หัวข้อที่น่าสนใจ
- ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ?
- 1. โรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้า
- 2. ไอเสียจากรถยนต์
- 3. การเผาในที่โล่งและไม่โล่ง
- อันตรายอะไรบ้างที่มาพร้อมกับ ฝุ่น PM 2.5 ?
- 1. อันตรายต่อทางเดินหายใจและปอด
- 2. อันตรายต่อสมอง
- 3. อันตรายต่อหัวใจ
- จะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในรถได้ยังไงบ้าง ?
- 1. ปิดหน้าต่างให้สนิท
- 2. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในรถ
- 3. เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเป็นแบบ HEPA
- 4. หมั่นตรวจสภาพการเผาไหม้ของรถ
- รู้หรือไม่ พฤติกรรมการใช้รถช่วยลด ฝุ่น PM 2.5 ได้ ?
- 1. ดับเครื่องขณะจอด
- 2. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา
- 3. หมั่นตรวจสอบความพร้อมของรถยนต์
- 4. ลดการใช้รถยนต์
น่ากลัวแค่ไหนหากอากาศที่คุณหายใจเข้าไป รู้ดีว่า “ไม่สะอาด” เลี่ยงยากเพราะประเทศไทยเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศอย่างหนักหน่วงมาเป็นเวลานาน ทั้งปัญหาหมอกควัน มาจนถึงฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย แม้กระทั่ง “ในรถยนต์” ที่มีกรองอากาศ ยังต้องใช้เครื่องฟอกอากาศเข้าช่วย คำถามก็คือ หากต้องสูดดมฝุ่นไปเรื่อย ๆ จะอันตรายไหม หรือจะมีวิธีไหนที่ป้องกันได้บ้างภัยเงียบนี้ได้ในรถคุณบ้าง มิสเตอร์ คุ้มค่า จะมาเล่าให้ฟัง
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ?
Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถือเป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ คนไทยรู้จักฝุ่นตัวนี้มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2562 เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบาดอย่างหนัก ท้องฟ้าเกือบทั่วทั้งเมืองไทยหม่นหมอง ไม่สดใส
ทว่าในความเป็นจริง ฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หรือเกินค่ามาตรฐานเป็นครั้งแรก แต่มันมีอยู่และจางหายเป็นวัฏจักรมานานหลายปีแล้ว ซึ่งต้นเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นชนิดนี้ มีอยู่ 3 ต้นเหตุ ดังนี้
1. โรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้า
อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ถ่านหิน” ตลอดจนการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง
2. ไอเสียจากรถยนต์
จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ การเผาไหม้น้ำมันดีเซลบวกกับการจราจรที่ติดขัด เป็นสาเหตุสำคัญที่สุด เนื่องจากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลทำให้เกิดเขม่า และควันดำ ซึ่งนอกจากจะมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งแล้ว ยังทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย
3. การเผาในที่โล่งและไม่โล่ง
หลายคนคงเคยได้ยินแต่ประโยคที่ว่า “การเผาขยะถือเป็นการทำให้โลกร้อนขึ้น” เนื่องจากควัน = ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็คือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน แต่มันยังทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาพเกษตร เพื่อการเตรียมการเพาะปลูก และการเผาป่าด้วยเช่นกัน
ค่า AQI ที่มาพร้อมกับฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ?
เมื่อพูดถึงเรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็มักเห็นคำว่า AQI พ่วงมากด้วยทุกครั้ง ซึ่งคำคำนี้ย่อมาจาก Air Quality Index หรือดัชนีคุณภาพอากาศ ประเทศไทยได้มีการนำดัชนีดังกล่าว มาใช้รายงานสภาพอากาศสักระยะแล้วพร้อม ๆ กับการมาของฝุ่นจิ๋ว นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีการเพิ่มฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในการคำนวณ AQI ด้วย
ในปี พ.ศ.2562 กรมควบคุมมลพิษ ได้อธิบายว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้แทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่
- ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
- ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
- โอโซน (O3)
- คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
- ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
โดย “เกณฑ์” ของดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย มีดังนี้
AQI | คุณภาพ | สีที่ใช้ | คำอธิบาย |
---|---|---|---|
0-25 | ดีมาก | สีฟ้า | สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ |
26-50 | ดี | สีเขียว | สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ |
51-100 | ปานกลาง | สีเหลือง | ประชาชนทั่วไป - สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ประชาชนทั่วไป - สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ - หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง |
101-200 | เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ | สีส้ม | ประชาชนทั่วไป - ควรเฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองร่วมด้วย ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ - ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองร่วมด้วย หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ |
201 ขึ้นไป | มีผลกระทบต่อสุขภาพ | สีแดง | ทุกคน - ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองร่วมด้วย หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ |
อันตรายอะไรบ้างที่มาพร้อมกับ ฝุ่น PM 2.5 ?
แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่มันกลับก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้มากมาย ดังนี้
1. อันตรายต่อทางเดินหายใจและปอด
ด้วยความที่ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก ๆ สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรืออาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากปล่อยให้สะสมในปอดหรือระบบทางเดินหายใจเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
2. อันตรายต่อสมอง
แม้จะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่ถ้าหากผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้นมา จะทำให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด
3. อันตรายต่อหัวใจ
การสูดหายใจเอาฝุ่นพิษเข้าไปในร่างกายติดต่อกัน ส่งผลให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้หัวใจวาย หรือหลอดลมสมองตีบได้ นอกจากนี้การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศยังส่งผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลันได้
นอกจากจะให้ความสำคัญกับอันตรายที่มาพร้อมกับฝุ่น PM 2.5 แล้ว อันตรายที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน จะดีแค่ไหนหากคุณมีประกันภัยรถยนต์ ช่วยดูแลเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น หากอยากมีตัวช่วยดี ๆ นอกจากประกันภัยด้านสุขภาพ เข้ามาเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ก่อนใคร เรายินดีนำเสนอประกันรถยนต์ราคาสบายกระเป๋าให้คุณเลือกตลอด 24 ชั่วโมง
จะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในรถได้ยังไงบ้าง ?
หลังจากได้รู้ความน่ากลัวและอันตรายที่มาพร้อมกับฝุ่นตัวร้ายแล้ว หลายคนคงเกิดความกังวลไม่น้อย มิสเตอร์ คุ้มค่า ได้รวบรวม “วิธีป้องกันฝุ่นเข้ารถ” มาให้ เพื่อมั่นใจว่าการหายใจในรถของคุณจะไม่ทำให้เสี่ยงสูดฝุ่นจิ๋วเข้าไปเป็นอันตราย มีอะไรบ้างไปดูกัน
1. ปิดหน้าต่างให้สนิท
วิธีป้องกันฝุ่นเข้ารถที่ง่ายที่สุด คือ การเปิดหน้าต่างรถยนต์ให้สนิท และปรับช่องระบายอากาศให้เป็นแบบ “อากาศหมุนเวียนภายในรถ” เพื่อไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 จากภายนอกเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
2. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในรถ
หากต้องการ “ตัวช่วย” ในการป้องกัน การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ แนะนำให้เลือกเครื่องฟอกอากาศที่ใช้แผ่นกรอง HEPA ที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นขนาดเล็ก และบางรุ่นก็ยังช่วยกำจัดเชื้อไวรัส และกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย
3. เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเป็นแบบ HEPA
HEPA ย่อมาจากคำว่า High-efficiency particulate air เป็นวัสดุที่มีการจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอนได้ และสามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้มากถึง 90%
4. หมั่นตรวจสภาพการเผาไหม้ของรถ
อีกหนึ่งวิธีป้องกันและแก้ปัญหาได้ดี คือ การนำรถไปตรวจเช็คที่สถานตรวจสภาพเอกชน (ตรอ.) เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ
รู้หรือไม่ พฤติกรรมการใช้รถช่วยลด ฝุ่น PM 2.5 ได้ ?
หลังจากทำความเข้าใจวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 แล้ว รู้ไหมว่า “พฤติกรรมการใช้รถ” ก็ช่วยลดฝุ่นจิ๋วตัวร้ายได้เช่นกัน แต่จะต้องทำยังไงบ้าง ตามไปดูกันเลย
1. ดับเครื่องขณะจอด
หากต้องจอดรถอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน การดับเครื่องถือเป็นการกระทำที่ดีที่สุด เพราะการจอดรถแบบไม่ดับเครื่อง จะทำให้เกิดไอเสียและควันดำ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ยังทำให้โลกร้อนอีกด้วย
2. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง รวมไปทำความสะอาดหม้อกรองอากาศ หรือเปลี่ยนหม้อกรองใหม่ นอกจากจะเป็นการการบำรุงรักษารถยนต์ที่ควรทำแล้ว ยังช่วยให้รถยนต์ของคุณกำจัดคราบเขม่าที่ตกค้างภายในได้ดี เนื่องจากคราบเขม่าต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดควันดำ ที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดฝุ่นจิ๋วพิษนั่นเอง
3. หมั่นตรวจสอบความพร้อมของรถยนต์
ควรตรวจเช็กความพร้อมของรถยนต์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบกรองอากาศ ระบบแอร์ ไส้กรองอากาศ เปลี่ยนน้ำมันเก่า ตรวจเช็กหัวฉีดจ่ายน้ำมัน และปรับตั้งหัวฉีดให้เหมาะสม เพื่อการจ่ายเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ และลดโอกาสสร้างมลพิษทางอากาศ
4. ลดการใช้รถยนต์
การลดการใช้รถยนต์ และเลือกใช้งานเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น หันไปใช้ขนส่งสาธารณะ หรือใช้วิธีไปทางเดียวกันไปด้วยกัน ก็จะช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ให้น้อยลงได้เช่นกัน
นอกจากนี้การดูแลรถอย่างถูกต้อง หมั่นใช้ที่ดูดฝุ่นในรถทำความสะอาดภายในห้องโดยสาร และล้างรถอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดการเกาะของคราบฝุ่น และลดการสะสมของเชื้อโรคได้ดีมาก ๆ เช่นกัน แนะนำให้ใช้วิธีล้างรถที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา หรือจะใช้บริการล้างรถอัตโนมัติ หรือล้างรถ 24 ชม ก็ช่วยทุ่นแรงไปอีกแบบ
เห็นแล้วใช่ไหมว่า ? ฝุ่น PM 2.5 แม้จะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับมี “พิษ” ร้ายแรง คร่าชีวิตคนเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้นนอกจากจะใส่หน้ากากอนามัยเวลาไปข้างนอกแล้ว อย่าลืมป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้ามาในรถ หมั่นใช้เครื่องดูดฝุ่นในรถ และล้างรถอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งแล้วล่ะ
คำจำกัดความ
หม่นหมอง | หมองหม่น, ไม่สบายใจ, ไม่สดชื่น, ไม่เบิกบาน, ไม่แจ่มใส |
เฉียบพลัน | อาการของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรง |
ความหนืด | ความต้านทานการไหลในตัวของเหลว ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปจากการกระทำของ ความเค้นเฉือน หรือความเค้นภายนอก |
กำเริบ | เพิ่มขึ้น, รุนแรงขึ้น |