นับเป็นอีกหนึ่งสุดยอดคำค้นหาสำหรับคนที่สนใจเรื่องรถ ว่าด้วยเรื่องประเด็น ซื้อรถต่างประเทศ นําเข้าไทย (แบบนำเข้ามาใช้เอง) นั้นทำได้หรือไม่ ? และถ้าหากนำเข้ามาได้จะต้องมีขั้นตอนใด ๆ เพิ่มเติมบ้าง ? ซึ่งถ้าหากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องการจะ “นำเข้ารถยนต์” มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวมรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ มาให้คุณได้ทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จะมีรายละเอียดการซื้อรถต่างประเทศ นําเข้ารถยนต์เป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามพร้อม ๆ กับเราได้เลย !
ซื้อรถต่างประเทศ นําเข้าไทย สามารถทำได้จริงไหม !?
การนำเข้ารถยนต์ต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย สามารถ “ทำได้” แต่เพื่อเป็นการป้องกันการ “ลักลอบนำเข้ารถแบบผิดกฎหมาย” กระทรวงพาณิชย์จึงได้ทำการยกร่าง ครม.เพื่อควบคุมรถยนต์นำเข้า รวมถึงเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม และการฟอกเงิน โดย ครม.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา
หากคุณต้องการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วมาใช้เอง จำเป็นจะต้องศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ขออนุญาต และขอจดทะเบียน” นำเข้าตามกฎหมาย
“ลักษณะรถยนต์ใช้แล้ว” ที่นำเข้ามาในประเทศไทยได้เป็นอย่างไร ?
ต้องอธิบายก่อนว่า “ไม่ใช่รถใช้แล้วทุกคันที่ถูกห้ามนำเข้าประเทศไทย” แต่จะต้องเป็นรถที่มีลักษณะตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ รถยนต์ใช้แล้ว และรถยนต์ส่วนตัวที่ใช้/ครอบครองในตอนที่อยู่ต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. รถมือสอง หรือ รถยนต์ใช้แล้ว (ต้องซื้อเพื่อนำเข้ามาใช้ ‘ส่วนตัว’ เท่านั้น)
ทางกฎหมายเรียกว่า “รถยนต์ส่วนตัวใช้แล้ว” หรือ “รถมือสองที่ขายทอดตลาดในต่างประเทศ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศไทยได้ เว้นแต่ว่าจะเป็นรถที่ซื้อและใช้งานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน (ในตอนที่อยู่ต่างประเทศ) และคนที่นำเข้าจะต้องอาศัยอยู่ต่างประเทศ “ติดต่อกัน” ไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือนด้วยเช่นกัน
2. รถยนต์ส่วนตัวที่ใช้และครอบครองในตอนที่อยู่ต่างประเทศ
ทางกฎหมายเรียกว่า “รถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว” ขยายความได้ว่ารถยนต์ส่วนตัวที่ได้ครอบครอง และถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของแบบ “เต็มตัว” เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน และจะต้องอยู่ต่างประเทศติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือนเช่นเดีวกัน
สำหรับเงื่อนไขของ “รถยนต์ใช้แล้ว” ที่สามารถนำมาจดทะเบียนรถยนต์นำเข้า และขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทย จำเป็นจะต้องผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
กรณี “คนไทย” ขออนุญาตนำเข้ารถยนต์
- สามารถนำเข้ามาได้คนละ 1 คันเท่านั้น และจะต้องอาศัยอยู่ต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน พร้อมกับถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองรถยนต์ ในตอนที่อยู่ต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน
- มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของประเทศที่ใช้รถ (ใบขับขี่นานาชาติ) ในขณะที่ถือครองกรรมสิทธิ์
- ไม่สามารถจำหน่าย ถ่าย โอนรถยนต์ที่นำเข้าเป็นระยะเวลา 3 ปี ยกเว้นกรณีที่ตกทอดทางมรดกเท่านั้น
กรณี “ชาวต่างชาติ” ขออนุญาตนำเข้ารถยนต์
- สามารถนำเข้ามาได้คนละ 1 คันเท่านั้น และจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย “ไม่ต่ำกว่า” 1 ปี และได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย
- มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของประเทศที่ใช้รถ (ใบขับขี่นานาชาติ) ในขณะที่ถือครองกรรมสิทธิ์
- ไม่สามารถจำหน่าย ถ่าย โอนรถยนต์ที่นำเข้าเป็นระยะเวลา 3 ปี ยกเว้นกรณีที่ตกทอดทางมรดกเท่านั้น
- สำหรับชาวต่างชาติที่เกษียณอายุแล้ว หรือมีคู่สมรสเป็นคนไทย และมีความประสงค์จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ก็สามารถนำเข้าได้เช่นกัน
หลังจากรถยนต์ที่ต้องการนำเข้ามาในประเทศไทย ได้รับใบรับรองจากกรมศุลกากรแล้ว จะต้องทำการจะทะเบียนรถยนต์นำเข้า ตามระเบียบ “กรมขนส่งทางบก” ตามขั้นตอนต่อไปนี้
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้
- 1. ใบรับรองการนำเข้าจากกรมศุลกากร (แบบ 32)
- 2. สำเนาใบขนส่งสินค้าขาเข้า บัญชีแสดงรายการสินค้า และใบเสร็จรับเงินค่าอากรขาเข้า
- 3. หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมาย
- 4. หลักฐานเพื่อแสดงการเป็นเจ้าของรถ
- 5. หนังสือเดินทาง โดยได้รับการตรวจลงวีซ่าแบบถูกต้องตามกฎหมาย (กรณีชาวต่างชาติ)
- 6. หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่จากสถานทูต สถานกงสุล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยราชการหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือหนังสือรับรองการทำงาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
ขั้นตอนการขอจดทะเบียน
- 1. ยื่นคำขอจดทะเบียนรถที่กรมขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมแนบเอกสารต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักฐาน
- 2. ยื่นขอตัดบัญชีรถ ที่ส่วนควบคุมบัญชีรถและเครื่องยนต์
- 3. ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีที่งานทะเบียนรถ
- 4. รับใบเสร็จรับเงิน แผ่นป้ายทะเบียน เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์
สำหรับขั้นตอนการขอจดทะเบียนนำเข้ารถยนต์ จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หากไม่สะดวกที่จะดำเนินการด้วยตัวเอง อย่าปล่อยปละละเลยเด็ดขาด ควรทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ให้ผู้รับอำนาจไปดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้น เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคต
แม้ว่าการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในประเทศไทย จะเป็น “เรื่องต้องห้าม” แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นรถต้องห้ามทุกคันเสียเมื่อไหร่ หากคุณมั่นใจว่ารถยนต์ของคุณเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถนำเข้ามาได้ เพียงแต่จะต้องทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย และอย่าลืม “ซื้อประกันรถยนต์” ด้วย เพื่อการเดินทางที่อุ่นใจของคุณเอง