บุคคลธรรมดา หรือพนักงานประจำ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แถมยังสามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายว่าด้วย “การลดหย่อนภาษี” ได้อีกด้วย ซึ่งการลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ? ให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมได้มากแค่ไหน ? MrKumka ได้รวบรวมรายละเอียดที่เป็นประโยชน์มาให้แล้ว สำหรับพนักงานประจำ ไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันเลย
ไขข้อสงสัย ลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ?
เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือน ที่อยู่ในวัยทำงานหรือบุคคลธรรมดาที่มีรายได้หลายคน คงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าสามารถ “ลดย่อนภาษีอะไรได้บ้าง” เราได้ลิสต์มาให้แล้ว ดังต่อไปนี้
ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
- ลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป คนละ 30,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
- ลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม)
- ลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
กลุ่มงินออม และการลงทุน ประกัน ลดหย่อนภาษี ได้ มีอะไรบ้าง ?
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง (สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท เนื่องจากปี พ.ศ.2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม)
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ เมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
- ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
- ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับเงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
ลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ลดหย่อนภาษีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน 2565 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวม E-Book)
บุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อไหร่ ?
กรณีที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีเงินได้ ปกติจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป ยกเว้นเงินได้บางลักษณะ เช่น เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากการรับเหมา ฯลฯ จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)
ต้องมี “เงินได้” เท่าไหร่ ถึงจะต้องเสียภาษี ?
สำหรับ “เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ” ที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี สำหรับคนโสดและคนที่สมรสแล้ว มีหลักเกณฑ์ดังนี้
คนโสด
ประเภทเงินได้ | รายได้ต่อเดือน | รายได้ทั้งปี |
---|---|---|
เงินเดือน | 10,000 บาท | 120,000 บาท |
เงินได้ประเภทอื่น | 5,000 บาท | 60,000 บาท |
คนที่สมรสแล้ว
ประเภทเงินได้ | รายได้ต่อเดือน | รายได้ทั้งปี |
---|---|---|
เงินเดือน | 18,333 บาท | 220,000 บาท |
เงินได้ประเภทอื่น | 10,000 บาท | 120,000 บาท |
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อัตราภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี | ภาษีในแต่ละขั้น |
---|---|---|
1 - 150,000 | ได้รับยกเว้นภาษี | - |
150,001 - 300,000 | 5% | 7,500 |
300,001 - 500,000 | 10% | 20,000 |
500,001 - 750,000 | 15% | 37,500 |
750,001 - 1,000,000 | 20% | 50,000 |
1,000,001 - 2,000,000 | 25% | 250,000 |
2,000,001 - 5,000,000 | 30% | 900,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | - |
ขั้นตอนที่ 1: คำนวณเงินได้สุทธิ
สูตร: รายได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ขั้นตอนที่ 2: เทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ขั้นบันได)
สูตร: (เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด = ภาษีที่ต้องจ่าย
ยกตัวอย่าง: มีรายได้จากเงินเดือน 50,000 บาท รวมทั้งปี 600,000 บาท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 6,300 บาท (ปกติสูงสุด 9,000 บาท)แต่ในปีภาษี 2565 รัฐบาลมีการปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 2 ครั้ง เหลือเพียง 6,300 บาท
จะได้ “เงินสุทธิ” เท่ากับ 600,000 - 100,000 - 60,000 - 6,300 = 433,700 บาท จากนั้นให้นำเงินได้สุทธิไปเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งจะอยู่ระหว่างฐาน 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
หมายความว่า “ภาษีที่ต้องจ่าย” เท่ากับ (433,700 - 300,000) x 10% + 7,500 = 20, 870 บาทนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ.2566 มี “รายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐาน” มากมาย บางทีลดหย่อนไปลดหย่อนมา อาจไม่ต้องเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนที่มีเงินได้สูง รายการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ ก็ยังช่วยให้ “ประหยัดภาษี” ได้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นก่อนยื่นแบบภาษีหรือจ่ายภาษีอย่าลืมลดหย่อนภาษีกันด้วยล่ะ !