ปัจจุบันผู้คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสาว ๆ ที่นิยมใช้วิธีลดน้ําหนักแบบ IF อย่างแพร่หลาย กลายมาเป็นอีกทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น และนั่นทำเอาหลาย ๆ คนเกิดความสงสัยว่าการทำ IF คืออะไร ลดน้ำหนักได้จริงมั้ย และต้องทำอย่างไรถึงจะลดน้ำหนักได้สำเร็จ ? เพราะเห็นใครต่อใครต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำ IF แล้วเห็นผลดีมาก หากคุณเป็นมือใหม่และกำลังหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่ มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมรายละเอียดสำคัญ ๆ มาให้คุณได้ทำความเข้าใจแล้ว อะไรบ้างที่คุณต้องรู้จากการดูแลสุขภาพประเภทนี้ ตามไปดูกัน
วิธีลดน้ําหนักแบบ IF คืออะไร ?
การทำ IF หรือ Intermittent Fasting คือวิธีลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่ง หรือเป็นการดูแลสุขภาพ ด้วยการควบคุมแคลอรีและจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร ซึ่งก็มีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ “กำจัดเวลาทานอาหาร” โดยเริ่มทาน 8 ชั่วโมง และอด 16 ชั่วโมง เช่น ทานได้เวลา 06.00-14.00 น. หลังจาก 14.00 น. เป็นต้นไปคือช่วงเวลาของการอดอาหาร
สำหรับช่วงเวลาของการอดอาหาร คือจะทานได้เฉพาะน้ำเปล่า กาแฟ ชา แบบที่ไม่ใส่น้ำตาล แถมยังจะต้อง “งดเว้น” สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพราะอาจจะกระตุ้นให้เกิดความหิวได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการอดอาหาร 1 มื้อ ซึ่งก็คือมือเย็น เมื่อทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ยังไงก็สามารถลดน้ำหนักได้อย่างแน่นอน แต่ก็มีหลายคนที่ทำไม่สำเร็จ เป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การลดน้ำหนักแบบ IF มีกี่วิธีอะไรบ้าง ?
การลดน้ำหนักแบบ IF จะมีทั้งหมด 6 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน โดยแต่ละวิธีก็มีรายละเอียดดังนี้
1. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ Lean gains
คือ การกินอาหารในช่วง 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง หรือที่หลายคนนิยมเรียกกันว่า 16:8 หรือ ตาราง if มือใหม่ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักขั้นเริ่มต้น
2. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ Fast 5
คือ การอดอาหารที่ค่อนข้างหักดิบ เนื่องจากเป็นการกินอาหารเพียงแค่ 5 ชั่วโมง และอดอาหารเป็นเวลา 19 ชั่วโมงแบบต่อเนื่อง
3. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ Eat Stop Eat
คือ การอดอาหาร 24 ชั่วโมง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับวันที่ไม่ได้อดอาหารก็สามารถกินได้ตามปกติ แต่ก็แนะนำให้กินอย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
4. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ 5:2
คือ การกินอาหารตามปกติ 5 วัน และกินอาหารแบบ Fasting 2 วัน โดยทำติดกัน 2 วันหรือห่างกันก็ได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการอดอาหารทั้งวัน แต่จะเป็นการ “ลดปริมาณ” อาหารให้น้อยลงแทน
5. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ The Warrior Diet
คือ การอดอาหารในช่วงกลางวัน ซึ่งจะดื่มได้เพียงน้ำเปล่า และจะกลับมารับประทานอาหารในช่วงมื้อค่ำเพียงมื้อเดียวเท่านั้น
6. วิธีลดน้ำหนัก IF แบบ ADF
คือ การอดอาหารแบบวันเว้นวัน นับเป็นวิธีที่ค่อนข้างหักโหม แต่ก็มีความคล้ายกับสูตร 5:2 เพราะในวันที่ Fast คุณจะสามารถกินอาหารแคลอรีต่ำได้ แต่ต้องกินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
มีหลากหลายวิธีลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักแบบ IF ถือเป็นการ “ปรับพฤติกรรมการกิน” แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสุขภาพต้องมาก่อนเสมอ หากรู้สึกว่าหักโหมจนเกินไป หรือร่างกายไม่ไหว ก็ควรที่จะหยุดและมองหาวิธีอื่น ๆ แทนจะดีกว่า
สิ่งที่ทำให้ลดน้ำหนักแบบ IF 16:8 ไม่สำเร็จ เพราะอะไร ?
การดูแลสุขภาพ อย่างการลดน้ำหนักแบบ IF 16:8 แม้ว่าใครต่อใครจะเคลมว่าได้ผลจริง เห็นผลเร็ว แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ทำแล้วไม่สำเร็จ นั่นก็เป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้
1. อดอาหารมากเกินไป
ในช่วงเวลาที่ทานอาหารได้ 8 ชั่วโมง คุณควบคุมอาหารมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะจำศีล ลดการเผาผลาญ และเก็บสะสมพลังงานมากขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ทานได้ก็ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
2. ทานอาหารมากเกินไป
โดยเฉพาะคนที่ทานอาหาร “เผื่อ” ในช่วงที่อด เช่น ทานข้าว 2-3 จาน เพื่อให้ตอนอดอาหารไม่รู้สึกหิวจนเกินไป ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง เพราะการอดอาหารยังก็ต้องมีความหิวบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าลดความอ้วนโดยไม่รู้สึกหิวเลย แน่นอนว่าคงจะไม่ใช่การลดความอ้วนอย่างที่เข้าใจ
3. ต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด
เมื่อทำ IF แล้วยังทานของหวาน อาจทำให้เกิด “อาการติดหวาน” ส่งผลให้ไม่สามารถอดอาหารได้ เนื่องจากจะเกิดอาหารหิวมาก อ่อนเพลียเหมือนขาดพลังงาน ในท้ายที่สุดก็ต้องไปหาอะไรทานอยู่ดี แถมยังทานเยอะกว่าปกติอีกด้วย
4. นอนดึก
กลุ่มคนที่นอนดึกมักเสี่ยงที่จะอ้วนง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากระบบฮอร์โมนที่ซ่อมแซมร่างกาย และระบบความอิ่มในร่างกายรวน ทำให้คนนอนดึกไม่สามารถอดอาหารได้ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นควรเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. จะดีที่สุด
5. ไม่ออกกำลังกาย
การลดความอ้วนไม่ใช่แค่เพียงการควบคุมแคลอรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างระบบเผาผลาญที่ถาวรด้วย นั่นก็คือการสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เกิดอาหารโยโย่ในภายหลัง ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
ทั้งหมดที่เราบอกต่อคุณไปเมื่อสักครู่ ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่สนใจอยากเริ่มทำ IF ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นและอุปสรรคต่าง ๆ ที่การทำ IF ไม่สำเร็จของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป และหากมีโรคประจำตัวแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการตรวจระดับวิตามิน แร่ธาตุในเลือด หรือระดับฮอร์โมนในร่างกาย ก็จะช่วยให้การทำ IF มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น !