รถความร้อนขึ้น เกิดจากอะไร ? ขับต่อได้ไหม ? ข้อควรรู้ก่อนรถพัง

แชร์ต่อ
รถความร้อนขึ้น เกิดจากอะไร ? ขับต่อได้ไหม ? ข้อควรรู้ก่อนรถพัง | มิสเตอร์ คุ้มค่า

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่ารถความร้อนขึ้นมาบ้างแล้ว แต่อาจจะเลือกไม่สนใจเท่าไหร่นัก เพราะมองว่า “เป็นเรื่องไกลตัว” แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการรถร้อนจน “เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท” นั้นรุนแรงเสียหายกว่าแค่ลมยางอ่อนมากนัก และตามมาด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมหลักหมื่นถึงหลักแสนได้เลย ไม่ดูแลรถให้ดีมีเสี่ยงทุกคัน มิสเตอร์ คุ้มค่า จึงได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจทั้งสาเหตุ วิธีแก้รถความร้อนขึ้น และอื่น ๆ ที่คนมีรถควรรู้เอาไว้ ตามไปดูได้เลยในบทความนี้

รถความร้อนขึ้น คืออะไร ? ควรขับต่อหรือพอแค่นี้ ?

อาการรถความร้อนขึ้นเกิดจากห้องเครื่อง ร้อนผิดปกติหรือพูดง่าย ๆ ว่าร้อนเกินกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปเครื่องยนต์จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 80-100 องศาเซลเซียส ในกรณีที่รถร้อนกว่าปกติ สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นที่ “ระบบระบายความร้อน”

แนะนำว่าไม่ควรฝืนขับต่อเด็ดขาด ควรหาที่ปลอดภัยและรีบจอดรถให้เย็นลงทันที หลังจากนั้นให้เดินทางไปยังอู่ใกล้เคียงเพื่อตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องพบเจอกับค่าซ่อมที่ตามมามหาศาล

รถความร้อนขึ้น เกิดจากอะไร ?

รถความร้อนขึ้น เกิดจากอะไร ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

อีกหนึ่งคำถามที่คนมีรถเกิดความสงสัยมากที่สุดในประเด็นนี้ คือ รถความร้อนขึ้น เกิดจากอะไร ? ในความเป็นจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ถ้าอย่างนั้นเราไปเจาะลึกกันเลยดีกว่า

  • 1. ปิดฝาหม้อน้ำไม่สนิท

    หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถความร้อนขึ้น อาจเป็นเพราะปิดฝาหม้อน้ำไม่สนิทก็เป็นได้ ในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานน้ำหล่อเย็นอาจถูกดันออกมา และทำให้ระดับน้ำในหม้อพักที่คอยส่งไปหล่อเย็นลดลง เมื่อมีน้ำหล่อเย็นไม่เพียงพอจะทำให้รถร้อน เครื่องยนต์รถร้อนขึ้นได้

  • 2. วาล์วน้ำไม่ทำงาน

    “วาล์วน้ำรถยนต์” เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญ หากไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เครื่องยนต์จะระบายความร้อนไม่ได้ และเกิดการสึกหรออย่างหนักจนบิดเบี้ยว

  • 3. หม้อน้ำรั่วซึม

    หนึ่งในปัญหายอดนิยมที่พบได้บ่อยเมื่อรถความร้อนขึ้น คือ “หม้อน้ำรั่วซึม” ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน หรือมีวัตถุไปกระแทกจนเกิดรอยรั่ว ส่งผลให้น้ำในหม้อน้ำลดลงจนช่วยระบายความร้อนได้น้อย จนท้ายที่สุดทำให้รถร้อนกว่าปกตินั่นเอง

    วิธีเช็คหม้อน้ำรั่วป้องกันรถร้อนผิดปกติ มีอะไรบ้าง ?

    หากไม่อยากเผชิญหน้ากับเหตุการณ์รถความร้อนขึ้น เนื่องจากหม้อน้ำรั่วซึม วันนี้เรามีเช็คมาให้ทำความเข้าใจคร่าว ๆ จะมีอะไรบ้าง ? เช็คยากไหม ? ตามไปดูกันเลย

    1. สังเกตใต้ท้องรถในตำแหน่งหม้อน้ำ

      หมั่นสังเกตว่ามีน้ำหยดลงมาหรือไม่ หากไม่พบแสดงว่าหม้อน้ำยังปกติ แต่ถ้ามีน้ำหยดใต้ท้องรถเมื่อไหร่ล่ะก็ ควรนำรถไปตรวจเช็คเพื่อแก้ไขทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานอาจทำให้ห้องเครื่องร้อนผิดปกติได้

    2. สังเกตคราบน้ำบริเวณหม้อน้ำ

      เช็คว่าหม้อน้ำมีคราบน้ำไหลออกมาในส่วนไหนหรือไม่ หากเป็นน้ำยาหล่อเย็นจะมีลักษณะเป็นสีสะท้อนแสง ช่วยให้มองหาจุดที่หม้อน้ำรั่วได้ง่ายขึ้น

    3. เช็คส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหม้อน้ำ

      บางครั้งการรั่วซึมที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เกิดบริเวณหม้อน้ำโดยตรง แต่อาจเกิดจากส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่อยาง ฝาหม้อน้ำ หางปลาหม้อน้ำขันไม่แน่น เป็นต้น

    4. ลองเติมน้ำหล่อเย็นให้เต็ม

      นอกจากจะลองเติมน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำให้เต็มแล้ว ยังควรเติมในกระปุกหม้อพักน้ำให้อยู่ในระดับ Max ด้วย จากนั้นจอดทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วค่อยมาดูอีกทีในตอนเช้าวัดถัดไป ว่าระดับน้ำยังอยู่ปริมาณเท่าเดิมหรือว่าลดลง

  • 4. พัดลมหม้อน้ำเสีย

    อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญที่มีหน้าที่ระบายความร้อน คือ พัดลมหม้อน้ำ หากชำรุดหรือเสียหายขึ้นมาจะทำให้รถความร้อนขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่นาน

  • 5. ท่อน้ำชำรุดหรืออุดตัน

    หากท่อน้ำมีรอยรั่วหรืออุดตันจากการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือจอดรถใต้ต้นไม้แทบทั้งวัน เมื่อชำรุด เสียหาย เสื่อมสภาพ ทำให้รถร้อนได้เช่นกัน

  • 6. ปั๊มน้ำชำรุด

    หากปั๊มน้ำชำรุดบอกตรงนี้เลยว่า “ระบบหล่อเย็น” จะไม่สามารถทำงานได้เลย เนื่องจากมันมีหน้าที่ในการปั๊มน้ำหล่อเย็น ไปหมุนเวียนระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์ หากไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ รถความร้อนขึ้นแน่นอน

กรณีที่อะไหล่ต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย จนทำให้รถความร้อนขึ้น หรือห้องเครื่องร้อนผิดปกติจนชิ้นส่วน/อะไหล่ต่าง ๆ พังตามไปด้วย จะไม่สามารถเคลมประกันภัยรถยนต์ได้ เว้นแต่หม้อน้ำรั่วเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุรถชน ก้อนหินกระเด็นใส่ ฯลฯ หากคุณกำลังมองหาประกันที่ให้ความคุ้มครองประเด็นนี้ มิสเตอร์ คุ้มค่า ยินดีมอบความคุ้มครองราคาสบายกระเป๋าให้คุณ เข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์กับเราก่อนได้เลย

วิธีแก้ รถความร้อนขึ้น ขับต่อไม่ไหว ต้องทำยังไง ?

ในกรณีที่ขับรถอยู่ดี ๆ แล้วปรากฏว่ารถความร้อนขึ้น ขับต่อไม่ไหว แนะนำให้ตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป จากนั้นให้ทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รีบมองหาไหล่ทางหรือจุดที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางจราจร จากนั้นพยายามประคองรถไปจอดให้เร็วที่สุด
  • อย่าเพิ่งรีบดับเครื่องในทันที ปล่อยให้เครื่องเดินเบาและรอให้เครื่องเย็นลง จากนั้นสังเกตว่าเข็มที่มาตรวัดความร้อนลดลงหรือไม่
  • หากเข็มยังไม่ลดลงให้ดับเครื่อง พร้อมเปิดฝากระโปรงหน้ารถเพื่อระบายความร้อนประมาณ 30 นาที
  • เปิดฝาหม้อน้ำ ด้วยการหาผ้ามารองมือก่อน และอย่าเอาหน้าเข้าไปใกล้เพราะอาจมีไอน้ำพุ่งสวนมาได้
  • ค่อย ๆ เติมน้ำเปล่าลงไป เมื่ออาการรถร้อนเริ่มดีขึ้นให้ขับไปอู่ใกล้ ๆ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
  • หลังจากซ่อมตามอาการเรียบร้อยแล้ว ควรเติมน้ำยาหล่อเย็นเพื่อดูแลหม้อน้ำ ไม่ให้ร้อนเร็วเกินไป แถมยังช่วยถนอมหม้อน้ำให้ใช้งานได้นานกว่าเติมน้ำเปล่าอีกด้วย

4 จุดต้องเช็ค เลี่ยงรถความร้อนขึ้นมีอะไรบ้าง ?

ถ้าจะให้พูดกันตามตรงห้องเครื่อง ร้อนผิดปกติ หรือรถความร้อนขึ้น เกิดจากการปล่อยปละละเลยการดูแลรักษารถยนต์ที่ถูกต้อง เหมาะสม โดยเฉพาะการดูแลระบบระบายความร้อน และถ้าหากคุณอยากจะเริ่มดูแลตอนนี้ จะต้องเริ่มจากตรงไหนบ้าง? มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์มาให้เรียบร้อยแล้ว

  • 1. น้ำยาหล่อเย็น

    การเติมน้ำยาหล่อเย็นลงไปในหม้อน้ำ(บางผู้จำหน่ายผสมมาให้แล้ว) เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะน้ำยาดังกล่าวมีคุณสมบัติในการทำให้ “จุดเดือด” ของน้ำสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส หรือพูดง่าย ๆ ว่าทำให้น้ำเดือดช้ากว่าปกติ แน่นอนว่ามันจะช่วยลดปัญหาการระเหยกลายเป็นไอ ที่ทำให้รถร้อน รถความร้อนขึ้นเนื่องจากน้ำลดลงได้ดีมาก ๆ

  • 2. หม้อน้ำ หม้อพักน้ำ

    แนะนำให้ตรวจเช็คหม้อน้ำหรือหม้อพักน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรตรวจเช็คทันที ควรรอให้เครื่องยนต์เย็นลงก่อน เพราะถ้าหากเปิดทันที “แรงดัน” ของน้ำที่เดือดจัดจะพุ่งใส่จนเป็นอันตรายได้

    หลังจากเปิดแล้วให้เช็คว่าระดับน้ำลดลงหรือไม่ หากระดับลดให้เติมน้ำเข้าไปใหม่ ในส่วนของหม้อพักน้ำก็เช่นกัน ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ระหว่าง Min กับ Max เสมอ แต่ถ้าพบว่าทั้งสองอย่างน้ำลดลงผิดปกติ แนะนำให้ตรวจเช็คการรั่วซึม และรีบแก้ไขทันที

  • 3. พัดลมหม้อน้ำ สายพาน

    หนึ่งในชิ้นส่วนที่เจ้าของรถสามารถตรวจสอบได้เองง่าย ๆ คือพัดลมและสายพาน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีผลต่อระบบระบายความร้อนโดยตรง เริ่มเช็คด้วยการเปิดกระโปรงหน้ารถแล้วสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อดูว่าพัดลมยังหมุนปกติหรือไม่แต่อย่าเอามือไปแตะหรือจับเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้

    ส่วน “สายพาน” ปกติจะอยู่หน้าเครื่อง ปัจจุบันมีแค่เส้นเดียวแต่คุมการทำงานทั้งหมด วิธีเช็คคือ “ฟังเสียง” ว่ามีเสียงดังผิดปกติไหม แนะนำให้ฟัง 3 ช่วง คือ ช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์ ช่วงเร่งเครื่อง และช่วงดับเครื่อง ถ้าไม่มีเสียงผิดปกติและสภาพยังดีอยู่ สามารถใช้งานสายพานเส้นนี้ได้อีกยาว ๆ

  • 4. มาตรวัด

    สิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยคือ “มาตรวัดความร้อน” บางรุ่นอาจเป็นสัญญาณไฟ บางรุ่นเป็นเข็ม โดยวิธีเช็คง่าย ๆ ดังนี้

    • แบบเข็ม: พบได้บ่อยในรถรุ่นเก่าหรือรุ่นเริ่มต้น ซึ่งจะอยู่บนแผงหน้าปัดที่เป็นตัวอักษร C (Cool) และ H (Hot) และมีเข็มชี้บอกระดับความร้อนเครื่องยนต์ “ระดับปกติจะต้องอยู่กึ่งกลาง หรืออาจจะเลยไปทางฝั่ง H เล็กน้อย”
    • แบบไฟเตือน: เป็นสัญลักษณ์คลื่นน้ำด้านล่าง พร้อมตัววัดอุณหภูมิที่แสดงผลเป็นสีเขียวและสีแดง “สีแดง = รถความร้อนขึ้นเกินระดับปกติ” ควรทำการตรวจเช็คโดยด่วน
    • แบบไฟดิจิทัล: คล้ายกับแบบเข็มพร้อมสัญลักษณ์ความร้อนขึ้นโชว์ที่หน้าปัด รวมถึงมีแถบระดับบอกว่าอุณหภูมิความร้อนอยู่ที่เท่าไหร่ “กึ่งกลาง = ปกติ แต่ถ้าเลยไปด้านบนใกล้ตัว H มากไป แปลว่ารถร้อนผิดปกติ”
  • *หมายเหตุ: รถยนต์แต่ละรุ่นมี “ระดับความร้อนตามเกณฑ์ปกติ” ต่างกัน แนะนำให้เช็คคู่มือก่อนทำการตรวจเช็คเสมอ

ถ้าในวันนี้คุณยังละเลยหรือเพิกเฉยต่อ “ระบบระบายความร้อนรถยนต์” ไม่มีการดูแลรักษารถยนต์ที่ถูกต้อง สม่ำเสมอ เตือนไว้ตรงนี้เลยว่าเตรียมพบกับอาการรถความร้อนขึ้นได้เลย แถมอาการห้องเครื่องร้อนผิดปกติยังตามมาด้วยความเสียหายอื่น ๆ อีกเพียบ แน่นอนว่าค่าซ่อมมหาศาลจนไม่มีใครอยากเจอ หากไม่อยากแบกรับค่าใช้จ่ายก้อนโต เริ่มดูแลรถคันโปรดตั้งแต่ตอนนี้ดีที่สุด

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่