ซื้อรถยนต์มาครบปี มีเช็คลิสต์อะไรบ้างที่คุณต้องดูแล ?

แชร์ต่อ
ซื้อรถยนต์มาครบปี มีเช็คลิสต์อะไรบ้างที่คุณต้องดูแล ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

ตอนที่ตัดสินใจซื้อรถอะไร ๆ ดูง่ายไปหมด ทั้งเรื่องเอกสาร ประกันภัยรถยนต์ และอื่น ๆ ผู้ขายช่วยดูแลให้ครบทุกมิติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณต้องจัดการรถด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น ซื้อรถครบ 1 ปี มีอะไรที่ต้องทำ “ด้วยตัวเอง” บ้าง ? ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย การต่อภาษีรถยนต์ การต่อประกันรถ รวมถึงการขาย/เทิร์นรถ กรณีผ่อนไม่ไหวหรืออยากเปลี่ยนรถใหม่ หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมทุกประเด็นที่คุณสงสัยมาให้แล้ว ตามไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันเลย

ไขข้อข้องใจ ซื้อรถครบ 1 ปีต้องทำอะไรต่อ ?

ไขข้อข้องใจ ซื้อรถครบ 1 ปีต้องทำอะไรต่อ ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

แน่นอนว่าในตอนที่ตัดสินใจซื้อรถใหม่ ซื้อยานยนต์ครั้งแรก มี “เซลล์” เป็นคนจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้แทบทั้งหมด แต่หลังจากเวลาผ่านไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กลับมีเรื่องที่คนมีรถต้องจัดการด้วยตัวเองเต็มไปหมด แล้วจะต้องเริ่มจากตรงไหนก่อนดี? ตามไปดูพร้อม ๆ กันได้เลย

  • 1. ภาษีรถยนต์

    การต่อภาษีรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่คนมีรถทุกคนจำเป็นต้องให้ความใส่ใจทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งประเภท ที่เจ้าของรถต้องจ่ายให้กับการขนส่งทางบก โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถ เช่น อายุ น้ำหนัก และกำลังเครื่องยนต์ ซึ่งรถยนต์แต่ละประเภทจะมีภาษีที่ต้องจ่ายต่างกันออกไป

    หลังจากที่จ่ายหรือต่อภาษีรถยนต์เรียบร้อยแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะส่ง “แผ่นป้ายภาษีรถยนต์” หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันจนคุ้นปากว่าป้ายกระดาษสี่เหลี่ยม มาให้กับเจ้าของรถภายใน 10 วัน และมีการระบุวัน เดือน ปีที่หมดอายุไว้อย่างชัดเจน

  • 2. พ.ร.บ.รถยนต์

    หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้อีกหนึ่งอย่าง คือ พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ต้องต่อเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็น “ประกันภัยภาคบังคับ” ที่กำหนดให้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ไฟฟ้า รวมถึงพลังงานอื่นต้องทำ เพื่อคุ้มครองตัวคุณ คู่กรณี ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน

  • 3. ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

    ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้ ไม่ได้ถูกบังคับด้วยข้อกฎหมาย (ทำหรือไม่ทำก็ได้) หากคุณต้องการความสบายใจ และต้องการได้รับ “ความคุ้มครองเพิ่มเติม” การเลือกซื้อประกันภัยภาคสมัครใจติดเอาไว้ นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี แต่ละแผนประกันจะมี “ค่าใช้จ่าย” ที่แตกต่างกันออกไป

  • เช่น ประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาสูงกว่าประกันรถยนต์ทั่ว ๆ ไป หรือประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แพงที่สุด เนื่องจากให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากกว่า แต่ต้องบอกก่อนว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับทุกคน แนะนำให้เลือกแผนประกันที่เหมาะสม ด้วยการสำรวจไลฟ์สไตล์การขับขี่ รวมถึงควรเปรียบเทียบประกันรถยนต์แต่ละแผน แต่ละราคา ของแต่ละบริษัทให้ดีก่อน เพื่อให้คุณต่อประกันรถที่ตอบโจทย์ ราคาสบายกระเป๋า

  • 4. ค่าดูแลรักษารถยนต์

    ไม่ว่ารถยนต์คู่ใจที่คุณตัดสินใจซื้อมาเมื่อ 1 ปีที่แล้ว จะเป็นรถใหม่, รถยนต์ไฟฟ้า, รถมือสองราคาถูก, รถกระบะมือสอง หรือใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีการตรวจเช็คระยะรถตามตารางที่กำหนด โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นประจำ หรือเช็คอะไหล่อื่น ๆ เผื่อถ้าหากว่าเกิดความเสียหาย ทั้งจากการใช้งานหรือจากการเสื่อมสภาพ จะได้ดูแลได้อย่างถูกต้อง และยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ให้ยาวนานกว่าเดิม

ว่าด้วยเรื่องต่อประกันรถที่ใหม่ vs ที่เดิม แบบไหนตอบโจทย์กว่า ?

ค่ายรถยนต์หลายค่ายมักมีโปรโมชั่น “แถมประกันรถยนต์” เมื่อคุณตัดสินใจซื้อรถตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่เมื่อใช้รถจนใกล้ครบปี หลายคนก็เกิดความสงสัยว่า ควรต่อประกันรถที่เดิม หรือเปลี่ยนไปต่อประกันกับเจ้าใหม่ดีกว่า?

แน่นอนว่าคนที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็คือ “ตัวคุณเอง” แต่ถ้าหากคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกว่าควรเลือกแบบไหน มิสเตอร์ คุ้มค่า มีเกณฑ์การพิจารณาก่อนต่อประกันรถมาให้ทำความเข้าใจดังนี้

  • ความคุ้มครอง หากประกันที่ซื้อไว้คุ้มครองไม่ครอบคลุมเท่าที่ต้องการ เช่น ไม่คุ้มครองกรณีรถหาย รถชนแบบไม่มีคู่กรณี น้ำท่วม หรืออื่น ๆ ก็สามารถนำมาเป็นข้อพิจารณาได้เช่นกัน
  • สถานที่ตั้งศูนย์บริการ หากศูนย์บริการกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ จะช่วยให้คุณเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น แถมยังรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน แนะนำว่าควรตรวจสอบจำนวนอู่ซ่อมรถในเครือด้วย ว่าครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไหม เพื่อป้องกันกรณีเกิดอุบัติเหตุเมื่อเดินทางไปต่างจังหวัด
  • การบริการของบริษัทประกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รับแจ้งอุบัติเหตุ บริการ Call Center เข้าช่วยเหลือรวดเร็วแค่ไหน เคลมช้าหรือไม่ เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองที่อุ่นใจตลอดกรมธรรม์
  • บริการอื่น ๆ เช่น บริการรถให้ใช้ระหว่างซ่อม เกิดอุบัติเหตุต้องนำรถเข้าซ่อมนาน จะได้มีรถไว้ใช้งานชั่วคราวก่อน หรือบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน เผื่อว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน แบตหมด น้ำมันหมด เป็นต้น

ใช้รถมา 1 ปี แต่ไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเลย เป็นอะไรไหม ?

ต้องบอกก่อนว่า “น้ำมันเครื่องรถยนต์” มีหน้าที่ในการช่วยหล่อลื่นให้กับเครื่องยนต์ รวมถึงช่วยให้เครื่องยนต์สะอาดอยู่เสมอ หากในระยะเวลา 1 ปี หรือตามระยะที่กำหนดคุณไม่เคยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเลย แน่นอนว่าจะทำให้ไส้กรองน้ำมันเครื่องอุดตัน สิ่งสกปรกต่าง ๆ จะถูกบังคับให้ไหลเวียนกลับเข้าไปในเครื่องยนต์

ในท้ายที่สุดสิ่งที่เครื่องยนต์ต้องเจอคือการทำงานท่ามกลางสิ่งสกปรกต่าง ๆ ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น รถของคุณจึงมีกำลังแรงเร่งที่ลดลง แถมยังทำให้เปลืองน้ำมันมากขึ้น รวมไปถึงลุกลามให้ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์อื่น ๆ เสียหาย หมายความว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ค่าน้ำมัน เพราะฉะนั้นแนะนำให้เช็ครถตามระยะที่กำหนดจะดีที่สุด

อยากเทิร์นรถเก่า 1 ปี ซื้อรถใหม่ ทำยังไงไม่ให้เสียเปรียบ ?

หากคุณเป็นคนเบื่อง่าย ซื้อรถมา 1 แล้วแล้วอยากซื้อรถใหม่ จึงเกิดความสงสัยว่าถ้าอยาก “เทิร์นรถ” จะต้องทำยังไงไม่ให้เสียเปรียบ มีอะไรที่คนอยากขายรถมือสองต้องรู้บ้าง ไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

  • 1. ประเมินราคารถยนต์

    ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเทิร์นรถหรือขายรถก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือประเมินราคารถยนต์ จากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ หรืออาจจะสอบถามจากเต็นท์รถหลาย ๆ ที่ ขึ้นอยู่กับความสะดวกใจของแต่ละคนเป็นหลัก

  • 2. หาดีลเลอร์ที่น่าเชื่อถือ และมีข้อเสนอที่ดี

    ดีลเลอร์หรือเต็นท์รถมือสอง ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะมือสอง หรืออื่น ๆ ส่วนใหญ่มักรับเทิร์นรถอยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเทิร์นหรือขายรถมือสองมากจนเกินไป แนะนำให้อ่านรีวิว รวมถึงตรวจสอบก่อนว่าดีลเลอร์หรือเต็นท์รถนั้น ๆ มีชื่อเสียงหรือไม่ มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้อย่าลืมดูในเรื่อง “ข้อเสนอ” ด้วย ว่าดีต่อคุณแค่ไหน

  • 3. เจรจาและทำการแลกเปลี่ยน

    เมื่อคุณตัดสินใจเทิร์นหรือขายรถมือ 2 ดีลเลอร์หรือเต็นท์รถจะตรวจสอบ พร้อมนำเสนอราคารถให้ กรณีที่คุณหาข้อมูลในเรื่องของราคารถยนต์มาก่อนแล้ว แนะนำให้เจรจาเพื่อต่อรองให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ขอ “ใบเสนอราคา” จากดีลเลอร์หลาย ๆ แห่งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจครั้งสุดท้าย

    หลังจากตัดสินใจถี่ถ้วนและตกลงราคาที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายได้แล้ว ให้เตรียมเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดให้พร้อม รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เล่มรถ เอกสารอื่น ๆ เพราะยิ่งเอกสารครบเท่าไหร่ ยิ่งเทิร์นรถได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ซื้อรถครบ 1 ปี แต่ผ่อนไม่ไหวควรทำยังไง คืนรถได้ไหม ?

อีกหนึ่งประเด็นที่หลาย ๆ คนสงสัย และจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ หากซื้อรถครบ 1 ปี แล้วรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหวควรทำยังไงต่อ? ขายรถดีไหม? หรือคืนรถได้หรือเปล่า? กรณีที่ต้องการคืนรถกรณีที่ผ่อนไม่ไหว สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ “สัญญาเช่าซื้อ” เป็นตัวชี้วัดว่าคุณต้องเสียส่วนต่างหรือไม่ หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  • 1. กรณีเป็นคนประวัติดี จ่ายตรงมาตลอด

    หากที่ผ่านมาคุณมีประวัติการผ่อนชำระค่างวดที่ดี จ่ายตรงทุกงวด แต่อยู่ดี ๆ ก็ผ่อนไม่ไหว สามารถคืนรถให้กับบริษัทไฟแนนซ์ได้โดยไม่เสียส่วนต่าง เพียงแค่ติดต่อและแจ้งความประสงค์ จากนั้นจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบ “ยกเลิกสัญญา” มีผลทันที ไม่จำเป็นต้องผ่อนต่ออีกแล้ว

  • 2. กรณีเป็นคนประวัติไม่ดี

    สำหรับคนที่ประวัติไม่ดี ขาดส่งค่างวดรถเป็นเวลา 3 เดือน จะถูก “ยึดรถ” และมีภาระหนี้ผูกพันตามมา เนื่องจากในสัญญาเช่าซื้อรถบุว่า “ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน พร้อมเคลียร์ค่างวดที่ค้างชำระทั้งหมด และยินยอมรับผิดในกรณีนำรถออกขายรถขาดราคา”

หมายความว่าเจ้าของรถจะต้องจ่ายหนี้ที่คงค้างเอาไว้ให้เรียบร้อย หากเพิกเฉยหรือทำเนียน ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย บริษัทไฟแนนซ์โทรไปก็ไม่รับ หากเกินระยะเวลาที่กำหนดบริษัทฯ จะไม่ส่งคนมาตาม แต่จะส่ง “หมายศาล” มาแทน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะติดขัดในเรื่องใด ๆ แนะนำว่าควรไกล่เกลี่ยและชี้แจงไปตรง ๆ จะดีที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผ่อนรถไม่ไหวยังมี “ทางเลือกอื่น” ให้คุณพิจารณาเพิ่มเติม (กรณีไม่อยากคืนรถ) ไม่ว่าจะเป็นการขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรีไฟแนนซ์ รวมถึงการเปลี่ยนสัญญา ขึ้นอยู่กับว่าคุณสะดวกใจที่จะเลือกแบบไหนมากกว่า

ในการตัดสินใจซื้อรถ เป็นอะไรที่ง่ายมาก แค่หาข้อมูลรถ เตรียมเงิน เตรียมเอกสารนิดหน่อย และอื่น ๆ ที่จำเป็นให้พร้อมก็สามารถออกรถใหม่ แต่หลังจากได้มันมาเป็นเจ้าของ มีอะไรให้คุณทำความเข้าใจเพียบ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ตามมาทั้งการดูแลรักษา การต่อภาษีรถยนต์ การต่อประกันรถ ยิ่งถ้าเป็นกรณีขายรถมือสอง ยิ่งมีเรื่องที่ต้องคิดอีกเพียบ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามทั้งก่อนซื้อหรือก่อนขาย ควรหาข้อมูลให้ดีประโยชน์ของตัวคุณเอง

คำจำกัดความ
​​ข้องใจ ​ติดใจสงสัย, ยังไม่สิ้นสงสัย
​สัญญาเช่าซื้อ ​สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินของตนออกให้ผู้อื่นเช่า เพื่อใช้สอยหรือเพื่อให้ได้ประโยชน์ และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้น หรือจะให้ทรัพย์สินที่เช่าตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อเมื่อได้ใช้เงินจนครบตามที่ตกลงไว้ โดยการชำระเป็นงวดๆจนครบตามข้อตกลง
​เทิร์นรถ ​การขายรถคันปัจจุบันให้กับดีลเลอร์ (เต็นท์รถ พ่อค้าคนกลาง บุคคลทั่วไป) เพื่อไปแลกรถใหม่ หรือซื้อรถคันใหม่​

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่