หัวข้อที่น่าสนใจ
- พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร ?
- พ.ร.บ.รถแต่ละประเภท ต้องจ่ายปีละเท่าไหร่ ?
- ความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถยนต์ มีอะไรบ้าง ?
- 1. คุ้มครองความเสียหายเบื้องต้น
- 2. คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน
- การเบิก พ.ร.บ. รถ มีขั้นตอนยังไง ?
- วิธีเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ทำยังไง ?
- เอกสารการเบิก พ.ร.บ. รถยนต์
- เอกสารเพิ่มเติม กรณีได้รับบาดเจ็บ
- เอกสารเพิ่มเติม กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นผู้ป่วยใน
- เอกสารเพิ่มเติม กรณีทุพพลภาพ
- เอกสารเพิ่มเติม กรณีเสียชีวิต
- ไม่ใช่เจ้าของรถเคลม พ.ร.บ. ได้ไหม ?
- กรณีรถล้มเอง เบิก พ.ร.บ. ไม่มีใบขับขี่ได้ไหม ?
รถยนต์ทุกคนมี พ.ร.บ.รถยนต์ อยู่แล้ว เพราะมันคือสิ่งที่ “จำเป็น” ต้องมี เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ สามารถเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ช่วยได้ แต่ถ้าเจาะลึกไปกว่านั้น เกิดเหตุที่ไม่ใช่เจ้าของรถจะเคลม พ.ร.บ. ได้ไหม? รวมถึงข้อควรรู้อื่น ๆ อย่างการเบิก พ.ร.บ. รถ หรือความคุ้มครอง ที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้ว คนใช้รถต้องรู้ ตามไปดูกันเลยในบทความนี้
พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร ?
พ.ร.บ.รถยนต์ คือ “ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ” ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถที่มีชื่อในเล่มทะเบียนรถยนต์ หรือผู้ครอบครองรถในกรณีเป็นผู้เช่าซื้อรถ ต้องต่ออายุในทุก ๆ ปี
นอกจากจะเป็นประกันภัยรถยนต์ที่รถทุกคนจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว ยังเป็น “หลักฐาน” ที่จำเป็นต่อการต่อภาษีรถยนต์ในทุก ๆ ปีอีกด้วย และบอกไว้ตรงนี้เลยว่าเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถคนไหนไม่ทำ หรือไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ จะถือว่าทำผิดกฎหมาย
ถ้าไม่ทำหรือไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ จะมีโทษยังไงบ้าง ?
สำหรับคนที่ไม่ทำหรือไม่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ในปีนั้น ๆ นอกจากจะไม่สามารถเบิก พ.ร.บ. รถยนต์หรือเคลม พ.ร.บ.รถยนต์ได้แล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่า “ผิดกฎหมาย” มีโทษเป็นค่าปรับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- กรณีเจ้าของรถไม่ทำประกัน พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- กรณีคนที่ไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- กรณีเป็นเจ้าของรถไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันดังกล่าวไปใช้ ถือว่าผิดทั้ง 2 กระทง มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.รถแต่ละประเภท ต้องจ่ายปีละเท่าไหร่ ?
ในส่วนของ “อัตราเบี้ยประกันภัยภาคบังคับ” จะเป็นอัตราเบี้ยคงที่ ไม่มีการเพิ่ม แต่ราคาจะแตกต่างกันไปตามประเภทและขนาดของรถ ดังนี้
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน เบี้ยประกัน 645.21 บาท/ปี
- รถกระบะน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน เบี้ยประกัน 967.28 บาท/ปี
- รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง เบี้ยประกัน 1,182.35 บาท/ปี
*หมายเหตุ: ค่าเบี้ยประกันที่ระบุ ได้รวมค่าอากรแสตมป์ และภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เรียบร้อยแล้ว
ในกรณีที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ “ประกันภัยภาคสมัครใจ” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ หากคุณไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อแผนประกันแบบไหน แนะนำให้เปรียบเทียบประกันรถยนต์ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองที่ตอบโจทย์มากที่สุด
ความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถยนต์ มีอะไรบ้าง ?
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรทำความเข้าใจก่อนเคลม พ.ร.บ.รถยนต์ คือ “ความคุ้มครอง” ที่ทุกคนจะได้รับจากประกันภัยประเภทนี้ ซึ่งตามปกติจะแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
1. คุ้มครองความเสียหายเบื้องต้น
เป็นความคุ้มครองที่ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น “โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด” บริษัทประกันจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับจากวันที่บริษัทได้รับคำร้องขอให้บริษัทชดเชยในความเสียหาย โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีบาดเจ็บ
ผู้ประสบภัยจะได้รับชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร
หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร บริษัทฯ จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท/คน
กรณีเสียชีวิต
ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท/คน
2. คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน
คือ “ค่าเสียหายหลังจากที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก” โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามรายละเอียดต่อไปนี้
กรณีได้รับบาดเจ็บ
ผู้ประสบภัยจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท/คน (มีหลักฐานการชำระเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน)
กรณีเสียชีวิต
ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนสูงสุด ไม่เกิน 500,000 บาท/คน
กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร
ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าทดแทนเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย อยู่ที่ 200,000-500,000 บาท/คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดที่สูญเสียอวัยวะ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด
กรณีเข้ารับการรักษาในฐานะ “ผู้ป่วยใน”
ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน
การเบิก พ.ร.บ. รถ มีขั้นตอนยังไง ?
หลังจากทำความเข้าใจความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถยนต์ เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อมาเรามาทำความเข้าใจวิธีเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ต่อเลยดีกว่า เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบขั้นตอนการเบิก พ.ร.บ. รถว่าต้องทำยังไง ? ใช้เอกสารอะไรบ้าง ? มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว
วิธีเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ทำยังไง ?
- หลังจากถูกนำส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่บริษัทประกันที่ซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ เพื่อทำการแจ้งเคลม พ.ร.บ.รถ พร้อมบอกเหตุการณ์
- ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมสามารถยื่นเรื่องเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ผ่านทางโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือผ่านบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมต้องแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อนำใบแจ้งความมาเป็นเอกสารในการเบิก พ.ร.บ. รถ
- นำเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นเรื่องเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ กับทางบริษัทประกันที่ซื้อ พ.ร.บ. หรือกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- ทาง พ.ร.บ.รถยนต์ จะช่วยคุ้มครองค่าเสียหายต่าง ๆ เช่น ค่าเสียหายเบื้องต้น หรือค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรม ภายใน 7 วันทำการ
- การดำเนินการเบิก พ.ร.บ. รถ สามารถทำได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนหรือ 180 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ
เอกสารการเบิก พ.ร.บ. รถยนต์
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสบภัย กรณีอายุไม่ถึง 15 ปี ให้ใช้สำเนาสูติบัตรแทน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนรถคันที่เกิดเหตุ
- สำเนาใบขับขี่ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับรถ)
- ใบแจ้งความ หรือใบบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- สำเนาใบกรมธรรม์ พ.ร.บ.รถยนต์
นอกจากนี้ยังมี “เอกสารเพิ่มเติม” ที่จำเป็นต้องเตรียมด้วย โดยแบ่งตามแต่ละกรณี ดังนี้
เอกสารเพิ่มเติม กรณีได้รับบาดเจ็บ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้ประสบภัย
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
เอกสารเพิ่มเติม กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นผู้ป่วยใน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้ประสบภัย
- ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
เอกสารเพิ่มเติม กรณีทุพพลภาพ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ประสบภัย
- ใบรับรองแพทย์ และหนังสือรับรองความพิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
เอกสารเพิ่มเติม กรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ประสบภัย
- ใบมรณบัตร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
ไม่ใช่เจ้าของรถเคลม พ.ร.บ. ได้ไหม ?
หนึ่งในประเด็นที่หลาย ๆ คนสงสัยไม่แพ้กัน คือ “ไม่ใช่เจ้าของรถเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ได้ไหม” คำตอบคือ “เบิกได้” เนื่องจาก พ.ร.บ.รถยนต์ คือหลักประกันให้กับผู้ขับขี่ ว่าจะได้รับสิทธิคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอกหรือคนเดินเท้า จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ และเงินชดเชยต่าง ๆ ได้เลย
กรณีรถล้มเอง เบิก พ.ร.บ. ไม่มีใบขับขี่ได้ไหม ?
สำหรับกรณีรถล้มเอง เบิก พ.ร.บ. ไม่มีใบขับขี่ สามารถการเบิก พ.ร.บ. รถได้เช่นกัน ขอแค่ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ไม่หมดอายุก็พอแล้ว นอกจากนี้หากมีคนซ้อนหรือคนในที่เกิดเหตุมากกว่า 1 คน แล้วได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องแจ้งความด้วย
โดยระยะเวลาในการแจ้งความจากกรณีรถล้มเอง ไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่แนะนำว่าควรแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง และไม่เกิน 180 วันจะดีที่สุด เนื่องจากระยะเวลาในการขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ. คือ ภายใน 180 วันหลังจากที่เกิดเหตุนั่นเอง
หลังจากทำความเข้าใจวิธีเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ความคุ้มครอง และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงมองเห็นความสำคัญของ “ประกันภัยภาคบังคับ” มากขึ้น ทั้งในแง่ของเบิกค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ และการเบิก พ.ร.บ. รถในส่วนของค่าชดเชยอื่น ๆ บอกเลยว่าช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก ๆ เพราะฉะนั้นอย่าลืมทำหรือต่อ พ.ร.บ. รถให้เรียบร้อย หากกลัวลืม สามารถต่อล่วงหน้าไว้ก่อนได้ด้วยเช่นกัน
คำจำกัดความ
โทษปรับ | โทษทางอาญาฐานหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีในแง่ต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำกว่าโทษจำคุก คุมประพฤติ และกักบริเวณ |
ค่าสินไหมทดแทน | เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคล อันเนื่องมาจากการละเมิด หรือการ ผิดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย |
ทุพพลภาพถาวร | ทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆ ในอาชีพประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป |
ค่าปลงศพ | ค่าใช้จ่ายทุกชนิดในการจัดการศพของผู้ตาย เช่น ค่าโลงศพ ค่าฉีดยา ค่าเครื่องดื่มที่ใช้ในงานศพ เงินถวายปัจจัยให้พระที่มาสวดในงานศพ |
ทายาทโดยธรรม | ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายในมรดกของผู้ตายซึ่งมี 2 ประเภทประเภทที่ 1 คือ ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติสืบสายโลหิต มี 6 ลำดับ เรียงตามความสำคัญ 2 คือ ทายาทซึ่งมีสิทธิตามพินัยกรรมระบุ |