หัวข้อที่น่าสนใจ
- กฎหมายที่จอดรถ ตามมาตรฐานต้องมีขนาดเท่าไหร่ ?
- กฎหมายเรื่องที่จอดรถในแต่ละสถานที่ กำหนดไว้ว่าอย่างไร ?
- 1. กฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์
- 2. กฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
- 3. กฎหมายที่จอดรถคอนโด
- 4. กฎหมายที่จอดรถโรงแรม
- 5. กฎหมายที่จอดรถสำหรับภัตตาคาร
- 6. กฎหมายการสร้างที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้า
- 7. กฎหมายเรื่องที่จอดรถ สำนักงาน
- 8. ห้องโถงของภัตตาคาร อาคารจอดรถ
- 9. กฎหมายที่จอดรถสำหรับบ้านเดี่ยว
- 10. กฎหมายการจอดรถในหมู่บ้าน
- ว่าด้วยเรื่องระยะร่นระหว่างแนวเขตที่ดิน ที่ควรรู้ ?
- รู้ก่อนซื้อ ที่จอดรถคอนโดมีกี่ประเภท ?
- 1. ที่จอดรถในอาคารจอดรถ (Indoor Parking)
- 2. ที่จอดรถกลางแจ้ง (Outdoor Parking)
- 3. ที่จอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System)
ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน ซื้อคอนโด หรือที่พักอาศัยอื่น ๆ หนึ่งในสิ่งที่ควรรู้และทำความเข้าใจ คือ “ กฎหมายที่จอดรถ “ เพราะแต่ละสถานที่มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน นอกจากที่จอดรถจะต้องเพียงพอแล้ว ยังต้องมีความกว้างที่เหมาะสมด้วย ซึ่งแต่ละสถานที่ กฎหมายเรื่องที่จอดรถกำหนดไว้ว่ายังไง ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปทำความเข้าใจกันเลยดีกว่า
กฎหมายที่จอดรถ ตามมาตรฐานต้องมีขนาดเท่าไหร่ ?
หากพูดกันตามกฎหมายที่จอดรถ รถ 1 คันจะต้องมีขนาดที่จอดรถตามกฎหมาย 2.40 x 5.00 เมตรเป็นอย่างต่ำ และควรเผื่อพื้นที่ด้านข้าง รวมถึงด้านหน้าไว้ประมาณ 0.70 เมตร และ 0.40 เมตร ในส่วนของเพดานก็ควรสูงอย่างน้อย 2.50 เมตร เพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้การจอดรถเป็นไปอย่างสะดวก
ในส่วนของ “ทางลาดชัน” ตามกฎหมายทางลาดที่จอดรถกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 1:8 เช่น ความสูงของพื้นต่างจากถนนประมาณ 30 เซนติเมตร ต้องมีความยาวทางลาดชันอยู่ที่ 2.40 เมตร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่จอดรถสำหรับแต่ละสถานที่ที่ควรรู้ด้วย โดยตามกฎกระทรวงจะแบ่งได้ประมาณ 8 สถานที่ คือ อาคารขนาดใหญ่, โรงแรม, คอนโด, อาคารสาธารณะ, ห้างสรรพสินค้า, สำนักงาน, ภัตตาคาร และห้องโถงของภัตตาคาร หรืออาคารขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมเอาไว้ในหัวข้อถัดไปแล้ว ตามไปดูกันเลย
กฎหมายเรื่องที่จอดรถในแต่ละสถานที่ กำหนดไว้ว่าอย่างไร ?
ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถในสถานที่ไหน ๆ ก็ตาม “กฎกระทรวง” ได้กำหนดขั้นต่ำของที่จอดรถยนต์เอาไว้แล้ว โดยแบ่งออกเป็นกฎหมายที่จอดรถสำหรับที่ที่อยู่ภายในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์
อาคารสาธารณะ โรงมหรสพที่มีที่นั่งไม่น้อยกว่า 500 ตามกฎหมายที่จอดรถกำหนดว่าจะต้องมีที่จอดรถตามกำหนด 3 กรณี ดังนี้
- ที่จอดรถในกรุงเทพฯ : กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อจำนวนที่นั่งสำหรับคนดู 20 ที่นั่ง
- ที่จอดรถในเขตพระนคร, ธนบุรี, บางรัก, ปทุมวัน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์ : กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อจำนวนที่นั่งสำหรับคนดู 10 ที่
- ที่จอดรถในต่างจังหวัด : กำหนดให้มีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อจำนวนที่นั่งสำหรับคนดู 40 ที่นั่ง
2. กฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะค่อนข้างพิเศษมากกว่ากฎหมายที่จอดรถแห่งอื่น เนื่องจากต้องมีระบุด้วยว่า “อาคารขนาดใหญ่แห่งนั้นประกอบธุรกิจอะไร” เพื่อกำหนดจำนวนที่จอดรถตามประเภทของกิจการ
หรือให้ใช้ข้อกำหนดพื้นฐานตามกฎหมายที่จอดรถอาคารประเภทดังกล่าว ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่อาคาร 120 ตารางเมตร ส่วนต่างจังหวัดกำหนดว่าต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่อาคาร 240 ตารางเมตร
*หมายเหตุ: กรณีที่อาคารขนาดใหญ่นั้น ๆ มีความสูงไม่เกินตึก 4 ชั้น กฎหมายที่จอดรถกำหนดว่าต้องมีที่จอดรถยนต์อยู่ภายนอกอาคาร หรือห้องใต้ดินไม่น้อยกว่า 1 คันต่อ 1 ห้อง3. กฎหมายที่จอดรถคอนโด
สำหรับที่จอดรถคอนโด กฎหมายได้แบ่งไว้ 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ การคำนวณตามพื้นที่ใช้สอย และคำนวณตามขนาดของอาคาร ซึ่งกฎหมายที่จอดรถคอนโดยังมีการแบ่งแยกย่อยตาม ‘เขตพื้นที่’ อีกด้วย ทำให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ควรรู้อีกเพียบ ดังนี้
ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
- คำนวณตามพื้นที่ใช้สอย : ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน/1 ห้อง
- คำนวณตามขนาดของอาคาร : ทุกพื้นที่ก่อสร้าง 120 ตารางเมตร จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน
ภายในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด
- คำนวณตามพื้นที่ใช้สอย : ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน/2 ห้อง
- คำนวณตามขนาดของอาคาร : ทุกพื้นที่ก่อสร้าง 240 ตารางเมตร จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน
4. กฎหมายที่จอดรถโรงแรม
สำหรับกฎหมายที่จอดรถโรงแรมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กฎหมายที่จอดรถล่าสุดกำหนดไว้ว่าที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ห้องโถง 10 ตารางเมตร และไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่ที่ใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม 20 ตารางเมตร
ส่วนเขตพื้นที่ต่างจังหวัดกฎหมายเรื่องที่จอดรถกำหนดไว้ว่า ที่จอดรถยนต์ต้องมีไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ห้องโถง 30 ตารางเมตร และยังต้องไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ที่ใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม 40 ตารางเมตร
5. กฎหมายที่จอดรถสำหรับภัตตาคาร
ภัตตาคารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และนอกเขต (ต่างจังหวัด) กฎหมายการจอดรถหน้าร้านค้า จะมีการอ้างอิงจาก “พื้นที่ตั้งโต๊ะอาหาร” ดังนี้
- ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ : ภัตตาคารที่มีพื้นที่ตั้งโต๊ะอาหารไม่เกิน 750 ตารางเมตร ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ตั้งโต๊ะอาหาร 15 ตารางเมตร ส่วนภัตตาคารที่มีพื้นที่ตั้งโต๊ะอาหารเกินกว่า 750 ตารางเมตร ในส่วนที่เกินจาก 750 ตารางเมตร ให้คิดโดยใช้อัตราส่วน 1 คันต่อ 30 ตารางเมตร
- นอกเขตพื้นที่กรุงเทพฯ (ต่างจังหวัด) : ต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ตั้งโต๊ะอาหาร 40 ตารางเมตร
6. กฎหมายการสร้างที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้า
ว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่จอดรถอาคารพาณิชย์ ประเภทห้างสรรพสินค้า กำหนดไว้ว่าหากเป็นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร ส่วนต่างจังหวัดต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 40 ตารางเมตร
7. กฎหมายเรื่องที่จอดรถ สำนักงาน
สำหรับภายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ตามกฎหมายเรื่องที่จอดรถ สำนักงาน กำหนดไว้ว่าต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 60 ตารางเมตร และพื้นที่ต่างจังหวัดต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 120 ตารางเมตร
8. ห้องโถงของภัตตาคาร อาคารจอดรถ
ห้องโถงภัตตาคารหรืออาคารขนาดใหญ่ ตามกฎหมายที่จอดรถกำหนดไว้ว่า หากอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร และในเขตต่างจังหวัดจะต้องมีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อพื้นที่ 30 ตารางเมตร
9. กฎหมายที่จอดรถสำหรับบ้านเดี่ยว
สำหรับคนที่อยากสร้างบ้าน หรือมีบ้านเป็นของตัวเอง และต้องการสร้างที่จอดรถ เรามีกฎหมายการสร้างที่จอดรถมาบอกต่อด้วยเช่นกัน เบื้องต้นบ้านที่ต้องการให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คัน ควรมีความกว้างและความยาวประมาณ 2.80 x 5.50 เมตร แต่ถ้าต้องการมีที่จอดรถยนต์ 2 คัน ควรมีความกว้างและความยาวประมาณ 5.00 x 5.50 เมตร
10. กฎหมายการจอดรถในหมู่บ้าน
ในด้านกฎหมายการจอดรถในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮาส์หรือทาวน์โฮม กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหน้ากว้างตั้งแต่ 4-10 เมตร หรือต้องมีขั้นต่ำอย่างน้อย 2.40 x 5.00 เมตร หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังจะซื้อทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮม อย่าลืมเช็กความกว้างด้านหน้า รวมถึงกฎหมายจอดรถข้างบ้าน เพื่อวางแผนการจอดรถอย่างเหมาะสมด้วย
แต่ไม่ว่าสถานที่ไหน ๆ ก็ตาม แม้จะสร้างที่จอดรถตามกฎหมายที่จอดรถล่าสุดเป้ะ ๆ แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้ตลอด ดังนั้นหากต้องการลดปัญหาน่าปวดหัว นอกจากจะใส่ใจประเด็นกฎหมายลานจอดรถ แล้ว การให้ความสำคัญในเรื่อง “ประกันภัยรถยนต์” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม รอยเล็ก ๆ น้อย ๆ เคลมได้หมด ไม่ต้องควักจ่ายเองเลยสักนิด เข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์ที่ใช่ ราคาที่ชอบกับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้ก่อนใคร
ว่าด้วยเรื่องระยะร่นระหว่างแนวเขตที่ดิน ที่ควรรู้ ?
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรทำความเข้าใจก่อนสร้างโรงจอดรถหน้าบ้าน คือ “ระยะร่นระหว่างแนวเขตที่ดิน” เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและเพื่อนบ้านโดยรอบ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงกำหนดให้การก่อสร้างหรือต่อเติมจะต้องมีระยะห่างระหว่างอาคาร และระยะร่นจากรั้ว ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- ผนังด้านที่เป็นช่องเปิดประตู หน้าต่าง ที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากเขตพื้นที่ดินมากกว่า 2 เมตร ส่วนผนังที่สูงเกิน 9 เมตร ให้ห่างจากเขตที่ดิน 3 เมตร
- ผนังที่ไม่มีช่องเปิด (ผนังทึบ) ต้องห่างจากเขตที่ดินมากกว่า 0.50 เมตร ยกเว้นได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงเท่านั้น
- ขอบเขตตัวบ้านจะต้องไม่เกิน 70% ของที่ดิน ส่วนอีก 30% ที่เหลือ สามารถจัดสรรเป็นพื้นที่อื่น ๆ ได้ตามสะดวก
- ระยะห่างชายคาและกันสาด ทั้ง 2 อย่างจะต้องห่างจากแนวเขตพื้นที่บ้านไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร
รู้ก่อนซื้อ ที่จอดรถคอนโดมีกี่ประเภท ?
ปัญหาหลัก ๆ ของคนอยู่คอนโดทุกวันนี้ คือ “ที่จอดรถไม่พอ” หรือปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับที่จอดรถเต็มไปหมด หลายคนจึงใช้เรื่องนี้มาใช้พิจารณาก่อนเลือกซื้อคอนโดอยู่บ่อย ๆ แต่ที่จอดรถคอนโดมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทต่างกันยังไง แบบไหนดีกว่า ไปดูกันเลย
1. ที่จอดรถในอาคารจอดรถ (Indoor Parking)
คอนโด High Rise หรือโครงการใหม่ ๆ ส่วนมาก มักเริ่มสร้างที่จอดรถแบบอาคารจอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน โดยจะอยู่ชั้นล่างก่อนขึ้นไปเป็นส่วนพักอาศัยชั้นบน หรือบางโครงการก็จะสร้างเป็นชั้นจอดรถใต้ดิน มีข้อดีคือมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น เนื่องจากถูกกระชับพื้นที่มากกว่า
นอกจากนี้ยังทำให้ลูกบ้านเดินเข้าอาคารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเชื่อมต่อกับที่พักอาศัย ในด้านข้อเสียก็มีเหมือนกัน คือ อาคารจอดรถส่วนใหญ่จะจำกัดความสูง ดังนั้นรถที่หลังคาสูง ๆ อาจต้องระมัดระวังเมื่อเข้า-ออกอาคารให้มาก ๆ
2. ที่จอดรถกลางแจ้ง (Outdoor Parking)
ที่จอดรถกลางแจ้งส่วนใหญ่มักพบได้ตามคอนโด Low Rise ที่ไม่มีการสร้างอาคารจอดรถ เป็นที่จอดแบบ Semi Outdoor ที่จอดรถที่อยู่ในตัวอาคารจะกำหนดความสูงไว้ไม่เกิน 2.2-2.4 เมตร สำหรับกรณีจอดรถฉุกเฉินหรือรถที่มีหลังคาสูง
โดยที่จอดรถแบบกลางแจ้งมีข้อดี คือ ไม่ต้องเสียเวลาวนขึ้นอาคารจอดรถนาน แต่มีข้อจำกัดคือต้องจอดรถตากแดด ตากฝน แถมพื้นที่จอดรถยังไม่เชื่อมต่อกับส่วนที่พักอาศัย ทำให้เดินเข้าอาคารลำบาก โดยเฉพาะในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ
3. ที่จอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System)
ที่จอดรถอัตโนมัติหรือ Automated Parking System ได้รับความนิยมมาก ๆ ในต่างประเทศ เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย บางแห่งใช้พื้นที่เพียง 12.5-15 ตารางเมตร/คันเท่านั้น ข้อดีคือช่วยเพิ่มพื้นที่ที่จอดรถในโครงการ เพราะที่จอดรถแต่ละช่องถูกออกแบบให้พอดีกับขนาดมาตรฐานรถยนต์ ลดปัญหาการถูกเฉี่ยวชนจากการจอดซ้อนคันได้เป็นอย่างดี
แต่ติดตรงที่ต้นทุนในการติดตั้งระบบค่อนข้างสูง แถมยังไม่เหมาะกับเวลาเร่งด่วน เนื่องจากกลไกที่จอดรถแบบนี้นำรถออกมาจากที่จอดได้เพียง 1-2 คันเท่านั้น และในกรณีที่ระบบขัดข้องอาจจะเอารถออกมาไม่ได้เลยสักคัน ต้องรอช่างซ่อมจนกว่าจะกลับมาใช้ได้เท่านั้น
อยู่คอนโด ปล่อยเช่าที่จอดรถได้ไหม ?
ประเด็นนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายที่จอดรถ แต่เชื่อว่าเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่พักอาศัยในคอนโดว่า “ปล่อยเช่าที่จอดรถได้หรือไม่” โดยคำตอบแบ่งได้ 2 กรณี ดังนี้
- หากเป็นเจ้าของห้องที่มี “ที่จอดรถประจำ” หรือมีการระบุที่จอดไว้ในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช.2) ถือว่าเจ้าของห้องมีกรรมสิทธิ์ในที่จอดรถด้วย หากต้องการปล่อยเช่าก็สามารถทำได้
- หากที่จอดรถเป็นแบบเวียนจอด หรือ “ไม่มีที่จอดประจำ” จะถือว่าพื้นที่จอดรถดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ไม่มีสิทธิ์ปล่อยเช่าเพื่อหาผลประโยชน์
ทั้งนี้ การปล่อยเช่าที่จอดรถประจำ เจ้าของกรรมสิทธิ์ควรปล่อยเช่าให้กับ ‘ลูกบ้าน’ ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดเดียวกันเท่านั้น เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออกโครงการ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิติบุคคลด้วยว่าอนุญาตให้ปล่อยเช่าหรือไม่ เพราะบางแห่งอาจมี ‘เหตุผลในการบริหารจัดการอาคาร’ ดังนี้
- ที่จอดรถไม่เพียงพอ เนื่องจากบางโครงการไม่ได้มีที่จอดรถที่รองรับตามจำนวนยูนิต 100%
- ความเป็นส่วนตัวของเจ้าของร่วมท่านอื่น
- ปัญหาเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากผู้เช่าพื้นที่จอดรถส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมโดยตรง
ไม่ว่าคุณจะพักอาศัยอยู่ที่ไหน คอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม หรืออื่น ๆ การให้ความสำคัญกับกฎหมายที่จอดรถ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมันจะช่วยในเรื่องของความปลอดภัย และความสะดวกในการจอดรถ โดยเฉพาะกฎหมายที่จอดรถคอนโด ที่มักมีปัญหาให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ
คำจำกัดความ
คอนโด High Rise | คอนโดที่มีความสูง 20 ชั้นขึ้นไป |
คอนโด Low Rise | คอนโดที่มีความสูงไม่เกิน 9 ชั้น |
ห้องชุด | ส่วนของอาคารชุด ที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล |