ตรอ. คือสถาน ตรวจสภาพรถ ต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจากกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก สำหรับดำเนินตรวจสภาพรถเพื่อใช้ต่อภาษี เพื่อชี้ว่ารถคันนั้น ๆ มีสภาพดี ยังใช้งานได้ปกติและมีความปลอดภัย มีศูนย์บริการทั่วประเทศเพื่อช่วยในเรื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถทุกคนได้ตรวจสภาพรถใกล้บ้าน เพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลา แต่การตรวจสภาพรถ ตรอ. ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่? วันนี้ มิสเตอร์ คุ้มค่า จะเล่าให้ฟัง
ตรวจสภาพรถ ต่อภาษีรถยนต์ ที่ ตรอ. ต้องใช้อะไรบ้าง ?
แม้ว่า ตรอ. จะเป็นที่ตรวจสภาพรถใกล้บ้าน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา คุณจะต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม โดยต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- เจ้าของรถนำรถที่ต้องการตรวจสภาพไปที่ ตรอ.
- สมุดเล่มทะเบียนรถ (หากไม่มีเล่มทะเบียนตัวจริง สามารถใช้สำเนาได้)
- เตรียมเงินค่าตรวจสภาพรถไปด้วย
ตรวจสภาพรถ ที่ ตรอ. ค่าใช้จ่ายเท่าไร ?
เพื่อให้การตรวจสภาพรถเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด การเตรียมเงินให้พร้อม ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควร โดย “อัตราค่าตรวจสภาพ” จากกรมขนส่งทางบก กำหนดเอาไว้ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
โดยค่าใช้จ่ายที่เรานำมาบอกต่อเมื่อข้างต้น เป็นเพียงแค่การ “ตรวจสภาพรถเก่า” เท่านั้น แต่ยังไม่รวมกับการต่อ พ.ร.บ. และการต่อภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน
รถแบบไหนสามารถนำไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ได้บ้าง ?
- รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
- รถยนต์อายุเกิน 7 ปีขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถที่ภาษีขาดเกิน 1 ปี
คำถามต่อมาคือ ถ้าหากเป็นรถมือสองล่ะ ? สามารถตรวจสภาพรถที่ ตรอ. ได้หรือไม่ ? คำตอบคือถ้าเป็นรถมือสองที่อายุตัวรถไม่เกินกว่าที่กรมขนส่งกำหนด จะยังสามารถนำมาตรวจสภาพได้เช่นกัน แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อรถมือสอง คุณจะต้องทำการตรวจเช็กปัจจัยต่าง ๆ ให้ดีก่อน วันนี้เรามีทิปส์เล็ก ๆ สำหรับการตรวจสภาพรถมือสองก่อนซื้อมาฝากด้วย ที่จะเป็นประโยชน์แน่นอนหากใครกำลังมองหารถมือสองสักคันมาใช้งาน ตามไปดูกันเลย
ตรวจสภาพรถมือสองก่อนซื้อ ป้องกัน “รถย้อมแมว”
-
1. สภาพภายนอกรถยนต์
สภาพภายนอกตัวรถถือเป็นจุดสังเกตที่ “ง่ายที่สุด” ในการซื้อรถมือสอง ควรตรวจสอบริ้วรอย รอยบุบต่าง ๆ ที่บริเวณกันชนด้านหน้าและด้านหลัง ฝากระโปรง และด้านข้างตัวรถ ในส่วนของสีรถก็ต้องเช็กความสม่ำเสมอ รวมถึงความหนา-บางว่าเท่ากันหรือไม่
-
2. สภาพภายในรถยนต์
ในส่วนของภายในตัวรถก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยให้ทำการเริ่มตรวจสอบจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่ายังทำงานได้ปกติดีหรือไม่ ระบบไฟต่าง ๆ หน้าปัดเรือนไมล์มีการแสดงผลครบหรือเปล่า วิทยุ กระจกไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ เซ็นทรัลล็อก รวมถึงกลิ่นภายในรถจะต้องไม่อับชื้น
-
3. ตรวจสอบเลขไมล์รถยนต์
ไมล์รถยนต์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญ ในการตัดสินใจซื้อรถมือสองไม่แพ้กัน คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองหารถที่เลขไมล์น้อย ๆ เพราะหมายความว่ารถคันนั้น ๆ ใช้งานมาเพียงไม่นาน แต่การจะดูที่เลขไมล์เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสักเท่าไหร่นัก แนะนำให้ดูรุ่นและปีรถว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบประวัติอื่น ๆ ของตัวรถ และเจ้าของเดิมเพิ่มเติม
-
4. เช็กเครื่องยนต์
การเช็กเครื่องยนต์จะต้องใช้ความละเอียด และความชำนาญมากกว่าจุดอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นการตรวจสอบ “เบื้องต้น” ก็สามารถทำได้เองง่าย ๆ เพียงลองสตาร์ทเครื่องยนต์ว่าทำงานได้ปกติหรือไม่ รอบเดินเบามีอาการสั่นหรือไม่ รวมถึงสอบถามกับผู้ขายหรือเจ้าของรถเพิ่มเติม ในส่วนของ “การเปลี่ยนถ่ายของเหลว และแบตเตอรี่” แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามแนะนำให้หาช่างผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างซ่อมที่วางใจได้ ให้เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
-
5. เช็กและตรวจสอบระบบช่วงล่าง
นอกจากเครื่องยนต์แล้ว ช่วงล่างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากมีชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องรองรับแรงกระแทก เช่น ลูกหมากกันโครง, บูชยาง, โช๊คอัพ, บูชปีกนก และเพลาขับ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะมีการชำรุดหรือเสื่อมสมรรถภาพได้ แต่ส่วนใหญ่การตรวจสอบช่วงล่างอย่างละเอียด จะต้องทำการยกรถขึ้น แนะนำให้สอบถามกับทางผู้ขายถึงสภาพความสมบูรณ์ ก่อนนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการอีกครั้ง
-
6. ประวัติการซ่อมบำรุง
สิ่งที่จะบอก “ความสมบูรณ์” ของตัวรถได้มากที่สุด รวมถึงชี้ว่าได้รับการเอาใจใส่จากเจ้าของเดิมเป็นอย่างดี สามารถตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้น ๆ เพียงนำหมายเลขทะเบียน หรือหมายเลขตัวถึงไปตรวจสอบ ก็จะทำให้ทราบถึงการนำรถเข้าเช็กระยะว่าตามกำหนดหรือไม่ มีการเปลี่ยนอะไหล่ หรือมีการซ่อมบำรุงอะไหล่ชนิดใดบ้าง
การซื้อรถยนต์สักหนึ่งคันไม่ใช่แค่เพียงการใช้เดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยว หรือการดูแลรักษาเพียงแค่พื้นฐานเท่านั้น แต่คุณจะต้องตรวจเช็กสภาพตามระยะที่กำหนดเพื่อการใช้งานที่ราบรื่น และเพื่อการต่อภาษีรถยนต์ให้ถูกต้อง ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในภายหลัง ที่สำคัญเลยคือเรื่อง ประกันรถยนต์ อย่าลืมซื้อประกันภัยรถยนต์ด้วยล่ะ ! เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายก้อนโตที่อาจจะตามมาในอนาคต หากไม่รู้จะเลือกซื้อกรมธรรม์ดีที่สุดจากที่ไหน มิสเตอร์ คุ้มค่า ช่วยคุณได้ เปรียบเทียบประกันออนไลน์ได้แล้ววันนี้ !