การขับขี่รถทุกครั้ง จำเป็นมากที่ต้องมีใบขับขี่ แต่ถ้าเจอกับสถานการณ์ ใบอนุญาตขับขี่ถูกเพิกถอน เชื่อว่าหลายคนคงมืดแปดด้านแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง มีเรื่องมากมายให้กังวลเต็มไปหมด MrKumka ได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์มาให้แล้ว พร้อมไขข้อสงสัย “ใบขับขี่ถูกเพิกถอนขอ ใบขับขี่ ใหม่ได้ไหม” ถ้าอย่างนั้นไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันได้เลย
ไขข้อสงสัย ใบอนุญาตขับขี่ถูกเพิกถอน จะขอใบขับขี่ใหม่ได้หรือไม่ ?
สำหรับคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยกันมากที่สุด ในกรณีใบขับขี่ถูกเพิกถอน ว่าสามารถขอ ใบขับขี่ ใหม่ได้ไหม ? ตอบตรงนี้เลยว่า “ได้” แต่จะต้องพ้นกำหนด 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ถูกเพิกถอน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเริ่มขอใบอนุญาตแบบชั่วคราวก่อน พร้อมกับต้องอบรมเสริมสร้างจิตสำนึก และปรับพฤติกรรมเป็นกรณีพิเศษเพิ่มอีก 3 ชั่วโมง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2558 เป็นต้นมา
เมื่อใบขับขี่ของคุณถูกเพิกถอน ต้องทำยังไง ?
กรณีที่ใบขับขี่ถูกเพิกถอน สิ่งที่ควรทำคือติดต่อกรมการขนส่งทางบกภายในวันและเวลาที่กำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน
- ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ มีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน
- ถูกเพิกถอนใบขับขี่ ต้อง ‘ส่งคืน’ ใบขับขี่ให้กับนายทะเบียนภายใน 15 วัน
สำหรับใครก็ตามที่อยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ แนะนำให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนปรับ และการเสียเวลาดำเนินการใหม่
สาเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้ใบอนุญาตขับขี่ถูกเพิกถอน
อยากรู้ไหมว่า ? มีเหตุความผิดอะไรบ้างที่อาจนำไปสู่การถูกเพิกถอนใบขับขี่ เพื่อป้องกันพฤติกรรม การ ขับขี่ของตัวเองให้เสี่ยงน้อยที่สุด ถ้าคุณอยากรู้ MrKumka ลิสต์มาให้เรียบร้อยแล้ว ไปดูกันเลย
1. ขับเสพ
หมายความว่า ขับขี่ยานพาหนะทั้งที่ใช้สิ่งเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายมาตรา 43 ทวิ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท นอกจากจะมีโทษปรับแล้ว ยังมีสิทธิ์ถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วย
2. เมาแล้วขับ
หมายความว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ ตามมาตรา 43 (2) ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น” ประกอบกับ มาตรา 160 ตรี ที่ระบุว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่”
3. แข่งรถบนถนนสาธารณะ
กฎหมายจราจรมาตรา 134 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดแข่งรถในทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร ห้ามมิให้ผู้ใดจัด สนับสนุน หรือสิ่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร ประกอบกับมาตรา 160 ทวิ ซึ่งระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 134 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
4. เคยถูก พัก ใช้ ใบขับขี่ และทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษไม่นาน
ตามมาตรา 142/7 ระบุว่า กรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่เคยถูกสั่งยึด หรือพักใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ตามมาตรา 142/6 มาแล้ว และได้กระทำความผิดและถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ถูกสั่งยึดหรือพักใบอนุญาตขับขี่ตามมาตรา 142/6
หากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้นั้น สมควรถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้แจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พร้อมด้วยข้อหาในการกระทำความผิด และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการพิจารณาสั่งเพิกถอน
5. เพิกถอนโดยดุลยพินิจของศาล
ตามมาตรา 162 ระบุว่า ในคดีที่ผู้ขับขี่ต้องคำพิพากษาว่า ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ นอกจากจะได้รับโทษสำหรับการกระทำดังกล่าวแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าหากให้ผู้นั้นขับรถต่อไป อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นได้
เห็นแล้วใช่ไหมว่า ? สาเหตุที่นำไปสู่การถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่ มีโทษทางกฎหมายหลายข้อด้วยกัน หากคุณไม่อยากเสี่ยงถูกเพิกถอนใบขับขี่ หรือมีโทษทางกฎหมายอื่น ๆ ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่ประมาท เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง รวมถึงผู้ร่วมทางคนอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญ ! ยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ในระดับหนึ่งเลยล่ะ