รู้ทันภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย social addiction คุณเล่นมือถือมากไปหรือเปล่า ?

แชร์ต่อ
social addiction เสี่ยงให้เกิดโรค

พฤติกรรมเสพติดโซเชียลมีเดีย หรือ social addiction คือการใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานติดต่อกัน จนทำให้การงาน การเรียน และปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างได้รับผลกระทบมากมาย อีกทั้งพฤติกรรมดังกล่าวยังเป็น “พฤติกรรมเสี่ยง” ที่ก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้น โรคเครียด โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปไม่รู้จบ อาการป่วยจากโรคใหม่ ๆ เราต้องรู้ทันด้วย “ติดโซเชียล” เสี่ยงจะทำร้ายคุณได้ยังไง MrKumka จะพาคุณไปรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกัน

social addiction เสี่ยงให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

นอกจากการเสพติดโซเชียลจะส่งผลกระทบต่อการงาน การเรียน และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายด้วยเช่นกัน ในบางครั้งการติดโซเชียลหรืออยู่กับหน้าจอมือถือเป็นเวลานาน อาจเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ของโรคต่าง ๆ ก็เป็นได้ เช็กเลย ! เพื่อเตรียมรับมือได้ทันการณ์ !

บำบัดอาการติดโซเชียล Socia Media Detox

วุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters)

ปัจจุบันภาวะวุ้นตาเสื่อมไม่ได้พบเจอแค่ในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในวัยเรียน วัยทำงานเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะว่าหลายคนใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป อาการของโรคนี้ คือ มองเห็นจุดเล็ก ๆ ลอยผ่านไปมา โดยมีรูปร่างและขนาดไม่คงที่ เช่น จุดวงใหญ่ ๆ คล้ายเมฆ หรือจุดเล็ก ๆ สีดำ หากอยากรู้ว่าเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ด้วยการมองไปที่ที่มีพื้นหลังสีสว่าง

โรคซึมเศร้า (Depression)

การเล่นโซเชียลเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นการ “สร้างความเป็นจริงเทียม (Artificial Reality)” ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์หรือการแชร์เรื่องราวดี ๆ แต่กลับเก็บเรื่องร้าย ๆ เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเอาไว้ในชีวิต ปิดมิดชิดจนไม่มีใครสังเกตเห็นได้ประหนึ่งเหมือนกล่องดำที่ถูกขุดซ่อนไว้ลึกก้นเหว กลับกันยังทำให้คุณมองเห็นแต่ชีวิตของคนอื่นในด้านที่สมบูรณ์แบบเต็มไปหมด เมื่อเกิดการนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกไร้ค่า หม่นหมอง ไม่มีความสุข จนกลายมาเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ถึงว่าเป็นโรคร้ายแรงพอสมควรเลย

โนโมโฟเบีย (Nomophobia)

อาการหรือพฤติกรรมโนโมโฟเบีย หรือ “โรคกลัวไม่มีมือถือใช้” มีที่มาจากคำว่า no mobile phone phobia เพราะเมื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น ทำให้หลายคนติดอยู่กับโลกโซเชียล ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มวัยรุ่น ที่มักจะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เมื่อหาโทรศัพท์มือถือไม่เจอ หรือพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ ณ ตอนนั้น ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ยังรวมถึงการหมกมุ่นอยู่กับติดโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา ไม่ว่าจะก่อนนอนหรือตื่นนอนทันที และมักจะตื่นตัวทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงเตือน บางคนอาจมีพฤติกรรมให้ความสนใจกับโลกออนไลน์ มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวในชีวิตจริง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จนในท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจโดยตรง

FOMO (ภาวะวิตกกังวลทางสังคม)

FOMO หรือ Fear of Missing Out คือ ความวิตกกังวลทางสังคมประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็น “ความกลัว” ที่จะพลาดบางอย่าง เช่น ประสบการณ์ ข้อมูลต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต หรืออาจคิดว่าการไม่อยู่กับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา จะทำให้ตัวเองเป็นคนล้าหลัง ตามไม่ทัน อาการดังกล่าวส่งผลต่อการรับรู้ขีดความสามารถของตัวเอง รวมถึงการกำหนดเป้าหมายในระยะยาว และอาจทำให้เกิดความรู้สึกเหงา เบื่อ และพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่น้อยลง

ภาวะหมกหมุ่น (Cyberchondria)

อาการเหล่านี้พบเจอได้มากที่สุดในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เพราะ Cyberchondria คือ “อาการหมกมุ่น” หรือการใช้เวลาไปกับการค้นหาข้อมูลโรคต่าง ๆ หรือข้อมูลทางการแพทย์ในอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้พาลคิดไปเองว่าตัวเองป่วยหรือติดโรค จนเกินความกังวล อาการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ “ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ” ที่อาจจะมีอยู่แล้ว รวมถึงเกี่ยวกับพฤติกรรม OCD ด้วย

ซึ่งพฤติกรรม OCD หรือ Obsessive Compulsive Disorder คือ “โรคย้ำคิดย้ำทำ” เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง โดยผู้ป่วยที่รู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี มักมีพฤติกรรมทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำไปมา เพื่อให้ตัวเองเกิดความสบายใจ แม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ ตอนนั้น ไม่มีความจำเป็นและไม่มีประโยชน์อะไร เช่น คอยดูว่าปิดไฟห้องน้ำแล้วหรือยัง แม้ว่าจะเห็นว่าปิดไปแล้วก็ตาม แต่จะคอยเดินมาดูเพื่อความแน่ใจเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยตรงเลยล่ะ

ภาวะวิตกกังวลจากการเสพข่าว (Headline Stress Disorder)

หากรู้สึกว่าอินกับข่าวหรือเกาะติดเรื่องดารามากเกินไป จนพาลให้รู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง หรือมีอารมณ์ร่วมกับข่าวต่าง ๆ มากจนเกินไป อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะ Headline Stress Disorder ซึ่งก็คือภาวะเครียด วิตกกังวลจากการเสพข่าวมากเกินไป แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อร่างกายต่าง ๆ มากมาย เช่น โกรธง่าย นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ใจสั่น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมา

ติดมือถือต้องบำบัดด้วย “Social Media Detox”

Socia Media Detox หรือ Social Detoxification คือการ “บำบัดการเสพติดโซเชียล” เทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลงกว่าปกติ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แนะนำให้ลองเช็กตัวเองว่าตัวคุณเอง กำลังเป็นคนที่จำเป็นจะต้อง Socia Media Detox อยู่หรือไม่ ด้วยการสังเกตสัญญาณต่อไปนี้

สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณ “ต้องบำบัด”

ในปัจจุบันอาการต่าง ๆ ที่กำลังจะบอกให้คุณเริ่มทำ Socia Media Detox มีหลายรูปแบบด้วยกัน หากต้องการสังเกตอาการของตัวเองแล้วล่ะก็ ไปดูกันเลย

  • เริ่มจดจ่อว่าจะโพสต์อะไรมากกว่าที่จะทำอะไรในชีวิตจริง
  • กระวนกระวายใจทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องออฟไลน์กะทันหัน
  • จดจ่ออยู่กับโซเชียลมีเดียวตลอดเวลา
  • เริ่มมีอาการปวดนิ้ว แขน ข้อมือ หลัง หรือคอ
  • รู้สึกปวดตา เบลอ หรือมึนไปชั่วขณะ
  • รู้สึกไม่มั่นใจตัวเอง และเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกโซเชียลบ่อย ๆ
  • สิ่งที่กำลังจดจ่อในโลกโซเชียล เริ่มส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคุณ

บำบัดอาการติดโซเชียล Socia Media Detox ทำยังไง ?

หลังจากที่พบว่าตัวเองมีสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะข้อเดียว หลายข้อ หรือทั้งหมด แนะนำให้ลองทำ Socia Media Detox เพื่อป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • งดเล่นสมาร์ตโฟนช่วงเวลาก่อนนอน
  • Socia Media Detox ทุก ๆ วันหยุด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนจากโซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่
  • ตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลง หรือถ้าหากอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นจะต้องติดต่อใคร แนะนำให้ปิดแจ้งเตือนไปก่อน
  • ซึมซับบรรยากาศในขณะที่ออฟไลน์ด้วยการออกไปใช้ชีวิต พักผ่อน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ แทนการเล่นสมาร์ตโฟน
  • กำหนดเวลาในการเล่นหรือใช้งานสมาร์ตโฟน

หากสังเกตตัวเองดีแล้ว และพบว่าตัวเองกำลังได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียว รวมถึงเมื่อลองทำ Socia Media Detox ยังคงเกิดความเครียด หดหู่ เศร้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนจะดีที่สุด

ห่างไกล “โรคซึมเศร้า” จากการเสพติดโซเชียล

ทุกวันนี้ “โซเชียลมีเดีย” แทบจะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของใครหลาย ๆ คนไปแล้ว ไม่ว่าจะบน Facebook, Instagram, Twitter หรืออื่น ๆ เมื่อเรา “ติดโซเชียล” ทุกเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สื่อโซเชียลจะเข้ามามีอิทธิพล และส่งผลต่อชีวิตของเรามากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าพฤติกรรมดังกล่าว อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

หากรู้สึกว่าหมกมุ่นมากจนเกินไป แนะนำให้อ่านข่าวหรือเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะให้ดี อย่าปล่อยให้ตัวเองไหลไปกับข่าวหรือสื่อต่าง ๆ เด็ดขาด หรือในบางครั้งอาจพาตัวเองไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพักการใช้โซเชียลลงบ้าง แต่ถ้าหากพบว่าไม่สามารถทำได้ และมีความหมกมุ่นกับโซเชียลมากจนเกินไป รวมถึงมีอาการจิตตกอยู่บ่อย ๆ ไม่รู้จะหันหาไปหาใคร แนะนำให้ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่คุณมีอาการติดโซเชียลอย่างหนัก จนเริ่มสับสนเรื่องเวลาในสื่อออนไลน์กับโลกความเป็นจริง หมกมุ่น เศร้าหมอง หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง แนะนำให้เข้ารับการรักษาจะดีที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่อาจจะตามมา แต่ถ้าหากพบว่าตัวเองมีภาวะติดโซเชียลแค่เล็กน้อย ไม่ได้รู้สึกอินไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ แนะนำให้ลองทำ Socia Media Detox ก่อนได้ เนื่องจากสามารถช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่