หัวข้อที่น่าสนใจ
- วิธีสตาร์ทรถที่ถูกต้อง มีอะไรบ้าง ?
- 1. นั่งตำแหน่งที่พร้อมขับที่สุด
- 2. ตรวจสอบตำแหน่งเกียร์
- 3. ปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมด
- 4. บิดกุญแจมาที่ตำแหน่ง ON
- 5. บิดกุญแจมาที่ตำแหน่ง START
- เทคนิคการขับรถมือใหม่ หัดยังไงให้เป็นเร็ว ?
- 1. รู้จักรถยนต์ของคุณก่อน
- 2. เริ่มต้นหัดขับในซอย
- 3. ฝึกขับรถในที่แคบ
- 4. ออกถนนใหญ่
- 5. ฝึกแซงรถคันด้านหน้า
- ก่อนออกถนนครั้งแรก มือใหม่หัดขับต้องรู้อะไรบ้าง ?
- มารยาทในการขับขี่
- ความเร็วตามกฎหมายกำหนด
มาถนอมรถยนต์ให้ใช้งานได้อีกยาว ๆ บางครั้งเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ต้องทำทุกวันก่อนขับขี่ อย่างการขั้นตอนสตาร์ทรถ เพราะช่องกุญแจรถยนต์ถูกออกแบบให้มี “ตัวล็อก” มากมาย แถมยังเป็นสวิตซ์หลักในการตัดต่อระบบไฟฟ้าของรถยนต์อีกต่างหาก มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมวิธีสตาร์ทรถมาให้มือใหม่หัดขับได้ทำความเข้าใจ หลักการใช้งานอย่างถูกวิธี รู้ว่าการสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ถูกต้องทำยังไง ? และช่วยถนอมรถยนต์ได้แค่ไหน ? ไปดูกันเลยในบทความนี้
วิธีสตาร์ทรถที่ถูกต้อง มีอะไรบ้าง ?
ในตอนที่กำลังสตาร์ทรถให้ลองบิดกุญแจช้า ๆ จะพบว่ามีขั้นตอนต่าง ๆ ประมาณ 3 ขั้นตอน คือ ACC, ON และ START จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรบิดกุญแจรวดเดียว แต่ควรทำการสตาร์ทรถที่ถูกต้องตามทริคดังต่อไปนี้
1. นั่งตำแหน่งที่พร้อมขับที่สุด
เริ่มแรกก่อนที่จะทำตามขั้นตอนการสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง ควรเริ่มจาก ‘ท่านั่ง’ ที่เหมาะสมซะก่อน แนะนำให้จัดท่านั่งให้พร้อมต่อการขับขี่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเบาะ, ปรับกระจกมองข้าง รวมถึงพยายามกวาดสายตามองรอบ ๆ ภายในห้องโดยสาร เพื่อเช็กความเรียบร้อยก่อนออกเดินทาง
2. ตรวจสอบตำแหน่งเกียร์
ควรเช็กว่าตำแหน่งเกียร์ยังอยู่ในตำแหน่ง ‘เกียร์ว่าง’ หรือไม่ สำหรับเกียร์ Auto ให้เข้าเกียร์ตำแหน่ง N หรือ P พร้อมกับเหยียบเบรกไว้ด้วย
3. ปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมด
ก่อนสตาร์ทรถควรปิดแอร์, เครื่องเสียง รวมถึงถอดสายชาร์จสมาร์ตโฟนออกก่อน เพื่อให้แบตเตอรี่รถยนต์มีกำลังไฟในการจ่ายไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันให้มอเตอร์สตาร์ทสึกหรอน้อยลง เช่นเดียวกับชิ้นส่วนการทำงานของเครื่องยนต์ เนื่องจากการสตาร์ทรถครั้งแรกอาจจะต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ
4. บิดกุญแจมาที่ตำแหน่ง ON
เมื่อไฟหน้าปัดขึ้น ควรตรวจสอบระบบต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ (สามารถเช็กได้จากคู่มือรถ) ตามหลักที่ถูกต้อง คือ ควรให้ไฟเตือนขึ้นและดับจนครบก่อน จึงจะสามารถสตาร์รถได้
5. บิดกุญแจมาที่ตำแหน่ง START
หลังจากเช็กทุกอย่างจนแน่ใจแล้ว ให้ทำการสตาร์ทรถทันที หลังจากนั้นควรดูว่ายังมีไฟเตือนที่ผิดสังเกตหลงเหลืออยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบเสียง โดยเฉพาะเสียงในลักษณะ ‘เหล็กเคาะหรือเสียดสีกัน’ รวมถึงความสั่นสะเทือนที่ผิดปกติของเครื่องยนต์ก่อนออกเดินทาง
ความหมายของตำแหน่งต่าง ๆ ที่ช่องกุญแจ มีอะไรบ้าง ?
อย่างที่บอกว่าในตอนที่กำลังจะสตาร์ทรถ ด้วยการหมุนกุญแจช้า ๆ จะพบว่ามีขั้นตอนต่าง ๆ ประมาณ 3 ขั้นตอน คือ ACC, ON และ START ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีความหมายว่ายังไงบ้าง ตามไปดูก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์กันเลย
ACC
เป็นตำแหน่งที่สามารถใช้ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ได้บางส่วน เช่น เครื่องเสียง, แอร์ โดยที่ไม่ต้องสตาร์ทรถ แต่ไม่ควรทำบ่อย ๆ (เปิดแอร์ หรือเปิดเครื่องเสียง) เพราะแบตเตอรี่อาจหมดได้ นอกจากนี้ยังทำให้แบตเสื่อมเร็ว หรือถ้าใช้นานอาจทำให้สตาร์ทรถไม่ติดได้
ON
ตำแหน่งที่ไฟฟ้าถูกจ่ายเพื่อพร้อมสตาร์ทรถ (คล้ายกับ ACC) แต่เมื่อบิดมาที่ตำแหน่งนี้ ระบบจะทำการสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมทำงานในส่วนมาตรวัด โดยไฟเตือนต่าง ๆ จะทำงาน เพื่อแสดงสถานะพร้อมใช้งาน
START
ตำแหน่งสุดท้ายที่เมื่อบิดกุญแจตามสเต็ปการสตาร์ทรถที่ถูกต้องแล้ว ไฟฟ้าจะจ่ายไฟไปยังชุด ‘มอเตอร์สตาร์ท’ เพื่อถีบฟลายวีลหรือล้อช่วยแรง ที่ติดอยู่กับเครื่องยนต์เพื่อเริ่มทำงาน และจะกลับมาที่ตำแหน่ง ‘ออก’ เองหลังจากทำงานแล้ว
หากในการสตาร์ทรถคุณเผลอบิดไปตำแหน่งนี้อีกครั้ง หลังจากที่เครื่องยนต์เริ่มทำงาน อาจทำให้ ‘ฟันเฟือง’ ของมอเตอร์สตาร์ทเกิดความเสียหายตามมาได้
ออกรถทันทีหลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์ จะเกิดอะไรขึ้น ?
นอกจากจะเรียนรู้วิธีสตาร์ทรถเพื่อถนอมรถยนต์แล้ว ยังควรทำความเข้าใจการขับขี่หลังจากที่สตาร์ทเครื่องยนต์ให้ดีด้วย ว่าไม่ควรออกรถทันที แต่ควรอุ่นเครื่องยนต์สักพัก ประมาณ 5-10 นาที เพราะระบบไฟฟ้า, ระบบน้ำมันเครื่อง รวมถึงระบบต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่เต็มที่
การขับรถทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ แม้จะทำตามขั้นตอนการสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ถูกต้องแบบเป้ะ ๆ แต่เป็นบ่อเกิดของความเสียหายที่อาจตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกสูบบิด หัก หรืองอ
นอกจากนี้ยังไม่ควรเหยียบคันเร่งขณะสตาร์ทรถ เพราะจะทำให้เครื่องยนต์กระตุก เครื่องอาจสำลักน้ำมัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ จึงเป็นเหตุผลที่ควรอุ่นเครื่องก่อนขับ หรือให้สัญญาณเตือน “ไฟรูปเทอร์มอมิเตอร์” บนหน้าปัดหายไปก่อน เพราะมันหมายความว่าอุณหภูมิเครื่องยนต์วอร์มเต็มที่ พร้อมสำหรับการขับขี่แล้ว
เทคนิคการขับรถมือใหม่ หัดยังไงให้เป็นเร็ว ?
เมื่อการสตาร์ทเป็นพื้นฐานของการขับขี่ และการขับรถถือเป็นทักษะพื้นฐานอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ชีวิตประจำวัน มากไปกว่านั้นยังเป็นทักษะพื้นฐานของการสมัครงานในสายงานบางอาชีพอีกต่างหาก สำหรับ “มือใหม่หัดขับ” ที่อยากหัดขับรถให้เป็นเร็ว ๆ จะมีเทคนิคการขับรถมือใหม่ที่น่าสนใจอะไรบ้าง? ตามไปดูและฝึกตามพร้อม ๆ กันได้เลย
1. รู้จักรถยนต์ของคุณก่อน
ก่อนที่จะไปเรียนรู้เทคนิคการขับรถมือใหม่ เพื่อให้ขับรถเป็นเร็ว ๆ ก่อนอื่นต้องรู้จักรถยนต์ที่จะใช้งานให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ระบบการทำงานของรถ รวมถึงสำรวจว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างภายในรถอยู่ตรงไหน ใช้งานยังไง ควรลองใช้อุปกรณ์ภายในรถให้คล่อง เช่น การเบรก การลงน้ำหนักเหยียบคันเร่ง เพื่อการใช้งานที่คล่องแคล่ว ก่อนเริ่มขับจริง
2. เริ่มต้นหัดขับในซอย
เชื่อว่ามือใหม่หัดขับหลาย ๆ คนมักอยากลองขับครั้งแรกบนถนน แต่ในความเป็นจริงแล้วควรขับรถในซอยที่รถน้อย ๆ หรือลานกว้างก่อนจะดีกว่า โดยเริ่มจากการหัดขับช้า ๆ ฝึกควบคุมรถให้คล่อง ทั้งการขับรถให้อยู่ในเลน ฝึกเลี้ยว ฝึกการมองกระจกหลัง กระจกมองข้าง รวมถึงการเปิดไฟสัญญาณต่าง ๆ
ทั้งนี้ควรฝึกบ่อย ๆ ใช้เวลาฝึกนานพอสมควร เพื่อให้มือใหม่หัดขับสามารถกะน้ำหนักเท้าในการเหยียบคันเร่ง หรือเหยียบเบรกได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีทักษะในการควบคุมรถที่มากขึ้น
3. ฝึกขับรถในที่แคบ
นอกจากการฝึกขับรถในซอยหรือลานกว้างแล้ว ควรฝึกขับรถในที่แคบหรือทางที่โค้งเยอะ ๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้มือใหม่หัดขับสามารถกะระยะ และควบคุมความเร็วได้อย่างชินมือ รวมถึงเพิ่มความชำนาญในการขับขี่ให้มากกว่าเดิม
ทั้งนี้การขับขี่ในที่แคบไม่ควรใช้ความเร็วสูงจนเกินไป รวมถึงยังควรมีสมาธิ หูตาไว ซึ่งถ้าหากฝึกขับในที่แคบได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าเมื่อลงถนนจริงคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เน้นย้ำเลยว่าควรฝึกให้ชินมือและเกิดความชำนาญซะก่อน
4. ออกถนนใหญ่
เมื่อฝึกฝนตามเทคนิคการขับรถมือใหม่จนคุ้นมือแล้ว ถึงเวลาออกถนนใหญ่สักที แต่ถึงตรงนี้จากที่กล้า ๆ อยากลองออกถนน มีหลายคนที่เริ่มกังวล ประหม่า หรือตื่นเต้นพอสมควร แต่การฝึกขับรถด้วยการออกถนนใหญ่ (หลังจากชินมือแล้ว) จะช่วยให้ขับรถเป็นเร็วขึ้น
วิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย คือ ควรขับรถในเลนซ้ายก่อน จากนั้นให้เพิ่มความเร็วให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้า รวมถึงหมั่นมองกระจกมองหลัง และกระจกมองข้างให้ชิน
5. ฝึกแซงรถคันด้านหน้า
เมื่อเริ่มชินกับการขับรถบนถนนแล้ว ให้ลองฝึกเปลี่ยนเลนหรือแซงรถคันด้านหน้า กรณีที่รถคันด้านหน้าขับช้ากว่า ให้ผ่อนคันเร่งเพื่อเพิ่มระยะห่าง จากนั้นเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวา มองกระจกข้างขวาเพื่อดูว่ามีรถอยู่เลนขวาหรือไม่
หากไม่มีรถบริเวณเลนขวาให้เหยียบคันเร่งเพิ่ม พร้อมกับหักพวงมาลัยไปทางขวาเล็กน้อย เมื่อเปลี่ยนเลยได้แล้วให้มองกระจกซ้าย เปิดไฟเลี้ยวซ้ายและเปลี่ยนกลับมาเลนเดิม ขั้นตอนนี้ให้ระวังในตอนที่หักพวงมาลัยให้มาก ๆ อย่าหักแรงเกินไป เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้
เพื่อความอุ่นใจ สบายใจที่มากกว่า นอกจากมือใหม่หัดขับจะเรียนรู้เทคนิคการขับรถมือใหม่จนเกินความชำนาญแล้ว การให้ความใส่ใจในเรื่อง “ประกันภัยรถยนต์” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมือใหม่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก ๆ การมีประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทุกกรณีดูจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อแบบไหน เข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแผนประกันที่ตอบโจทย์ ในราคาสบายกระเป๋า
ก่อนออกถนนครั้งแรก มือใหม่หัดขับต้องรู้อะไรบ้าง ?
สำหรับ ‘ มือใหม่หัดขับ ‘ ที่เพิ่งได้ใบขับขี่มาหมาด ๆ แล้วอยากจะสตาร์ทรถบึ่งออกถนนใหญ่ทันที อยากให้ใจเย็น ๆ สักหน่อย เพราะมี “ข้อควรรู้’ รวมถึงเทคนิคการขับรถมือใหม่ที่ควรทำความเข้าใจให้ดีก่อน ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
มารยาทในการขับขี่
การใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัย ‘อย่างน้อย’ ควรทำตามกฎหมายจราจรและมีมารยาทในการขับขี่ โดยมารยาทเบื้องต้นที่มือใหม่หัดขับควรมีขณะใช้รถใช้ถนน มีดังนี้
- หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย
- ไม่ขับรถแช่ขวา
- รักษาระยะห่างจากรถคันด้านหน้า
- ให้สัญญาณไฟก่อนแซง
- ไม่ขับรถตัดหน้าคนอื่น
- ไม่ควรเปิดไฟสูงขณะขับรถสวนกับคันอื่น
- มองกระจกหลัง ให้สัญญาณไฟ รวมถึงให้รถคันอื่นไปก่อนแล้วถึงค่อยเปลี่ยนเลยรถ
ความเร็วตามกฎหมายกำหนด
นอกจากมารยาทในการขับขี่บนท้องถนนที่มือใหม่หัดขับควรรู้ ยังมีเรื่องความเร็วตามกฎหมายกำหนด ที่ควรทำความเข้าใจให้ดีด้วยเช่นกัน โดยข้อกำหนดในการใช้ความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกัน ไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน มีรายละเอียดดังนี้
- รถยนต์ วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม.
- รถเลนขวาสุด วิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ส่วนรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กก. หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน วิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.
- รถจักรยานยนต์ วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.
- รถจักรยานยนต์ 400 cc (บิ๊กไบค์) ขึ้นไป วิ่งไม่เกิน 110 กม./ชม.
- รถโรงเรียน วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.
- รถโดยสาร 7-15 คน วิ่งไม่เกิน 100 กม./ชม.
- รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม วิ่งไม่เกิน 45 กม./ชม.
- รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ วิ่งไม่เกิน 65 กม./ชม.
ต้องบอกก่อนว่าการสตาร์ทรถ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อนใด ๆ เลย เพียงแค่เข้าใจการสตาร์ทรถที่ถูกต้อง จะช่วยถนอมเครื่องยนต์ให้อยู่กับคุณไปได้อีกนาน และถ้าหากเป็นมือใหม่หัดขับ นอกจากจะต้องเรียนรู้วิธีสตาร์ทรถแล้ว ยังควรทำความเข้าใจเทคนิคการขับรถมือใหม่ให้ดี ฝึกฝนการขับขี่อย่างสม่ำเสมอจนคุ้นมือ เพียงเท่านี้คุณจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนได้ดีมาก ๆ แล้วล่ะ
คำจำกัดความ
เสียดสี | ถูกันไปมา |
ฟันเฟือง | ชิ้นส่วนเครื่องจักร มีรูปกลม และมีซี่อยู่โดยรอบ |
บึ่ง | วิ่งหรือขับไปโดยเร็ว |