไปหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ถือเป็นพื้นที่ห้ามจอดรถ หรือพื้นที่ห้ามจอดรถขวางทางเข้า ออก สามารถจอดได้โดยไม่ผิดกฎหมายมาตราไหน แต่ควรเข้าเกียร์ N หรือเกียร์ว่างไว้เสมอ และไม่ดึงเบรกมือขึ้นเด็ดขาด เพื่อให้รถคันที่จอดในช่องสามารถเข็นรถของคุณให้เปิดทางในการขับออกจากช่องได้
4. การจอดรถบนทางลาดชัน
หากคุณเดินทางไปท่องเที่ยว หรือนำรถไปจอดที่อาคารสำนักงานต่าง ๆ แล้วบริเวณที่จะจอดเป็นทางลาดชัน ก็สามารถจอดได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่จะต้องจอดอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คือ จอดให้ชิดขอบทาง หักล้อไปทางด้านข้าง และดึงเบรกมือทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนที่จนก่อให้เกิดอันตรายตามมา
ในความเป็นจริงแล้วเพื่อความปลอดภัยต่อรถยนต์ของคุณ ควรเลี่ยงการจอดรถในที่ห้ามจอดจะดีที่สุด เพื่อป้องกันเหตุการณ์โดนชนแล้วหนี รถโดนเฉี่ยว มีคู่กรณี ที่อาจทำให้รถคันโปรดของคุณได้รับความเสียหายตามมา แม้ว่าประกันภัยรถยนต์จะให้ความคุ้มครองเมื่อรถโดนชน เมื่อจอดรถบริเวณห้ามจอดรถทุกชนิด แต่ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ดี เพราะฉะนั้นเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงดีกว่า
คำจำกัดความ
ทางเท้า | ทางเล็ก ๆ ข้างถนนที่มักยกพื้นสูงขึ้นกว่าถนนเพื่อให้คนเดินสัญจร |
ทางร่วมแยก | เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อหรือตัดกันระหว่างทางหลักและทางย่อย |
สัญจร | ช่องทาง, ถนน, การผ่านไปมา |