หัวข้อที่น่าสนใจ
- เหตุผลที่ควรซื้อประกันรถยนต์ EV ที่คุ้มครองแบตเตอรี่ EV รถไฟฟ้า ?
- อะไรอีกบ้างที่ทำให้ราคาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแพง ?
- อัปเดตก่อนใคร เกณฑ์ใหม่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีอะไรบ้าง ?
- เงื่อนไขความคุ้มครองแบตเตอรี่ EV ตามอายุการใช้งาน
- ทำไมราคาประกันรถไฟฟ้าชั้น 1 ถึงกลายเป็นระเบิดเวลาไปซะได้ ?
- ทำไม MG กล้ารับประกันตัว battery รถยนต์ไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งาน ?
- MG ประกาศรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100%
- ข้อยกเว้นไหนบ้างที่ MG ไม่ครอบคลุม ?
ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 225,000 คันในปี 2025 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ”
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้หลายคนยังไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV หนึ่งในนั้นคือเรื่อง แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ซึ่งเป็น “หัวใจสำคัญ” ของรถยนต์ประเภทนี้ และไม่วายต้องมองในแง่ของประกันแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ที่มี “การเปลี่ยนแปลง” อย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงหลายประเด็นก็อาจส่งผลเสียต่อผู้เอาประกันหลาย ๆ คน เรื่องราวของ battery รถยนต์ไฟฟ้า มีอะไรที่ต้องรู้และทำความเข้าใจบ้างก่อนคุณจะเป็นเจ้าของ ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปดูพร้อม ๆ กันเลย
เหตุผลที่ควรซื้อประกันรถยนต์ EV ที่คุ้มครองแบตเตอรี่ EV รถไฟฟ้า ?
ขับรถ EV ในการเลือกซื้อประกันรถยนต์ EV ต้องให้ความสำคัญเรื่องความคุ้มครองแบตเตอรี่ด้วย เนื่องจาก “แบตเตอรี่เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ประเภทนี้” แถมราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็สูงมาก
เหตุผลที่แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ราคาสูงกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ทั่ว ๆ ไป เป็นเพราะต้นทุนของวัตถุดิบและส่วนประกอบสำคัญในแบตเตอรี่ทำให้มีราคาสูง โดยเฉพาะ “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” ถึงเราจะมีข่าวดีที่ได้มีการค้นพบทรัพยากรแร่ที่มีศักยภาพ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณอยู่ อ้างอิงจากคำพูดของ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่ระบุว่า ไทยสำรวจทรัพยากรแร่ หรือ Mineral Resource กว่า 14.8 ล้านตัน ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยทุกคน มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เพราะเป็นการช่วยลดการนำเข้าและเพิ่มการพึ่งพิงตนเองให้กับคนไทย”
อะไรอีกบ้างที่ทำให้ราคาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแพง ?
นอกจาก “ความหายาก” จะทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ราคาแพงแล้ว ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกเพียบ ที่ส่งผลต่อ “ราคา” ตัวแบตฯ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา, การออกแบบเทคโนโลยี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า EV ซึ่งทั้งหมดล้วนมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามมามากมาย และในท้ายที่สุดจึงเป็นเหตุผลที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่มีราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปทั่วไปนั่นเอง
3 เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV
การเลือกซื้อรถยนต์ไว้ใช้งานสักคัน ควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะคนที่อยากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่มีข้อจำกัดมากกว่ารถยนต์สันดาปทั่ว ๆ ไป ซึ่งนอกจากราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะแพงแล้ว ยังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่ควรรู้ก่อนซื้อรถ มาดูกัน
- อะไหล่ ในปัจจุบันอะไหล่และศูนย์ซ่อมยังค่อนข้างน้อย หาได้ยาก หากรถยนต์ EV พัง หรือแบตเตอรี่ EV ได้รับความเสียหาย อาจทำให้การซ่อมล่าช้า เนื่องจากต้องรออะไหล่ หรือบางที่อาจมีค่าอะไหล่ ค่าซ่อม และค่าบริการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแบตรถยนต์ไฟฟ้า ราคาค่อนข้างสูงมากเลยล่ะ
- ข้อจำกัดด้านระยะทางในการขับขี่ หากคุณเป็นคนที่เดินทางไกลบ่อย ๆ รถยนต์ EV อาจไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ เนื่องจากรถยนต์ประเภทนี้ถูกจำกัดด้วย “ความจุ” ของแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เมื่อเดินทางไกลอาจต้องหาสถานีที่ชาร์จแบตรถไฟฟ้าเอาไว้ ซึ่งในปัจจุบัน (ต่างจังหวัด) ก็มีน้อยมาก ๆ
- ใช้เวลาในการชาร์จแบตรถไฟฟ้ามากกว่าเติมน้ำมัน เพราะพลังงานของรถ EV ส่วนใหญ่ต้องใช้ที่ชาร์จแบตรถไฟฟ้าสำหรับเติมพลังงาน ไม่ใช่การเติมน้ำมันเหมือนกับรถยนต์สันดาปทั่วไป ดังนั้นจึงใช้เวลานานกว่า (ขึ้นอยู่กับประเภทหัวชาร์จที่เลือกใช้)
อัปเดตก่อนใคร เกณฑ์ใหม่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีอะไรบ้าง ?
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ออกมาเผยแพร่คำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 ซึ่งก็คือ “เกณฑ์ใหม่ของประกันรถยนต์ไฟฟ้า EV” ที่ผ่านการอนุมัติและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 ซึ่งทางบริษัทประกันภัยมีเวลาในการเตรียมตัวและปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2567
โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแยกออกมา ได้ความว่า กรณีที่แบตเตอรี่ EV ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ยกชุด บริษัทประกันจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน battery รถยนต์ไฟฟ้าตามอายุการใช้งาน หมายความว่าจากความคุ้มครอง 100% จะคุ้มครองน้อยลงเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่คุณใช้รถ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
เงื่อนไขความคุ้มครองแบตเตอรี่ EV ตามอายุการใช้งาน
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไม่เกิน 1 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 100%
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไม่เกิน 2 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 90%
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไม่เกิน 3 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 80%
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไม่เกิน 4 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 70%
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไม่เกิน 5 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 60%
- อายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าเกิน 5 ปี จ่ายค่าสินไหมทดแทน 50%
เงื่อนไขความคุ้มครองที่ “เหมือนจะดี” ต่อผู้เอาประกันภัย แต่จริง ๆ แล้วมันกลับเป็นเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่หลาย ๆ บริษัทประกันและหลาย ๆ หน่วยงานค่อนข้างกังวล เพราะหลังจากประกาศเกณฑ์ใหม่ออกมา ก็มีหลายบริษัทยุติการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าเรื่อย ๆ แต่มันเป็นเพราะกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นเพราะเหตุผลอะไรกันแน่ ตามไปดูในหัวข้อถัดไปกันได้เลย
ทำไมราคาประกันรถไฟฟ้าชั้น 1 ถึงกลายเป็นระเบิดเวลาไปซะได้ ?
จากกรณีที่ “โตเกียวมารีน” ออกมาประกาศหยุดรับประกันรถ EV โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- งดรับประกันรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ทุกแบรนด์ ทั้งงานเก่า งานโอนย้าย และงานต่ออายุ
- ใบเตือนงานต่ออายุยังสามารถเสนอเบี้ยใบเตือนได้ โดยทางฝ่ายรับประกันของทางบริษัท จะพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งดูจากประวัติการเคลมประกัน
แน่นอนว่าไม่ใช่อยู่ดี ๆ โตเกียวมารีนจะออกมายุติการรับประกันแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่ก่อนหน้านี้ทาง “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ได้ออกมาเตือนถึง “สงคราม” ราคาประกันรถ EV แล้ว ว่ามันคือระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ
และตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลงค่อนข้างเร็ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อทุนประกัน อัตราการเคลมความเสียหายพุ่งสูงถึง 90-100% ทำให้บริษัทประกันไม่เหลือกำไร เนื่องจากค่าซ่อมแพงกว่ารถยนต์ทั่ว ๆ ไป ประมาณ 50-60% กันเลยทีเดียว หากคิดจะซื้อประกันอยากให้ลองเปรียบเทียบประกันรถยนต์ให้ดีก่อน ว่าคุ้มครองครอบคลุมราคาแบตเตอรี่รถ EV ของคุณหรือไม่
ทำไม MG กล้ารับประกันตัว battery รถยนต์ไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งาน ?
หลังจากมีข่าวบริษัทประกันต่าง ๆ เริ่มออกมายุติรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นประเด็นเรื่องความเสียหายของแบตฯ จากอุบัติเหตุ แต่ก็ทำให้ประชาชนเริ่มเสียงแตกถึงความมั่นใจที่จะใช้รถไฟฟ้า ซ่อมเองแพงบ้าง เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาประกันไม่คุ้มครองบ้าง จนเริ่มหันหลังให้กับรถไฟฟ้า EV ทำให้ MG หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ต้องเรียกความมั่นใจกลับมา “ขายความเชื่อใจ” ให้กับผู้คลั่งรักรถไฟฟ้าได้อย่างอยู่หมัด ถ้าอย่างนั้นตามไปดูเหตุผลหลัก ๆ กันเลยดีกว่า
MG ประกาศรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100%
หากอ่านเพียงแค่หัวข้อหลายคนคงรู้สึกว่าก็ไม่ได้ต่างจาก “เกณฑ์ใหม่” ที่เพิ่งประกาศใช้ไปสักเท่าไหร่ เพราะเดี๋ยวก็จะลดความคุ้มครอง หรืออาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ ซุกซ่อนเอาไว้ และผู้เอาประกันก็กลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์อยู่ดี แต่บอกไว้ตรงนี้เลยว่า MG รับประกันแบตเตอรี่รถไฟฟ้า 100% “ตลอดอายุการใช้งาน” แถมยังไม่จำกัดระยะทางด้วย
นอกจากนี้ยังเหมารวมไปถึงมอเตอร์ไฟฟ้า และชุดควบคุมให้กับรถทั้งหมด 4 รุ่น ที่สำคัญ! ยังมีผลย้อนหลังให้กับคนที่ซื้อรถไปก่อนหน้านี้อีกด้วย โดย 4 รุ่นดังกล่าวได้แก่
- MG4 ELECTRIC
- MG MAXUS 9
- MG MAXUS 7
- MG CYBERSTER
เท่านั้นยังไม่พอ! เพราะ MG ขายความเชื่อใจและความมั่นใจอย่างรุนแรง ด้วยการออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า รับประกันไปยังเจ้าของรถลำดับต่อไปด้วย พูดง่าย ๆ ว่าหากคุณซื้อรถทั้ง 4 รุ่น (รุ่นใดรุ่นหนึ่ง) ในรูปแบบ “รถมือสอง” ก็ยังคงได้รับความคุ้มครองเช่นกัน
ข้อยกเว้นไหนบ้างที่ MG ไม่ครอบคลุม ?
อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้เอาประกัน หรือคนที่หันมาสนใจและอยากซื้อ MG ต้องทำความเข้าใจ คือ “ข้อยกเว้น” ที่ MG ไม่ให้ความคุ้มครอง ซึ่งหลัก ๆ มีทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
- รถที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ เช่น รถเช่า รถรับจ้าง
- รถที่มีการดัดแปลงสภาพ หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริม
- รถที่ไม่ได้เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการตามระยะที่กำหนด
จะเห็นว่าการตัดสินใจเลือกซื้อรถ EV สักคันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องแบตเตอรี่รถไฟฟ้า และประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อน เช่น ประกันแบตเตอรี่รถไฟฟ้า, ราคาแบตเตอรี่รถไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่ล้วนเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่เกิดขึ้นตามมาแทบทั้งสิ้น หากไม่ทำความเข้าใจหรือวางแผนการเงินให้ดี อาจทำให้เจ็บหนักในอนาคตได้
คำจำกัดความ
ระเบิดเวลา | ลูกระเบิดที่ติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลาเอาไว้เพื่อกำหนดเวลาระเบิด |
รถยนต์สันดาป | รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเบนซิน ดีเซล หรือแก๊สโซฮอล |