ด้วยความถนัดหรือเคยชินของพฤติกรรม ถอดรองเท้าขับรถ คุณรู้หรือไม่ว่า.. นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อขับขี่แล้ว อีกด้านยังเสี่ยงโดนจับโดนปรับแบบไม่รู้ตัวด้วย เพราะถือว่าผิดกฎจราจร ซึ่งผู้ใช้รถหลายคนไม่รู้มาก่อน แต่จะผิดข้อหาอะไร มิสเตอร์ คุ้มค่า มีคำตอบ และได้รวบรวมเรื่องต้องรู้อื่น ๆ มาให้ รองเท้ากับการขับขี่สำคัญยังไง ? ตามไปดูเลยในบทความนี้
ทำไมถอดรองเท้าขับรถถึงไม่ปลอดภัย ?
แม้ว่าการถอดรองเท้าขับรถจะช่วยให้ผู้ขับขี่รู้สึกสะดวกสบาย กระฉับกระเฉงตอนเหยียบเบรก เหยียบคันเร่งก็จริง แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นพฤติกรรมที่อันตรายมาก ๆ แถมยังส่งผลต่อความปลอดภัยคนอื่น ๆ บนท้องถนนโดยตรง เหตุผลที่การถอดรองเท้าขับรถไม่ปลอดภัยเป็นเพราะอะไร ? มาดูกัน
1. รองเท้าขัดเบรก
เรื่องที่อันตรายมากที่สุด แต่กลับเป็นเรื่องที่คนชอบถอดรองเท้าขับรถมองข้าม คือ ‘รองเท้าขัดเบรก’ โดยเฉพาะคนที่ถอดรองเท้าแล้ววางไว้ที่พื้นฝั่งคนขับ มีโอกาสที่รองเท้าจะลื่นไถลไปอยู่ใต้ที่เหยียบเบรก ทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรกได้ หรือเหยียบแล้วแต่เบรกทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
2. เท้าลื่น
“เท้าเปียกจนลื่น” แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เท้าเปียกเพราะเหงื่อเยอะ และเท้าเปียกเพราะความชื้นเนื่องจากฝน ทำให้ความชื้นภายนอกเข้ามาในรถ ซึ่งถ้าหากเท้าเปียก ประกอบกับถอดรองเท้าขับรถ อาจทำให้เกิดการเหยียบเบรก หรือเหยียบคันเร่งพลาดได้ โดยเฉพาะจังหวะฉุกเฉินที่อาจทำให้ข้อเท้าแพลงได้เลย
3. ฝ่าเท้าเป็นพังผืด รองช้ำอักเสบที่ส้นเท้า
ตามปกติแล้วการขับรถเกียร์ธรรมดา เท้าซ้ายและขวาจะลงน้ำหนักไม่เท่ากัน ส่วนการขับรถเกียร์ออโต้ เท้าซ้ายแทบไม่ได้ใช้เลย ดังนั้นการออกแรงใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลา อาจทำให้เกิด ‘พังผืด’ บริเวณส้นเท้า และในระยะยาวอาจทำให้มีอาการปวด บวม อักเสบตามมา ส่งผลให้เดินไม่ได้
สำหรับคนที่มีอาการปวดส้นเท้าตอนเช้า แล้วอาการดีขึ้นในตอนสาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นเพราะถอดรองเท้าขับรถบ่อย ๆ จนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา (พังผืด และรองช้ำอักเสบ) แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน
การถอดรองเท้าขับรถนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บในระยะยาวแล้ว ยังอาจทำให้ ‘เท้าเหม็น’ ได้อีกด้วย เพราะเท้าเหม็นเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียจากการเหยียบเบรกและคันเร่ง ยิ่งถอดรองเท้าขับรถแล้วเหงื่อออกมาก ก็ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงไปในตัว
ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังในการขับขี่เป็นอย่างดี ทำตามที่สอบใบขับขี่รถยนต์เป้ะ ๆ ทุกอย่าง แต่ก็มีโอกาสเกิด ‘อุบัติเหตุ’ ด้วยกันทั้งนั้น คงจะดีไม่ใช่น้อยหากมี “ตัวช่วย” ที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้ตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ที่คุ้มครองอย่างครอบคลุม หรือประกันชั้น 2+ ตัวเลือกที่ประหยัดกว่า มิสเตอร์ คุ้มค่า พร้อมมอบแผนประกันที่คุ้มครองตอบโจทย์ ราคาสบายกระเป๋าให้เสมอ เข้ามาเช็คราคาประกันรถยนต์ก่อนใครได้เลย
เลือกรองเท้าขับรถยนต์ยังไงดี ?
เมื่อเห็นแล้วว่าการถอดรองเท้าขับรถ แม้จะให้ความถนัดและสะดวกสบาย (ตามความชอบส่วนบุคคล) ได้จริง แต่ก็นำพามาซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ มากมาย แล้วแบบนี้ควรเลือกรองเท้าขับรถยนต์แบบไหน ? ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปดูกันเลย
- รองเท้าใส่ขับรถต้องใส่แล้ว ‘กระชับ’ สามารถเหยียบเบรกหรือคันเร่งได้สะดวก
- รองเท้าพื้นยาง จะช่วยให้ยึดเบรกหรือคันเร่งได้ดี
- เพื่อการเคลื่อนไหวที่ดี รองเท้าต้องไม่มีน้ำหนักมากเกินไป
ถ้าจะให้พูดตรง ๆ “รองเท้าหุ้มส้น” ถือเป็นประเภทรองเท้าที่ดีที่สุด เพราะจะช่วยให้การควบคุม (เหยียบ) เบรกและคันเร่งปลอดภัยมากขึ้น ป้องกันการเหยียบพลาดหรือลื่นได้เป็นอย่างดี แนะนำว่าควรตรวจสอบรองเท้าขับรถยนต์ ด้วยการลองเหยียบแป้นเบรก หรือคลัทช์ให้เต็มแรง พร้อมสังเกตว่ากระชับดีหรือไม่ หากไม่กระชับหรือไม่คล่องตัวแนะนำให้เปลี่ยน รวมถึงหลีกเลี่ยงการถอดรองเท้าขับรถด้วย
รองเท้าที่ควรเลี่ยง ไม่ควรเสี่ยงใส่ขับรถมีอะไรบ้าง ?
นอกจากการเลือกซื้อรองเท้าใส่ขับรถที่เหมาะสมแล้ว ยังควรทำความเข้าใจ ‘รองเท้าที่ควรเลี่ยง’ ด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ โดยหลัก ๆ มีรองเท้าที่ไม่ควรเสี่ยงใส่ขับรถ 4 แบบ ดังนี้
- ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง เพราะจะทำให้เหยียบเบรกหรือคันเร่งได้ไม่เต็มแรง
- ไม่ควรใส่รองเท้าเปียก เพราะจะทำให้เสียการควบคุม
- ไม่ควรใส่รองเท้าที่ดอกยางหมด เพราะจะทำให้ลื่น และเสียการควบคุมเช่นกัน
- ไม่ควรใส่รองเท้าพื้นหนาหรือส้นตึก เพราะจะทำให้ไม่สะดวกต่อการขยับเท้า
แม้ว่าการใส่รองเท้าที่ไม่ควรเสี่ยงจะไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมา แต่อาจทำให้ข้อเท้าของคุณได้รับบาดเจ็บ จากการใช้งานรองเท้าขับรถยนต์ผิดประเภทก็เป็นได้ หากไม่อยากปวดหัวกับสุขภาพข้อเท้าที่เสียไป แนะนำให้เลี่ยงรองเท้าตามที่เราบอกไปเมื่อข้างต้นจะดีที่สุด และถ้าหากกำลังสงสัยว่า ‘รองเท้าแตะ’ เป็นตัวเลือกที่ดีไหม? ตามไปดูคำตอบเพิ่มเติมกันได้เลย
ใส่รองเท้าแตะขับรถยนต์ได้ไหม ? อันตรายหรือเปล่า ?
หนึ่งในรองเท้าคู่ใจ ใส่ไปไหนมาไหนก็สะดวก แถมยังถูกนำมาเป็นรองเท้าขับรถยนต์ยอดนิยม ไม่ว่าจะเดินทางใกล้-ไกล ก็มักหยิบ ‘รองเท้าแตะ’ มาสวมใส่ตลอดทริป แบบนี้จะก่อให้เกิดอันตรายตามมาหรือเปล่า ? คำตอบคือ “ใส่ได้” แถมยังเป็นรองเท้าที่ช่วยให้ข้อเท้าผ่อนคลาย ขยับเท้าได้หลายองศา แถมยังป้องกันไฟฟ้าสถิตได้ดีมาก ๆ
แต่ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ก็อาจทำให้เท้าของคุณได้รับบาดเจ็บไม่ต่างจากการถอดรองเท้าขับรถเลยสักนิด เพราะรองเท้าแตะไม่อาจช่วยป้องกันเท้าของคุณได้ดีเท่าของประเภทอื่น ๆ เช่น รองเท้าผ้าใบ, รองเท้าคัทชู หรือรองเท้าปรับสรีระ
นอกจากนี้ยังควรระวังในเรื่อง ‘พื้นรองเท้า’ ให้ดีด้วย ถ้าจะให้ดีที่สุดควรเป็นพื้นยาง เพราะมีคุณสมบัติในการยึดเกาะเบรกและคันเร่งได้ดี ควรหลีกเลี่ยงรองเท้าแตะที่เป็นพลาสติกอ่อน โดยเฉพาะรองเท้าที่ทำเลียนแบบรองเท้าแก้ว เพราะอาจทำให้เท้าลื่นขณะขยับเท้าไปมาได้
จริงหรือหลอก กับประเด็นถอดรองเท้าขับรถผิดกฎหมาย ?
หลายคนมองว่าประเด็นถอดรองเท้าผิดกฎจราจร เป็นกฎจราจรที่ค่อนข้างตลก ไม่มีอยู่จริง แต่บอกไว้ตรงนี้เลยว่า “ผิดจริง ปรับจริง” แต่เป็นกฎจราจรที่บังคับใช้กับ ‘รถรับจ้าง รถสาธารณะ’ ซึ่งรวมไปถึงรถจักรยานยนต์สาธารณะ, รถแท็กซี่ หรือรถนำเที่ยว ฯลฯ เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ประกอบอาชีพให้บริการ “ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล”
โดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 102 (1) และกฎกระทรวง พ.ศ.2555 ระบุว่า “ในขณะขับรถรับจ้าง รถยนต์สาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยรัดกุม และสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 127”
แม้ว่าการถอดรองเท้าขับรถในแง่ของ “กฎจราจร“ จะไม่ได้มีผลบังคับใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ก็ไม่ควรใส่รองเท้าขับรถยนต์อยู่ดี เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายบนท้องถนนได้ แถมยังควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมต่อการขับรถให้ดีด้วย เพื่อยับยั้งความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาระหว่างขับขี่
คำจำกัดความ
ข้อเท้าแพลง | ภาวะการบาดเจ็บของเส้นเอ็นยึดตรึงข้อเท้าอย่างเฉียบพลัน เมื่อข้อเท้าเกิดการบิดหมุนออกจากเท้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เนื้อเยื่อรอบๆบริเวณนั้นเกิดการบาดเจ็บแบบฟกช้ำ จนถึงฉีกขาด |
พังผืด | เยื่อเหนียวที่ยึดกล้ามเนื้อให้ติดกัน |
รองช้ำ | หรือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเอ็นใต้ฝ่าเท้า |