“ใบขับขี่” หรือใบอนุญาตขับรถ คือเอกสารสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกออกให้ เพื่อแสดงว่าคนคนนั้นมีคุณสมบัติเพียบพร้อม สามารถขับขี่รถบนถนนได้ แต่ถ้าหากคุณ ขับรถไม่มีใบขับขี่ ขึ้นมาล่ะก็ รู้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น ! ซึ่งเราได้ทำการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับ “โทษ” และความคุ้มครองในส่วนของประกันภัยรถยนต์ จะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อม ๆ กันได้เลย !
ขับรถไม่มีใบขับขี่ โทษหนักกว่าที่คิด !
การขับขี่ยานพาหนะไม่ว่าจะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ โดยที่ “ไม่มีใบขับขี่” ซึ่งไม่มีในที่นี้เหมารวมถึง “มีแต่ไม่ได้พกไว้กับตัว” ด้วยเช่นกัน หากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจ แล้วไม่สามารถแสดงหลักฐาน (ใบขับขี่) ได้ หรือแสดงแล้วแต่ใบขับขี่หมดอายุ จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และ พรบ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 โดยมีบทลงโทษดังต่อไปนี้
- ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณีรถยนต์สาธารณะ หากผู้ประกอบการยินยอมให้ผู้ไม่มีใบขับขี่ขับรถยนต์สาธารณะ จะมีความผิดตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากผู้ใดฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน
- หากมีใบขับขี่แต่ไม่สามารถแสดงให้กับเจ้าหน้าที่ได้ (ไม่ได้พบใบขับขี่) จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- หากขับรถโดยที่ใบขับขี่หมดอายุ หรือถูกสั่งพัก ถูกเพิกถอน ถูกยึดใยขับขี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ใดใช้รถโดยไม่แสดงใบขับขี่หรือสำเนาภาพถ่ายทะเบียนรถ ต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ซึ่งในปัจจุบันการใช้ข้ออ้างว่า “ลืมพกใบขับขี่มา” ไม่สามารถใช้ได้แล้ว เพราะกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้ “สามารถแสดงใบขับขี่แบบอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ใบขับขี่ดิจิทัล” และสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถได้แล้ว (ใช้ได้เฉพาะผู้ที่ถือใบขับขี่แบบสมาร์ตการ์ด ที่มี QR Code อยู่บริเวณด้านหลังเท่านั้น)
การ “ชำระค่าปรับ” ใบขับขี่
มาตรา 141 ระบุเอาไว้ว่า เมื่อผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับ “ใบสั่ง” มาตรา 140 แล้ว จะต้องชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
ชำระค่าปรับโดยการส่งธนาณัติ หรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคาร
โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนสั่งจ่ายให้แก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือวิธีการอื่น ผ่านธนาคารหรือหน่วยรับชำระเงิน ตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่ง
ชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจ
โดยชำระตามจำนวนที่กำหนดไว้ในใบสั่ง หรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบ และในกรณีนี้ให้พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีเขตอำนาจในการ “เปรียบเทียบปรับ” ได้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อผู้ได้รับใบสั่งได้ชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้อง ให้คดีเป็นอันยกเลิก
เกิดอุบัติเหตุ แถมไม่มีใบขับขี่ ประกันคุ้มครองไหม ?
กรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนและมีคู่กรณี แต่คนขับรถไม่มีใบขับขี่ ทางประกันภัยรถยนต์จะจ่ายเงินชดเชยให้ทั้งตัวร่างกายบุคคล และทรัพย์สินของคู่กรณีเท่านั้น ซึ่งความคุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอก มีส่วนที่ “ยกเว้น” อยู่ ดังต่อไปนี้
- ไม่คุ้มครองทรัพย์สินของผู้เอาประกัน รวมไปถึงครอบครัวของผู้เอาประกันด้วย
- ไม่คุ้มครองทรัพย์สินและสัมภาระที่อยู่ในรถ ทั้งของตัวผู้เอาประกันและคู่กรณี
- ไม่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากน้ำหนักของรถยนต์หรือน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์ เช่น ผู้ขับขี่อาจบรรทุกของหนักเกินไป นำไปสู่ความเสียหายแก่รถ กรณีนี้ทางบริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง
รถคันที่เอาประกัน จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ หากไม่มีประกัน
ในส่วนของ “ความคุ้มครองรถยนต์ที่เอาประกัน” จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีเกิดอุบัติเหตุโดยที่คนขับไม่มีขับขี่และเป็นฝ่ายถูก กับกรณีคนขับไม่มีใบขับขี่และเป็นฝ่ายผิด ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทประกันจะพิจารณาดังนี้
เป็นฝ่ายถูก คนขับไม่มีใบขับขี่
กรณีที่คนขับไม่มีใบขับขี่และเป็นฝ่ายถูก รถยนต์ที่ทำประกันชั้น 2, 2+ และ 3+ เอาไว้ บริษัทฯ จะรับผิดชอบในส่วนค่าซ่อมของผู้ขับขี่ รวมถึงเป็นผู้เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดเอง
แต่ถ้าหากคนขับไม่มีใบขับขี่แถมไม่มีประกันรถอีก ผู้ขับขี่จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีเองทั้งหมด รวมถึงได้รับความผิดจากกรณีที่ไม่มีใบขับขี่ตามกฎหมาย พรบ.จราจรขนส่งทางบกด้วยอีกกระทง
เป็นฝ่ายผิด คนขับไม่มีใบขับขี่
กรณีคนขับไม่มีใบขับขี่และเป็นฝ่ายผิด เบื้องต้นอาจต้องตรวจสอบดูก่อนว่าที่ไม่มีใบขับขี่นี่เป็นเพราะอะไร เพื่อที่ประกันจะได้พิจารณาได้ถูกต้อง ดังนี้
- กรณีไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อนเลย “ไม่คุ้มครอง” ทางประกันจะไม่รับผิดชอบค่าเสียหายต่าง ๆ ทุกกรณี แต่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลแทน (ตามเงื่อนไขของประกันตามกรมธรรม์นั้น ๆ)
- กรณีมีใบขับขี่แต่หมดอายุ “คุ้มครอง” ทางบริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองทุกกรณีทั้งรถของผู้ขับขี่และคู่กรณี
- กรณีคนขับถูกยึดใบขับขี่ “คุ้มครอง” แต่ผู้ขับขี่จะต้องคัดลอกสำนวนเพื่อนำมายืนยันกับทางบริษัทประกัน เพื่อขอรับความคุ้มครองทั้งรถของตัวเองและคู่กรณี
เห็นแล้วใช่ไหมว่า ? “ใบขับขี่” มีความสำคัญต่อการใช้รถใช้ถนน รวมถึงการเคลมประกันอย่างไรบ้าง ? ดังนั้นหากต้องเดินทางด้วยการขับขี่ยานพาหนะใด ๆ ก็ตาม ควรพกใบขับขี่ไปด้วยทุกครั้ง หากประกันรถใกล้หมด ควรรีบต่อให้เรียบร้อย นอกจากนี้อย่าลืมซื้อ เช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์เอาไว้ อย่างน้อยเพื่อความอุ่นใจตลอดการเดินทาง แถมยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อยามเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย