บ่อยครั้งที่ได้ยินคำว่ากรมธรรม์รถยนต์ผ่านหูมาให้ได้ยินบ่อย ๆ ประกอบกับมีใครคอยพร่ำบอกอยู่เสมอ ว่าก่อนทำประกันควรอ่านรายละเอียดกรมธรรม์ประกันรถยนต์ให้ดีก่อน แต่คำสั้น ๆ อย่าง “กรมธรรม์” แท้จริงแล้วคืออะไร ทำไมถึงควรให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมคำตอบที่เป็นประโยชน์มาให้แล้ว ตามไปทำความเข้าพร้อม ๆ กันเลย
กรมธรรม์รถยนต์ คืออะไร ?
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือแม้กระทั่งประกันภัยรถยนต์ ทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันใด ๆ ก็ตาม ทางบริษัทประกันจะมีเอกสารมาให้ ซึ่งก็คือ “กรมธรรม์ประกันภัย” ที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาการทำประกันทั้งหมดอย่างครบถ้วน
กรมธรรม์ (กธ.) คือ เอกสารที่บริษัทประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยมีรายละเอียดความรับผิดชอบ เงื่อนไข การยกเว้น รวมถึงค่าเบี้ยประกันภัย พูดง่าย ๆ ว่ามีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยฉบับดังกล่าว
ส่วนกรมธรรม์ประกันรถยนต์ คือ เอกสารหรือสัญญาที่ระบุความคุ้มครอง รวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขในการคุ้มครองระหว่างบริษัทประกันกับผู้เอาประกัน โดยจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คันที่เอาประกัน ทั้งในด้านทรัพย์สินและค่ารักษาพยาบาล ตามเงื่อนไขและวงเงินที่ระบุเอาไว้ในสัญญา
เงื่อนไขกรมธรรม์ มีความหมายว่ายังไง ?
และถ้าหากกำลังสงสัยว่า ‘เงื่อนไข’ ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คืออะไร ตอบตรงนี้เลยว่ามันคือข้อกำหนดและข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัท ที่ระบุไว้ในใบกรมธรรม์รถยนต์ เงื่อนไขต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อยกเว้นความคุ้มครองต่าง ๆ
ดังนั้น การทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้คุณทราบว่าสถานการณ์ใดบ้าง ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง และกรณีใดที่อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง
หลังจากทำความเข้าใจความหมายทั้งของกรมธรรม์รถยนต์ และเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาแล้ว เรามาเจาะลึกกันต่อเลยดีกว่า กรมธรรม์รถยนต์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง เพื่อให้คุณเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าความคุ้มครองที่จะคุณซื้อสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ยังไง
กรมธรรม์ประกันรถยนต์ มีกี่ประเภท ?
ประกันภัยรถยนต์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประกันภัยภาคบังคับ ที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อเรียกว่า พ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งรถยนต์ทุกคันไม่ว่าจะเป็นประกันชั้น 1, ชั้น 2+, ชั้น 3+ หรืออื่น ๆ ก็ต้องทำประกันภาคบังคับ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองแก่ร่างกาย ชีวิต และการรักษาต่าง ๆ ของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากรถยนต์เท่านั้น สามารถต่อ พ.ร.บ. ได้หลังจากทำการเสียภาษีประจำปีแล้ว
และประกันภัยอีกประเภท คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งก็คือการทำประกันภัยรถยนต์กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อจะได้รับความคุ้มครองตามทุนประกันที่ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ให้ความคุ้มครอง
ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ มีรายละเอียดความคุ้มครอง รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองอย่างที่ต้องการ ในราคาสบายกระเป๋า แนะนำให้เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ให้ดีก่อนตัดสินใจทำหรือต่ออายุกรมธรรม์รถยนต์ทุกครั้ง
รายละเอียดสำคัญในกรมธรรม์รถยนต์ มีอะไรบ้าง ?
สำหรับคนที่ทำประกันภัยรถยนต์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ‘รายละเอียด’ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์รถยนต์ให้ดีก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จะมีอะไรบ้าง? ตามไปดูกันหน่อยดีกว่า
1. เลขกรมธรรม์
สำหรับนำไปอ้างอิงในการขอเคลม หรือยกเลิกสัญญาประกันภัย
2. ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกัน
ได้แก่ ชื่อ-นามสกุลของผู้เอาประกัน อาชีพ และที่อยู่ปัจจุบัน หากว่ามีการระบุผู้ขับขี่ ให้ตรวจสอบชื่อผู้ขับขี่ วันเดือนปีเกิด และอาชีพของผู้ขับขี่ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาเวลาขอเคลม
จะเกิดอะไรขึ้น หากข้อมูลในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ผิด ?
ขอย้ำอีกครั้งว่าข้อมูลในใบกรมธรรม์มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีผลต่อความคุ้มครอง และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หากเช็คกรมธรรม์รถยนต์แล้วพบว่าข้อมูลไม่ตรงหรือข้อมูลกรมธรรม์ผิดพลาด ผู้เอาประกันห้ามปล่อยผ่านเด็ดขาด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้เอาประกันมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ควรรีบแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยให้ทราบในทันที
รวมทั้งในกรณีที่เพิ่งได้รับใบกรมธรรม์รถยนต์ ชั้น 1 หรือชั้นใด ๆ มา สิ่งแรกที่ควรตรวจสอบอย่างละเอียด คือ ข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดความคุ้มครอง วงเงินคุ้มครอง และวันเริ่มต้นความคุ้มครอง เพื่อให้ภายในกรมธรรม์ประกันรถยนต์มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน
3. ข้อมูลของรถที่ทำประกันภัย
ต้องมีการระบุยี่ห้อ รุ่น ทะเบียน เลขตัวถัง ปี และรายละเอียดอื่น ๆ ที่ถูกต้อง เพราะถ้าหากรายละเอียดไม่ตรงกัน อาจทำให้ไม่สามารถขอเคลมประกันได้
4. รายละเอียดความคุ้มครองและวงเงิน
ประกอบด้วยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ตัวรถยนต์ และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย โดยจะระบุรายละเอียดความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมถึงวงเงินสูงสุดที่จะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง โดยคุณต้องตรวจสอบรายละเอียดส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกัน
5. ค่าใช้จ่ายและเบี้ยประกันภัย
โดยต้องระบุค่าเบี้ยประกันภัยตามความคุ้มครองหลัก หักส่วนลดในกรณีระบุชื่อผู้ขับขี่ เบี้ยประกันตามเอกสารแนบท้าย รวมถึงส่วนลดอื่น ๆ เช่น ลูกค้าประวัติดีไม่มีเคลม ส่วนลดกลุ่ม หรือส่วนลดติดกล้องหน้ารถยนต์ เป็นต้น จากนั้นจะมีสรุปเบี้ยประกันสุทธิ อากรแสตมป์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเบี้ยประกันรวมที่จะต้องจ่ายจริง
6. เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ
ระบุเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภท ของแต่ละบริษัทอย่างละเอียด
7. นโยบายการเวนคืนกรมธรรม์
ระบุรายละเอียดทั้งในกรณีบริษัทเป็นผู้บอกเลิก และผู้เอาประกันเป็นผู้บอกเลิก พร้อมทั้งอัตราการคืนเบี้ยประกันก่อนสิ้นสุดสัญญา
8. ความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย
เป็นรายละเอียดของความคุ้มครองเพิ่มเติม ว่ามีอะไรบ้าง และสามารถเคลมได้ในกรณีใดบ้าง
อีกหนึ่งความสงสัยที่ปล่อยผ่านไม่ได้เลย คือ หากกรมธรรม์หายจะเกิดอะไรขึ้น แจ้งเคลมประกันได้ไหม ต้องทำใหม่ภายในกี่วัน และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่ง มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมคำตอบในประเด็นนี้มาให้ด้วยเช่นกัน จะเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ตามไปเจาะลึกกันเลย
ใบกรมธรรม์รถยนต์หาย ทำยังไงดี ?
ในกรณีที่จะเช็คกรมธรรม์รถ แต่ปรากฏว่ากรมธรรม์ประกันหาย ไม่ต้องกังวลเพราะ “ความคุ้มครองยังคงมีผลอยู่” คุณสามารถติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อขอสำเนากรมธรรม์รถยนต์ใหม่ได้ โดยบางบริษัทอาจมีบริการออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์
กรมธรรม์ประกันหาย ต้องทำใหม่ภายในกี่วัน ?
ตามปกติแล้วบริษัทประกันภัยรถยนต์จะออกสำเนากรมธรรม์ใหม่ ภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากที่คุณแจ้งความประสงค์ แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอกรมธรรม์รถยนต์ฉบับใหม่ คุณยังคงได้รับความคุ้มครองตามปกติ และสามารถใช้เลขกรมธรรม์ในการติดต่อหรือเคลมประกันได้ ในกรณีที่จำไม่ได้ว่าทำประกันไว้กับที่ไหน มีวิธีดูกรมธรรม์รถยนต์ที่ทำไว้ ดังนี้
- เช็คประกันรถยนต์กับบริษัทประกันภัย
- เช็คกรมธรรม์รถยนต์กับโบรกเกอร์ประกันภัย
- เช็คกรมธรรม์กับสำนักงาน คปภ.
- เช็คกรมธรรม์รถยนต์กับศูนย์รถยนต์ที่ซื้อ (กรณีรถใหม่ป้ายแดง)
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงเข้าใจบ้างแล้ว ว่ากรมธรรม์ประกันรถยนต์มีความสำคัญมาก ๆ ในการเลือกซื้อประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ พ.ร.บ. รถยนต์หรือกรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครใจ ควรตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน หากหลังจากที่เช็คกรมธรรม์รถยนต์แล้ว พบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ควรแจ้งบริษัทประกันภัยให้รับทราบและแก้ไขทันที เพื่อป้องกันปัญหาด้านการเคลมที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
คำจำกัดความ
อ้างอิง | ยกมากล่าวเป็นหลัก, กล่าวถึงเพื่อเป็นหลัก, ระบุที่มาเพื่อเป็นหลักฐาน |
โบรกเกอร์ประกันภัย | ตัวแทนขายประกันรถยนต์ หรือนายหน้าประกันวินาศภัย ที่เป็นคนกลางระหว่างผู้เอาประกันและบริษัทประกัน |
เคลมประกัน | คำร้องขออย่างเป็นทางการที่คุณในฐานะผู้ถือกรมธรรม์ยื่นต่อผู้ให้บริการประกันภัยเพื่อขอค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายที่ครอบคลุมตามกรมธรรม์ของคุณ |