จอดรถบนทางด่วนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ระวังโดนปรับไม่รู้ตัว

แชร์ต่อ
จอดรถบนทางด่วนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ระวังโดนปรับไม่รู้ตัว | มิสเตอร์ คุ้มค่า

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าจอดรถบนทางด่วนมีความผิดทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก อาจโดนโทษปรับไม่รู้ตัวได้เลย แต่ทำไมถึงห้ามหยุดรถ และมีอะไรที่ต้องรู้เพิ่มเติมบ้าง ? มิสเตอร์ คุ้มค่า ลิสต์ประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้ว ตามไปทำความเข้าใจกันเลยดีกว่า

ว่าด้วยเรื่องกฎหมายห้ามจอดรถบนทางด่วน มีอะไรต้องรู้บ้าง ?

“ทางด่วน” เป็นทางพิเศษซึ่งดูแลโดยทางการพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการจัดทำสัญญาประมูลหาและดูแล โดยให้ใช้ลักษณะให้เก็บค่าผ่านทาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 สาย ดังนี้

  • ทางด่วนเฉลิมมหานคร หรือ ทางด่วนขั้นที่ 1 (ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ)
  • ทางด่วนศรีรัช หรือ ทางด่วนขั้นที่ 2 (บางโคล่-แจ้งวัฒน , พญาไท-ศรีนครินทร์)
  • ทางด่วนฉลองรัช (จตุโชติ-รามอินทรา-อาจณรงค์)
  • ทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี)
  • ทางด่วนอุดรรัถยา (แจ้งวัฒนะ-บางปะอิน)
  • ทางพิเศษสาย S1 (อาจณรงค์–บางนา)ทางด่วนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอกด้านใต้ (บางพลี-พระราม 2)
  • ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์)
  • ทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวน, ทางด่วนหมอชิต-วงแหวน)

โดยระเบียบเกี่ยวกับการจราจรในทางพิเศษ พ.ศ.2555 ข้อ 8 กำหนดว่า “ห้ามมิให้หยุดรถหรือจอดรถในทางพิเศษ เว้นแต่บริเวณที่มีป้ายอนุญาตให้จอดรถชั่วคราว หรือในกรณีที่รถขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ” หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบดูแลในเขตพื้นที่ สามารถจับกุมและออกใบสั่งได้ทันที

เหตุผลที่ห้ามจอดรถบนทางด่วน คืออะไร ?

เมื่อทำความเข้าใจการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจอดรถบนทางด่วนแล้ว หลายคนอาจยังคงสงสัยว่าทำไมถึงต้องห้ามจอด นั่นเป็นเพราะว่าเป็นในเรื่องของความปลอดภัยจราจร เนื่องจากทางด่วนพิเศษมีรถยนต์สัญจรค่อนข้างมาก และใช้ความเร็วค่อนข้างสูง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้มากกว่า

รถชน รถเสียบนทางด่วน ควรทำยังไง ?

หลังจากที่ทราบแล้วว่าบนทางด่วนห้ามหยุดรถ ทุกชนิด แล้วถ้าหากเกิดเหตุการณ์รถเสียขึ้นมาล่ะ? ต้องทำยังไง สิ่งแรกที่คุณควรทำ คือ รีบติดต่อขอความช่วยเหลือทันที โดยโทรติดต่อเบอร์ของทางด่วน เพราะ กทพ.จะมีบริการรถยกให้จนถึงทางลงบนทางด่วน จากนั้นค่อยนัดหมายกับบริษัทประกันอีกที

จากนั้นให้ไปยังจุดที่นัดหมายทั้งคู่กรณีและเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับทำเรื่องเคลมประกันตามขั้นตอนต่อไป บอกไว้ก่อนเลยว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุใด ๆ บนทางด่วนที่คุณไม่อยากให้เกิด สิ่งที่ควรทำคือ “ติดต่อเบอร์ฉุกเฉินทางด่วน” ที่เบอร์ 1543 ให้เรียบร้อยก่อน เหตุผลที่ไม่ให้โทรหาบริษัทประกันก่อน เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ประกันไม่สามารถขึ้นไปเคลียร์บนทางด่วนได้นั่นเอง

แม้ว่าทาง กทพ. จะมีบริการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุรถเสีย รถชน จนพารถของคุณลงมาด้านล่างทางด่วนได้อย่างปลอดภัย เลี่ยงการจอดรถบนทางด่วนเพื่อความปลอดภัยจราจร แต่ “ประกันภัยรถยนต์” ยังมีความสำคัญมาก ๆ เพราะช่วยรับไม้ต่อในการเคลม รวมถึงต่อรองกับคู่กรณีได้อีกด้วย เช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์และแผนความคุ้มครองกับ มิสเตอร์ คุ้มค่า เพื่อความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ได้แล้ววันนี้

เบอร์โทรฉุกเฉินที่ควรบันทึกเอาไว้ มีอะไรบ้าง ?

แม้ว่าคุณจะปฏิบัติตามกฎการขับรถอย่างถูกต้อง ตามกฎหมายจราจรใหม่อยู่เสมอ แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ 100% โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุบนทางด่วน ที่ไม่สามารถติดต่อบริษัทประกันให้ขึ้นไปเคลียร์ด้านบนได้ ดังนั้นจึงควรบันทึก “เบอร์ฉุกเฉิน” ติดโทรศัพท์เอาไว้สักหน่อย เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือขณะจอดรถบนทางด่วนได้อย่างทันท่วงที เบอร์ฉุกเฉินที่ควรมีติดไว้มีดังนี้

สายตรงทางด่วน 1543

เบอร์ฉุกเฉินทางด่วน สำหรับขอความช่วยเหลือรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วน แนะนำให้ติดต่อไปที่สายตรงทางด่วนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หลังจากโทรแจ้งแล้วศูนย์ช่วยเหลือรถเสียฉุกเฉิน จะมายังที่เกิดเหตุหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงค่อยแจ้งส่วนอื่น ๆ ต่อไป

เจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669

นอกจากอุบัติเหตุฉุกเฉินบนท้องถนนแล้ว การเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน หากเกิดเหตุป่วย ไม่สบาย หรือโรคประจำตัวกำเริบ รวมถึงเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ สามารถติดต่อไปที่ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันที

แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191

ถือเป็นเบอร์สารพัดประโยชน์ขั้นสุด เนื่องจากสามารถแจ้งเหตุด่วน เหตุร้ายต่าง ๆ ได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน รวมถึงแจ้งเหตุโจรกรรม, ปล้นจี้ หรืออื่น ๆ ได้อีกด้วย

มารยาทที่ต้องรู้ เมื่อขับรถบนทางด่วนพิเศษ ?

เพื่อความปลอดภัยจราจรเมื่อขับรถบนทางด่วน “มารยาทในการขับขี่” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรให้ความใส่ใจไม่แพ้ไปกว่าการปฏิบัติกฎหมายจราจรใหม่เลยสักนิด ซึ่งจะมีกฎระเบียบการขับรถที่ควรรู้บ้าง? ตามไปดูกันสักหน่อยดีกว่า

  • 1. เว้นระยะห่างจากรถคันด้านหน้า

    การเว้นระยะห่างจากรถคันด้านหน้าอย่างเหมาะสม เมื่อต้องขับขี่บนทางด่วนพิเศษ ควรเป็นระยะที่พอดีสำหรับการเบรกฉุกเฉินแล้วไม่ชนท้ายรถคันด้านหน้า โดยทั่วไปควรเว้นระยะห่าง ‘อย่างน้อย’ 2 ช่วงคันรถ

  • 2. อยู่ในเลนที่เหมาะสม

    ตามปกติแล้วบนทางด่วนจะมีทั้งหมด 3-4 เลย ตามกฎจราจรการขับรถเลนด้านขวาสุด จะเป็นเลนที่ใช้สำหรับแซงเท่านั้น หากรู้ตัวว่าจับช้าควรขับเลยซ้ายสุด เว้นแต่จะมีรถคันอื่นที่ต้องการแซงอยู่ข้างหน้า

  • 3. ไม่ขับจี้ท้ายรถคันหน้า

    การขับรถจี้ท้ายรถคันด้านหน้า นอกจากจะทำให้ไม่สามารถเบรกฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัยแล้ว เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แล้ว ยังไม่ใช่มารยาทการขับขี่ที่พึงกระทำอีกด้วย

  • 4. ใช้สัญญาณไฟเลี้ยวก่อนเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยวออกทุกครั้ง

    ว่าด้วยกฎหมายขับรถการใช้สัญญาณไฟเลี้ยว จะช่วยให้ผู้ขับขี่บนทางด่วนคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ รู้ว่าคุณกำลังจะเปลี่ยนเลย หรือเลี้ยวออกทางออก ทำให้สามารถเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดความปลอดภัยจราจรทั้งคุณและผู้อื่น

  • 5. ไม่จอดรถบนทางด่วน

    สิ่งที่ไม่ควรทำมาก ๆ และเป็นมารยาทที่คนมีรถทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ คือ ห้ามจอดรถบนทางด่วนโดยไม่มีเหตุจำเป็นโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฏจราจรแล้ว ยังเป็นอันตรายทั้งต่อคุณและผู้อื่นอีกด้วย

    เพราะการจอดรถบนทางด่วนอาจทำให้รถคันอื่นที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงชนท้าย ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ หากต้องการจอดรถบนทางด่วนเมื่อมีเหตุจำเป็น ควรจอดที่จุดพักรถหรือจุดบริการบนทางด่วนเท่านั้น

  • 6. มีน้ำใจให้ผู้อื่น

    การมีน้ำใจให้กับผู้อื่นบนท้องถนน หรือเป็นมารยาทการขับขี่ที่ดีมาก ๆ เช่น การเว้นทางให้รถฉุกเฉิน, การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ, การให้สัญญาณไฟเลี้ยว ฯลฯ นอกจากนี้ยังควรใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม ไม่เมาสุราขณะขับรถ เพียงเท่านี้จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ดีมาก ๆ แล้ว

  • 7. เปิดไฟหน้าทุกครั้ง

    ทุก ๆ ครั้งที่ต้องขับรถขึ้นทางด่วนพิเศษ ควรเปิดไฟหน้ารถทุกครั้งไม่ว่าจะขับในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงเวลากลางคืน เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ บนท้องถนนได้ชัดเจน รวมถึงมองเห็นรถคันอื่นที่อยู่รอบ ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

อะไรบ้างที่ไม่ควรทำ เมื่อรถเสียบนทางด่วน ?

อะไรบ้างที่ไม่ควรทำ เมื่อรถเสียบนทางด่วน ? | มิสเตอร์ คุ้มค่า

ในกรณีที่รถเสียจนเป็นเหตุให้ต้องจอดรถบนทางด่วน แม้กรณีนี้จะเป็นข้อยกเว้น ไม่มีความผิดตามกฎจราจร แต่ก็มี ‘สิ่งที่ไม่ควรทำ’ ที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรู้เอาไว้ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

  • 1. ไม่เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือส่งสัญญาณเตือนแบบอื่น ๆ

    ทันทีที่รับรู้ว่ารถยนต์ของคุณมีอาการผิดปกติ ควรเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนเพื่อนร่วมทางทันทีเพื่อความปลอดภัยจราจร จากนั้นให้นำกรวย, ป้ายสะท้อนแสง, กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ มาวางให้ห่างจากรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร (เมื่ออยู่ในเขตเมือง)

    แต่ถ้าอยู่บนทางหลวงสายหลัก ให้วางสิ่งของห่างจากรถในระยะไม่ต่ำกว่า 100-150 เมตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่คนอื่น ๆ ทราบว่ามีรถจอดเสีย เพื่อเพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน

  • 2. จอดรถขวางเส้นทางจราจร หรือกีดขวางทางขึ้น-ลงทางด่วน

    อย่างที่ทราบกันดีว่ารถที่สัญจรไปมาบนทางด่วน ล้วนใช้ความเร็วที่มากกว่าเส้นทางจราจรปกติ เนื่องจากเป็นทางตรงระยะยาว ดังนั้นหากรถของคุณเริ่มมีอาการผิดปกติ คล้ายว่าจะเสียกลางทาง แนะนำให้รีบขับชิดไหล่ทางด้านซ้ายทันที เพื่อไม่ให้กีดขวางช่องทางการจราจร

    หากจุดที่รถจอดอยู่เป็นบริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วน ควรนำรถออกให้พ้นบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นจุดที่มีไหล่ทางค่อนข้างแคบ มุมอับสายตา เป็นคอขวดและทางแยก อาจทำให้รถคันอื่นมองไม่เห็นจนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้

  • 3. เปิดประตูรถทางด้านขวามือทิ้งไว้

    กรณีที่เปิดประตูรถด้านขวามือทิ้งไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้อนได้ เนื่องจากผู้ขับขี่ที่ตามมาอาจเบี่ยงรถออกซ้ายกะทันหัน จนเกิดเหตุเฉี่ยวชนตามมา

  • 4. ไม่หมุนพวงมาลัยให้ล้อหักเข้าขอบทาง

    เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามมาเมื่อมีเหตุให้ต้องหยุดรถบนทางด่วน (รถเสีย) ควรหมุนพวงมาลัยให้ล้อหักเข้าขอบทางให้เรียบร้อย ในกรณีที่ถูกรถที่ขับตามมาพุ่งชนท้าย รถของคุณจะได้ไม่พุ่งออกขวา หรือพุ่งชนรถคันอื่น

  • 5. ลงมายืนรอความช่วยเหลือด้านนอกรถ

    เมื่อเกิดเหตุรถเสียบนทางด่วน การลงมายืนรอความช่วยเหลือด้านนอกรถไม่ใช่เรื่องที่ควรทำเลย เพราะถ้าหากรถคันอื่น ๆ ไม่ทันสังเกตว่ามีรถจอดเสียอยู่ ทำให้พุ่งชนท้ายรถ อาจทำให้คุณที่อาจยืนอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างรถเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อโทรขอความช่วยเหลือแล้ว ให้นั่งรออยู่ภายในรถพร้อมคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย

การขับขี่ด้วยบนท้องถนนอย่างปลอดภัย ตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก โดยเฉพาะบนทางด่วนพิเศษ นอกจากจะห้ามจอดรถบนทางด่วน โดยไม่มีเหตุจำเป็นแล้ว ยังควรมีมารยาท ปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัด และควรสังเกตุเครื่องหมายหยุดรถ เครื่องหมายห้ามหยุด รวมถึงเครื่องหมายอื่น ๆ อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา

คำจำกัดความ
​​ทางด่วน ​ถนนซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เดินทางได้รวดเร็ว ลดปัญหาการจราจรติดขัด มีการกำหนดจุดให้ยานพาหนะเข้าออกเฉพาะที่ และไม่มีทางอื่นตัดผ่านในระดับเดียวกัน
​ไหล่ทาง ​ขอบถนนที่อยู่ติดกับทางจราจรทั้ง 2 ข้าง
​เลน ​ช่อง, ทาง, ทางวิ่ง​

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่