ขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็ยากเกินควบคุม และหนึ่งในอุบัติเหตุรถชนที่ไม่คาดคิดจะเกิดอย่าง “รถชนกันเองภายในบ้าน แล้วบังเอิญว่ารถทั้งสองคันเป็นชื่อเดียวกัน” งานนี้ทำเอาเจ้าของรถกุมขมับกันเลยทีเดียว เพราะไม่รู้ว่าจะเคลมประกันได้ไหม ? หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นเจ้าของทะเบียนรถหลายคัน และกำลังหาข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ MrKumka ลิสต์ข้อมูลต่าง ๆ มาให้เรียบร้อยแล้ว ตามไปดูกันเลย!
รถพ่อชนรถลูก บริษัทประกันภัยตรวจสอบอะไรบ้าง ?
ส่วนใหญ่อุบัติเหตุรถชนกันเอง เช่น รถพ่อชนกับรถลูก ส่วนใหญ่มักไม่ใช่อุบัติเหตุร้ายแรง และถึงแม้ว่าจะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหนัก แต่แน่นอนว่าทรัพย์สิน (รถยนต์) ย่อมเกิดความเสียหายอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ทางบริษัทประกันรถยนต์จะดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้
- อุบัติเหตุรถชนกันเองภายในครอบครัว เจ้าของรถเป็นชื่อเดียวกันหรือไม่ ?
- ชื่อผู้เอาประกันของทั้ง 2 กัน เป็นคนละชื่อหรือชื่อเดียวกัน ?
- ประเภทของประกันรถยนต์ที่ซื้อไว้ เป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 หรือชั้นไหน ?
สาเหตุที่ทางบริษัทประกันรถยนต์ต้องตรวจสอบทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น เป็นเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ผู้เอาประกันที่เป็นเจ้าของทะเบียนรถทั้ง 2 คัน “สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง” เพื่อใช้สิทธิ์ในการเคลมประกันนั่นเอง
เคลียร์ชัด ๆ รถชนกันเองในครอบครัว เคลมประกันได้ไหม ?
หลังจากบริษัทประกันรถยนต์ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ไม่ว่าจะด้วยหลักฐานจากกล้องติดรถยนต์ หรือใด ๆ ก็ตาม ที่พิสูจน์ได้อุบัติเหตุรถชนกันเองในครอบครัวเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การสร้างสถานการณ์เพื่อใช้สิทธิ์เคลมประกัน แบบนี้จะแยก “ความคุ้มครอง” ตามแต่ละกรณี ดังนี้
1. กรณีเป็นเจ้าของป้ายทะเบียนรถเป็นชื่อเดียวกัน
หากเกิดอุบัติเหตุรถชนกันเองภายในบ้าน แล้วปรากฏว่าทะเบียนรถเป็นชื่อเจ้าของคนเดียวกัน บริษัทประกันรถยนต์จะ “ไม่คุ้มครองรถของคู่กรณี” เนื่องจากไม่ถือเป็นบุคคลภายนอกตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ โดยสิทธิ์ความคุ้มครองที่ยังคงสามารถใช้ได้มีดังนี้
- ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะคุ้มครองแค่รถของผู้เอาประกันเท่านั้น
- ประกันรถยนต์ชั้น 2+ และ 3+ ผู้เอาประกันต้องจ่ายค่าเสียหายเอง
2. กรณีเป็นพ่อลูกกัน
อุบัติเหตุรถพ่อชนรถลูก เช่น ถอยชนกัน เฉี่ยวชนระหว่างเข้าโรงจอดรถ ฯลฯ แล้วรถยนต์ทั้ง 2 คัน ไม่ใช่เจ้าของทะเบียนรถคนเดียวกัน (คันหนึ่งของพ่อ คันหนึ่งของลูก) บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เคลมค่าเสียหายให้กับคู่กรณี แต่จะเคลมเฉพาะค่าเสียต่อที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์เท่านั้น
เนื่องจากความคุ้มครอง ระบุเอาไว้ว่า “จะไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่เสียหายของพ่อ แม่ ลูกหรือคู่สมรส” ซึ่งในกรณีนี้จะคุ้มครองเหมือนกับกรณีที่เป็นเจ้าของป้ายทะเบียนรถคนเดียวทั้ง 2 คันนั่นเอง
3. กรณีเป็นพี่น้องกัน
แม้จะเป็นอุบัติเหตุรถชนกันเองในครอบครัว (รั้วเดียวกัน) ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่รถยนต์ได้รับความเสียหาย ในกรณีที่เป็นพี่น้องกันสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันรถยนต์ได้ตามปกติ เนื่องจากได้รับข้อยกเว้นจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ ที่ระบุไว้ว่า “จะไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่เสียหายของพ่อ แม่ ลูกหรือคู่สมรส”
ซึ่งในส่วนของค่าเสียหายที่สามารถเคลมได้จะต้องเป็น “ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง” รวมถึงการคุ้มครองความบาดเจ็บจากสิทธิ์ใน พ.ร.บ. รถยนต์ (ประกันรถยนต์ภาคบังคับ) ด้วย
ขั้นตอนการแจ้งเคลมประกัน กรณีรถชนกันเองในครอบครัวมีอะไรบ้าง ?
ขอย้ำอีกครั้งว่าอุบัติเหตุรถชนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม้จะเป็นการชนกันเองในครอบครัวหรือในเครือญาติ เป็นเจ้าของทะเบียนรถคนเดียว หรือใด ๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องดำเนินการแจ้งเคลมประกันตามขั้นตอนให้ถูกต้อง โดยมีขั้นตอนการแจ้งเคลมประกันดังนี้
- แจ้งกับบริษัทประกันรถยนต์ทันทีที่เกิดเหตุรถชน ด้วยการแจ้งรายละเอียดของอุบัติเหตุให้ครบถ้วน ชัดเจน และตรงตามความเป็นจริง
- เดินทางไปสถานีตำรวจในพื้นที่ แจ้งเหตุการณ์สำหรับออกใบบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นเรื่องเคลมประกัน
- นำส่งเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชน เช่น รูปภาพตอนเกิดเหตุ วิดีโอบันทึกจากกล้องหน้ารถ หรืออื่น ๆ (ถ้ามี) ให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันรถยนต์ เพื่อประกอบลงบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ทางบริษัทประกันรถยนต์จะออก “ใบเคลมประกัน” ให้ จากนั้นสามารถนำรถจัดซ่อมได้ทันที โดยผู้ขับขี่จะต้องนำรถเข้าซ่อมที่ “ศูนย์บริการในเครือ” ของบริษัทประกันรถยนต์
ประกันรถยนต์ชั้น 1 ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง ?
หนึ่งในประเด็นที่หลายคนสงสัยเป็นอันดับต้น ๆ คือ ประกันรถยนต์ชั้น 1 ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง ตอบโจทย์ และครอบคลุมมากแค่ไหน เนื่องจากเมื่อเช็คราคาเบี้ยประกันรถยนต์แล้วพบว่าราคาประกันชั้น1 สูงกว่าประกันรถยนต์ชั้นอื่น ๆ พอสมควร ซึ่งความ คุ้มครอง ประกัน ชั้น 1 แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
คุ้มครองตัวรถยนต์คันที่เอาประกัน
ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะคุ้มครองตัวรถและอุปกรณ์ตกแต่งที่ “ออกจากศูนย์บริการหรือศูนย์จำหน่ายรถ” หากเกิดอุบัติเหตุรถชนแบบมีคู่กรณี ชนทรัพย์สินคู่กรณีเสียหาย ทางบริษัทประกันรถยนต์จะให้ความคุ้มครองทั้งหมด
นอกจากนี้ยังรวมถึงกรณีรถคันที่เอาประกันสูญหายจากการถูกโจรกรรม น้ำท่วมขัง หรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ แม้จะไม่มีคู่กรณีก็ตาม ก็จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด
คุ้มครองคนในรถ รวมถึงผู้โดยสาร
ความคุ้มครองประกันชั้น 1 จะดูแลผู้ขับขี่และผู้โดยสารทั้งในเรื่องค่ารักษาอาการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือรถชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดก็ตาม
คุ้มครองคู่กรณี (หากมี)
กรณีที่รถชนหรือเกิดอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี หรือชนกับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีเจ้าของ บริษัทประกันรถยนต์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ไปจนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคู่กรณี หรือแม้กระทั่งชนรั้ว หรือรถที่จอดข้างทาง ก็สามารถแจ้งเคลมประกันได้ทั้งหมด
สำหรับคำถามที่ว่าประกันชั้น 1 คุ้มครองคู่กรณีเท่าไหร่ ? ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ “ทุนประกัน” ที่คุณเลือก แนะนำให้เปรียบเทียบความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจทำประกัน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวผู้เอาประกันเอง
ประเภททรัพย์สินบุคคลภายนอก ที่บริษัทประกันรถยนต์ไม่คุ้มครอง มีอะไรบ้าง ?
หลังจากอธิบายไปคร่าว ๆ แล้วว่าอุบัติเหตุรถชนกันเองในครอบครัว ทั้งทะเบียนรถทั้ง 2 คันเป็นชื่อเดียวกันหรือคนละชื่อก็ตาม ล้วนมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป และประโยคที่ว่า “ไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่เสียหายของพ่อ แม่ ลูกหรือคู่สมรส” คงทำเอาหลาย ๆ คนงงไปตาม ๆ กัน เพราะมั่นใจว่าประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ซื้อไปย่อมให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น
แต่ต้องบอกก่อนว่าบริษัทประกันรถยนต์มี “เงื่อนไขความคุ้มครอง” ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และในกรณีที่ชนกันเอง รถพ่อชนรถลูก, รถพ่อ ชนรถแม่ หรือรถลูก ชนรถแม่ ฯลฯ ถือว่าเข้าข่าย “ทรัพย์สินบุคคลภายนอกที่บริษัทประกันรถยนต์ไม่รับเคลม” เป็นเพราะอะไร และมีทรัพย์สินบุคคลภายนอกอะไรอีกบ้างที่เคลมประกันไม่ได้ ไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันเลย
1. ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกัน ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุมหรือครอบครอง
ต้องขยายความคำว่า “ผู้เอาประกันภัย” และ “ผู้ขับขี่” ให้เข้าใจตรงกันก่อน ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ในความหมายของบริษัทประกันรถยนต์ อธิบายได้ว่า…
- ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคลที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์เท่านั้น
- ผู้ขับขี่ หมายถึง เฉพาะผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้รวมผู้ขับขี่อื่น เช่น ผู้ขับขี่ที่ถูกระบุชื่อในกรมธรรม์
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามบริบทที่อธิบายไปเมื่อข้างต้น ขับรถยนต์ไปเฉี่ยวชนทรัพย์สินของผู้ขับขี่ที่ถูกระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ดี หรือประกันรถยนต์ชั้นอื่น ๆ ก็ตาม ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้น บริษัทประกันรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่สามารถนำเงื่อนไขใด ๆ มาปฏิเสธความคุ้มครองได้
หมายความว่า “ทรัพย์สินที่ถูกยกเว้น” ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่สามารถเคลมประกันได้ นอกจากทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ หรือเป็นของคู่สมรส บิดา มารดา บุตรของบุคคลทั้งสองแล้ว ยังเหมารวมถึง “ทรัพย์สินที่บุคคลนั้นเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม และครอบครอง” ด้วย เช่น ทรัพย์สินของญาติที่มาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป
2. เครื่องชั่ง สะพานรถ สะพานรถไฟ ถนน ทางวิ่ง ทางเดิน สนามหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่ใต้สิ่งดังกล่าว
ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการสั่นสะเทือน หรือจากน้ำหนักรถยนต์ หรือน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์ จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันรถยนต์ด้วยเช่นกัน
3. สัมภาระหรือทรัพย์สินอื่นใดที่นำติดตัวขึ้นรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์ กำลังยกขึ้น-ยกลงจากรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่รถยนต์กำลังยกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
เว้นแต่ว่าทรัพย์สินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ข้างต้น “หล่นใส่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจนได้รับความเสียหาย หรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนเสียชีวิต” ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังคงได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันรถยนต์ตามเดิม
4. ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการรั่วไหลของสารเคมี วัตถุอันตราย ที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์
เว้นแต่ว่าการรั่วไหลของสารเคมีหรือวัตถุอันตรายดังกล่าวเกิดจาก “อุบัติเหตุจากรถยนต์” เช่น รถชน รถเฉี่ยว ฯลฯ รวมถึงการรั่วไหลของแก๊สหรือเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเครื่องของรถยนต์ แบบนี้ยังคงได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันรถยนต์เช่นเดียวกัน
ขอย้ำอีกครั้งว่าอุบัติเหตุรถชนกันเองในครอบครัว ไม่ว่าจะรถพ่อชนรถลูก หรือชนกับญาติพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของทะเบียนรถเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อย ดังนั้นการขับขี่ด้วยความปลอดภัย ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และอย่ามั่นใจว่าจ่ายราคาประกันชั้น1 แล้วจะได้รับความคุ้มครองแบบจัดเต็ม เนื่องจากแต่ละกรมธรรม์มี “เงื่อนไขความคุ้มครอง” ต่างกัน แนะนำให้ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเสมอ
คำจำกัดความ
ทุพพลภาพ | หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติเพราะร่างกายไม่สมบูรณ์ |
วัตถุอันตราย | สารหรือวัตถุที่มีคุณสมบัติทางเคมีหรือทางกายภาพโดยตัวของมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารนั้นแล้วทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ต่อทรัพย์สินและต่อสิ่งแวดล้อม |