ปัญหาเกียร์ค้าง เกียร์หลุด สาเหตุเกิดจากอะไร และจะรับมือได้ยังไงบ้าง ?

แชร์ต่อ
ปัญหาเกียร์ค้าง เกียร์หลุด สาเหตุเกิดจากอะไร และจะรับมือได้ยังไงบ้าง ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

ความผิดปกติของตัวรถขณะขับขี่คงไม่มีใครอยากเผชิญ หนึ่งอาการที่น่ากลัวคือเรื่องเกียร์ เกียร์ค้าง หรือ เกียร์หลุด เกียร์มีปัญหา เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แล้วถ้าต้องเจอกับเหตุการณ์เกียร์มีปัญหาเพียงลำพังตอนอยู่บนรถจะต้องรับมือยังไง ? ไม่ให้เปิดอุบัติเหตุ มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมทุกประเด็นมาให้แล้ว ผู้ใช้รถทุกคนไปทำความเข้าใจกันเลยในบทความนี้

เกียร์ค้าง เกียร์หลุดเกิดจากอะไร ? มีอาการยังไงบ้าง ?

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกียร์หลุด จริง ๆ แล้วเกิดได้จากหลายสาเหตุ และแต่ละสาเหตุก็ทำให้เกิดอาการเกียร์ค้างแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • 1. คลัตช์สึกหรอ

    เมื่อพูดถึง “คลัตช์” แน่นอนว่าหลายคนคงคิดว่ามีแค่ในรถเกียร์ธรรมดา น้อยคนที่จะรู้ว่ารถเกียร์ออโต้ก็มีคลัตช์ด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่คลัตช์หมดหรือสึกหรอจากการใช้งาน ก็มีส่วนทำให้การเปลี่ยนเกียร์มีปัญหาได้เช่นกัน

  • 2. น้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพ

    อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนมักมองข้ามและพลาดไป เพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง โดยไม่สนใจการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ซึ่งการใช้รถที่ไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเกียร์เลย ส่งผลให้เกียร์พัง รวมถึงเกิดอาการเกียร์หลุดได้เช่นกัน

  • 3. บูชคันเกียร์แตก

    หนึ่งในปัญหายอดนิยมที่ทำให้หลาย ๆ คนเข้าเกียร์ไม่ได้ เนื่องจากบูชคันเกียร์มีหน้าที่ในการ “รองรับการเปลี่ยนเกียร์” และวัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะรถค่ายไหนล้วนเป็นพลาสติก จึงทำให้เกิดปัญหาการแตก พัง หรือหลวมได้ง่าย

อย่างที่บอกไปแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เกียร์ค้าง เกียร์หลุด มักทำให้เกิดอาการแตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่คันเกียร์ลื่น เข้าเกียร์ยาก คันเกียร์แข็งหรืออื่น ๆ แต่ที่ร้ายแรงที่สุด คือ อาการเปลี่ยนเกียร์เอง แน่นอนว่าสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมากเลยทีเดียว

หากรถยนต์ของคุณประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังจากที่เกิดอาการเกียร์หลุด เกียร์ค้าง ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ แม้จะเป็นประกันภัยรถยนต์ ซ่อมศูนย์หรือซ่อมอู่ ก็ให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าลังเลที่จะซื้อประกันเด็ดขาด ถ้าไม่รู้จะซื้อแบบไหน กับบริษัทใด สามารถเข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ก่อนได้ เรายินดีนำเสนอแผนความคุ้มครองให้คุณอย่างดีที่สุด แถมค่าเบี้ยยังสบายกระเป๋าอีกด้วย

ว่าด้วยเรื่องการดูแลรถยนต์ รถกี่ปีต้องตรวจสภาพ ?

ถ้าไม่อยากปวดหัวกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากระบบเกียร์หรือระบบต่าง ๆ มีปัญหา จำเป็นต้องรู้ก่อนว่ารถยนต์กี่ปี ต้องตรวจสภาพ หากอ้างอิงตามกฎของกระทรวงตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ระบุไว้ดังนี้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป

หมายความว่ารถยนต์ไม่ว่าจะรถเล็กหรือรถใหญ่ ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก) ควรตรวจสภาพรถเพราะนอกจากจะเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังเพื่อการต่อภาษีและง่ายต่อการต่อประกันรถยนต์อีกด้วย

และถ้าหากถามว่านำรถไปตรวจสภาพได้ที่ไหนบ้าง ? ปัจจุบันสามารถเดินทางไปตรวจเช็ครถได้ที่ “สถานตรวจสภาพรถเอกชน” ได้อย่างอิสระ แต่ราคาตรวจสภาพรถจะแพงกว่าที่กรมขนส่งประมาณ 200-300 บาทต่อครั้ง ซึ่งปกติแล้วกรมขนส่งจะกำหนดตรวจสภาพรถยนต์ ราคาดังนี้

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
  • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
*หมายเหตุ: กรมขนส่งทางบกจะรับตรวจสภาพรถที่ขาดการต่อภาษีมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือรถที่ไม่สามารถไปตรวจที่ตรอ.ได้ เนื่องจากต้องได้รับการตรวจละเอียดเท่านั้น

อันตรายจากการรับมือเมื่อเกียร์หลุดแบบผิด ๆ มีอะไรบ้าง ?

อันตรายจากการรับมือเมื่อเกียร์หลุดแบบผิด ๆ มีอะไรบ้าง ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

แน่นอนว่าเมื่ออยู่ดี ๆ ระบบเกียร์มีปัญหา หลายคนมักตกใจและใช้วิธีรับมือแบบทันทีทันใด ซึ่งมันอาจเป็นวิธีที่ผิดและอาจทำให้เกิดอันตรายมากกว่าที่คิด จะมีอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่มักทำผิดแบบไม่ทันคิด ไปดูกันเลย

  • 1. เข้าเกียร์ว่าง

    การเข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N ทันทีที่เกียร์หลุด เกียร์ค้าง เพื่อหวังให้รถหยุดเคลื่อนที่ไปข้างหน้า พร้อมกับเหยียบเบรค นอกจากจะไม่ทำให้รถหยุดแล้ว ยังทำให้รถของคุณถอยหลังเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย

  • 2. พยายามเปลี่ยนเกียร์

    นอกจากจะพยายามเปลี่ยนเกียร์แล้ว ยังตามด้วยการเหยียบคันเร่ง เช่น เกียร์หลุดอยู่ที่เกียร์ R จึงพยายามเปลี่ยนไปที่เกียร์ D พร้อมกับเหยียบคันเร่งส่ง แบบนี้ก็จะทำให้รถยิ่งถอยหลังเร็วกว่าเดิมเช่นเดียวกัน แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

  • 3. ดึงเบรคมือขึ้น

    หนึ่งในวิธีหยุดรถที่หลาย ๆ คนมักเลือกทำในสถานการณ์คับขัน คือ “ดึงเบรคมือ” นอกจากมันจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้รถยนต์คู่ใจของคุณได้รับความเสียหายตามมา

จะเห็นได้ว่าการรับมือแบบผิด ๆ ทั้ง 3 ข้อที่เราบอกไปเมื่อข้างต้น นอกจากจะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้รับความเสียหายแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย แล้วแบบนี้จะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไงถึงจะถูกต้อง เหมาะสม ตามไปทำความเข้าใจในหัวข้อต่อไปกันได้เลย

5 ขั้นตอนรับมือเมื่อเกียร์หลุด เกียร์ค้าง อย่างถูกต้อง ควรทำยังไง ?

รู้อาการความผิดปกติ การรับมือแบบบที่ไม่ควรทำไปแล้ว และจะดีกว่าไหม หากคุณรู้วิธีจัดการกับปัญหาอย่างถูกต้องอย่าง “เป็นขั้นเป็นตอน” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและลดความเสียหายเมื่อเกียร์มีปัญหา และต่อไปนี้คือวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์เกียร์ค้าง เกียร์หลุดอย่างถูกต้องทั้ง 5 ขั้นตอน ไปดูกันเลย

  • 1. ตั้งสติ

    ไม่ว่าสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้น จะน่ากลัว น่ากังวลแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือ “ตั้งสติ” เพราะถ้าหากตกใจหรือประคองสติไม่ได้ อาจเผลอใช้วิธีผิด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวรถ และชีวิตของคุณได้ แนะนำให้ตั้งสติพร้อมกับเหยียบเบรคก่อนเป็นอันดับแรก

  • 2. ห้ามดึงเบรคมือเด็ดขาด

    อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การดึงเบรคมือทันทีนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้รถของคุณได้รับความเสียหายตามมา เช่น เครื่องกระตุก ระบบภายในเกิดความผิดปกติหรือเสียหาย และตามมาด้วยค่าซ่อมที่แพงขึ้นได้

  • 3. กดปุ่มสัญญาณไฟฉุกเฉิน

    หลังจากพยายามเหยียบเบรคเพื่อให้รถหยุดแล้ว แนะนำให้เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อนำรถเข้าข้างทางทันที เพื่อเป็นการแจ้งเตือนรถคันอื่น ๆ ให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง และไม่ขับมาชนท้ายคุณ

  • 4. เข้าเกียร์ P

    เมื่อนำรถเข้าข้างทางหรือในจุดที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ให้พยายามผลักเกียร์หรือดึงเกียร์กลับมาที่เกียร์ P เพื่อให้รถจอดนิ่งสนิท จากนั้นก็ดับเครื่องทันที ย้ำแบบเน้น ๆ เลยว่าอย่าเปลี่ยนเป็นเกียร์ D หรือเกียร์ R เด็ดขาด เพราะมันจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ

  • 5. ติดต่อช่าง

    หลังจากทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการติดต่อช่างซ่อมรถหรือศูนย์บริการรถยนต์ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและรีบแก้ไขตามขั้นตอนที่ถูกต้องต่อไป

เกียร์หลุด เกียร์ค้างป้องกันได้ยังไงบ้าง ?

กรณีที่ไม่อยากพบเจอกับเหตุการณ์สุดระทึกใจ อาการเกียร์หลุด เกียร์ค้าง “สามารถป้องกันได้” แต่จะมีวิธีไหนที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้บ้าง ? ตามไปดูกันเลย

  • ไม่ซ้อนพรมหรือผ้ายางเกิน 1 ชั้น เพราะอาจทำให้คันเร่งติดค้างที่พรมหรือผ้ายางได้
  • บริเวณที่นั่งคนขับต้องไม่มีสัมภาระหรือสิ่งของใด ๆ เช่น รองเท้า ขวดน้ำ วางเกะกะเด็ดขาด
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงในการขับรถ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรคได้เต็มฝ่าเท้า
  • ในการใส่หรือเปลี่ยนเกียร์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในตำแหน่งใด ๆ ก็ตาม ให้เหยียบเบรคก่อนเสมอ จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยแป้นเบรคที่เท้า ให้รถเคลื่อนที่ออกไปช้า ๆ เพื่อดูว่าตำแหน่งเกียร์นั้น ๆ ทำให้รถเคลื่อนที่ออกไปตามที่ต้องการหรือไม่ แล้วถึงค่อยเหยียบคันเร่งตาม
  • ห้ามปล่อยเบรคอย่างรวดเร็วและเหยียบคันเร่งตามในทันที เพราะถ้าหากเกียร์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง รถจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และทำให้ตกใจจนควบคุมสถานการณ์ได้ยาก และเกิดอุบัติเหตุตามมา

นอกจากจะทำตามวิธีป้องกันที่เรานำมาบอกต่อแล้ว การนำรถไปตรวจสภาพรถหรือให้การดูแลรถยนต์อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้ดีมาก ๆ และอย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันเกียร์เมื่อถึงกำหนดด้วย เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณเดินทางได้อย่างอุ่นใจแล้วล่ะ

ขอย้ำอีกครั้งว่าหากไม่อยากเจอกับสถานการณ์เกียร์ค้าง เกียร์หลุด แนะนำให้นำวิธีป้องกันที่ มิสเตอร์ คุ้มค่า นำมาบอกต่อไปปรับใช้ รวมถึงควรตรวจสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ก็ควรเปลี่ยน เพราะนอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดีมาก ๆ อีกด้วย

คำจำกัดความ
​​บูชคันเกียร์ ​ตัวช่วยล็อกให้เกียร์อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
​ผ้ายาง ​แผ่นยาง หรือพลาสติกที่ใช้ปู่ที่นอน เบาะ พื้น เพื่อกันเปื้อน
ตรอ. ​สถานตรวจสภาพรถเอกชน​

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่