หัวข้อที่น่าสนใจ
- รถกระบะมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
- 1. กระบะตอนเดียว
- 2. รถกระบะตอนครึ่ง
- 3. รถกระบะ 4 ประตู
- 4. รถกระบะยกสูง
- รถกระบะบรรทุก (เชิงพาณิชย์) ทำประกันยังไงให้คุ้มค่า ?
- 1. วัตถุประสงค์ในการใช้รถ
- 2. วงเงินคุ้มครอง
- 3. เงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์
- 4. การบริการของบริษัทประกัน
- ใช้งานรถกระบะบรรทุกยังไง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ?
- 1. การดัดแปลงรถกระบะเพิ่มเติม สำหรับบรรทุกของ
- 2. รถกระบะบรรทุก ต้องคำนึงถึงความกว้าง ยาว และสูง
- 3. บรรทุกของแบบเปิดท้ายกระบะ
- 4. รถกระบะที่บรรทุกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- แต่งรถกระบะยังไง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ?
- 1. ยาง
- 2. ความสูง
- 3. ฝากระโปรงหน้ารถ
- 4. หลังคา
- 5. ต่อเติมคอก หรือทำรถปิ๊กอัพ
- 6. แต่งท่อไอเสียให้บวม
เมื่อต้องขนย้ายสิ่งของขนาดใหญ่ ปริมาณมาก “ รถกระบะบรรทุก “ เป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ถูกนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ แต่การใช้งานกระบะบรรทุกหนักใช่ว่าอยากจะทำแบบไหนก็ทำได้ เพราะมีข้อจำกัดในด้านกฎหมายที่ต้องรู้ หากไม่อยากถูกจับ ถูกปรับไม่รู้ตัว ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการบรรทุกของหลังรถกระบะกันเลย
รถกระบะมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
ขึ้นชื่อว่า “ รถกระบะ “ หลาย ๆ คนก็เหมารวมว่าสามารถใช้บรรทุกของได้เหมือนกัน แต่จะดีกว่าไหม? หากคุณรู้จักประเภทของมัน และเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม แต่จะมีประเภทไหนที่สามารถใช้เป็นรถกระบะบรรทุกหนักได้บ้าง ตามไปดูกัน
1. กระบะตอนเดียว
สำหรับรถกระบะตอนเดียว มีลักษณะตัวถังแบบหัวเก๋งเดี่ยว ไม่มีเบาะหลังคนขับ เนื่องจากจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับขนของโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่นิยมนำไปติดอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม เช่น ตู้ทึบ, คอก, Carryboy เป็นต้น นอกจากนี้รถยนต์แต่ละแบรนด์ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้
- รถกระบะอีซูซุ เรียกว่า SPARK
- รถโตโยต้ากระบะ เรียกว่า Standard Cab
- Ford เรียกว่า Standard Cab
- MITSUBISHI เรียกว่า Single Cab
- NISSAN เรียกว่า Single Cab
- CHEVROLET เรียกว่า S-Cab
- MAZDA เรียกว่า Stardard Cab
2. รถกระบะตอนครึ่ง
หลายคนนิยมเรียกรถกระบะตอนครึ่งกันว่า “ กระบะแคป “ เป็นรถกระบะที่เสริมเบาะข้างหลังเป็นพื้นที่จัดเก็บ “สัมภาระที่ไม่ต้องการให้โดนแดด” แถมยังสามารถนั่งข้างหลังได้ ในส่วนของประตูรถก็สามารถเปิดได้คล้ายกับประตูเสริม ช่วยในการขึ้นลงและขนของได้ดี โดยชื่อเรียกของแต่ละแบรนด์มีดังนี้
- กระบะอีซูซุ เรียกว่า Spacecab
- รถโตโยต้ากระบะ เรียกว่า Smart Cab, Xtracab
- Ford เรียกว่า Open Cab
- MITSUBISHI เรียกว่า Mega Cab
- NISSAN เรียกว่า King Cab
- CHEVROLET เรียกว่า X-Cab
- MAZDA เรียกว่า Frestyle Cab
3. รถกระบะ 4 ประตู
สำหรับรถกระบะ 4 ประตู ถือเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีภายในค่อนข้างกว้าง แถมยังมาพร้อมกับประตูที่สามารถเปิดเข้าออกได้ง่าย สะดวกสบาย ส่วนใหญ่รู้จักกันดีในชื่อว่า DOUBLE CAB แต่บางแบรนด์ก็จะมีชื่อเรียกต่างกันเช่นเคย
- รถกระบะอีซูซุ เรียกว่า Cab4
- รถโตโยต้ากระบะ เรียกว่า DOUBLE CAB
- Ford เรียกว่า DOUBLE CAB
- MITSUBISHI เรียกว่า DOUBLE CAB
- NISSAN เรียกว่า DOUBLE CAB
- CHEVROLET เรียกว่า C-Cab
- MAZDA เรียกว่า DOUBLE CAB
4. รถกระบะยกสูง
ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 รถกระบะยกสูงก็ได้รับความนิยมเรื่อยมา โดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบบุกลุยข้ามน้ำท่วม เนื่องจากมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่าตัวธรรมดา ทำให้หลายค่ายนำรถกระบะรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อปกติไปเสริมช่วงล่างใหม่ มีให้เลือกทั้งรถกระบะตอนครึ่ง และรถกระบะ 4 ประตู ที่ขับเคลื่อนล้อหลังเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อแยกความแตกต่างจากรุ่นยกสูงขับ 4 ล้อ แต่ละแบรนด์จึงต้องตั้งชื่อออกมาขายให้แตกต่างกันตามไปด้วย โดยแต่ละแบรนด์ก็มีการตั้งชื่อว่าดังนี้
- กระบะอีซูซุ เรียกว่า Hi-lander
- รถโตโยต้ากระบะ เรียกว่า Prerunner
- Ford เรียกว่า Hi-rider
- MITSUBISHI เรียกว่า Plus
- NISSAN เรียกว่า Calibre
- CHEVROLET เรียกว่า Hi-country
- MAZDA เรียกว่า Hi-racer
รถกระบะบรรทุก (เชิงพาณิชย์) ทำประกันยังไงให้คุ้มค่า ?
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่ารถกระบะบรรทุกที่ใช้งานเชิงพาณิชย์มีค่าเบี้ยประกัน “สูงกว่า” ประกันรถกระบะที่ใช้งานทั่วไป หากต้องการได้รับความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ คุ้มค่า เรามีสิ่งที่ต้องพิจารณามาบอกต่อ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ในการใช้รถ
ลองถามตัวเองให้ดี ๆ ว่าลึก ๆ แล้วต้องการนำรถกระบะไปทำอะไร เนื่องจากแต่ละบริษัท/ธุรกิจมีความเสี่ยงแตกต่างกัน เช่น หากใช้สำหรับขนส่งระยะทางไกล อาจต้องการความคุ้มครองส่วนนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการคุ้มครองสินค้าที่ส่ง หากตอบคำถามข้อนี้ได้ จะช่วยให้คุณกำหนดประเภทความคุ้มครองที่ต้องการ รวมถึงจ่ายค่าเบี้ยประกันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
2. วงเงินคุ้มครอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถกระบะบรรทุกหนักมักมีการเสริม ดัดแปลง หรือต่อเติมอะไหล่ต่าง ๆ เข้าไปมากมาย ตลอดจนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนั้นการพิจารณาจาก “วงเงินคุ้มครอง” ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม
แนะนำให้ประเมินมูลค่าทั้งหมดเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาวงเงินคุ้มครอง ว่าครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ แน่นอนว่าเมื่อคุ้มครองสูง ค่าเบี้ยประกันก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ควรทำคือ “ตั้งงบประมาณที่พร้อมจะลงทุน” สำหรับการทำประกันรถกระบะเชิงพาณิชย์ในครั้งนั้น ๆ ด้วย
3. เงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์
ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะ รถเก๋ง หรือรถยนต์ประเภทใด ๆ ก็ตาม “เงื่อนไขความคุ้มครอง” เป็นสิ่งที่ควรตรวจสอบให้ดีก่อนเสมอ โดยเฉพาะสัญญาเพิ่มเติม เช็คให้แน่ใจว่าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ หรือสอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจจริง ๆ หรือเปล่า ไม่ว่าจะตกลงกันไว้ว่าอย่างไร ข้อตกลงทั้งหมดจะต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการปกปิดเงื่อนไขใด ๆ เอาไว้ในภายหลังเด็ดขาด
4. การบริการของบริษัทประกัน
“ความพร้อม และความรวดเร็วในการบริการ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรนำไปประกอบการพิจารณาอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ แนะนำให้ส่องรีวิวตามช่องทางต่าง ๆ ให้ดีก่อน
และนอกจากเรื่องบริการแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญในเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ และความมั่นคง” ของบริษัทประกันนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้คุณมั่นใจว่าจะได้รับการบริการ และความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
ด้วยความที่รถกระบะบรรทุก เป็นยานพาหนะที่ใช้งานหนักแทบจะตลอดเวลา แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก ๆ การทำประกันชั้น 3 อาจไม่ตอบโจทย์ แม้ว่าประกันชั้น 3 ราคาจะถูก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากก็ตาม หากอยากได้รับความคุ้มครองครอบคลุม คุ้มค่า เข้ามาเช็คราคาประกันรถยนต์กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ก่อนใครได้แล้ววันนี้
ใช้งานรถกระบะบรรทุกยังไง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ?
สำหรับคนที่ต้องการใช้งานรถกระบะในการบรรทุกสิ่งของ โดยเฉพาะของขนาดใหญ่ ควรรู้ “ข้อกฎหมาย” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2522) ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2552 ไว้ด้วย เพื่อที่จะได้ทราบข้อควรระวัง และข้อปฏิบัติ เลี่ยงถูกจับ ถูกปรับไม่ทันตั้งตัว ดังนี้
1. การดัดแปลงรถกระบะเพิ่มเติม สำหรับบรรทุกของ
การต่อเติมท้ายรถกระบะเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการบรรทุกของ บอกไว้ตรงนี้เลยว่า “ผิดกฎหมาย” ซึ่งระบุตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 60 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวระบุว่า “ในการดัดแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถจากรายการที่จดทะเบียนนั้น เช่น การติดตะแกรงเหล็กเสริมรั้วกระบะข้าง, การติดโครงเหล็กตะแกรงบนหลังคา จะต้องมีการแจ้งเข้าตรวจสภาพและแจ้งแก้ไข ณ สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียนไว้ เพื่อตรวจสอบว่ามีความแข็งแรง ทนทานหรือไม่ และป้องกันอันตรายหากมีการหลุดร่วงของตะแกรงเหล็ก จนเกิดอุบัติเหตุตามมา”
2. รถกระบะบรรทุก ต้องคำนึงถึงความกว้าง ยาว และสูง
การใช้กระบะแคป กระบะตอนเดียว รถกระบะอีซูซุ หรือใด ๆ ก็ตาม ขึ้นชื่อว่า “ รถกระบะ “ สำหรับขนหรือบรรทุกของต่าง ๆ นอกจากจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับ “ความถูกต้อง” เพื่อป้องกันการถูกปรับด้วย โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญหลัก ๆ คือ ความกว้าง ยาว และสูง ดังนี้
- ความกว้าง: ให้รถบรรทุกได้ไม่เกินส่วนกว้างของตัวรถ
- ความยาว: เมื่อบรรทุกของต้องไม่ยื่นเกินหน้าหม้อรถ และมีความยาวด้านหลังยื่นพ้นตัวรถ ไม่เกิน 2.5 เมตร
- ความสูง: เมื่อรถกระบะบรรทุกของแล้ว ส่วนใหญ่จะมีความสูงจากพื้นไม่เกิน 3 เมตร แต่ถ้าหากรถกระบะมีความกว้างกว่า 2.30 เมตร จะบรรทุกสูงจากพื้นได้ไม่เกิน 3.80 เมตร
3. บรรทุกของแบบเปิดท้ายกระบะ
สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องใช้งานรถกระบะบรรทุกแบบเปิดท้าย มีหลักปฏิบัติที่ควรปฏิบัติตาม ดังนี้
ช่วงเวลากลางวัน
ให้หาธงสีแดงเรืองแสง
ช่วงเวลากลางคืน
หรือช่วงเวลาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร ต้องติดไฟสัญญาณสีแดงที่มองเห็นชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
4. รถกระบะที่บรรทุกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อ้างอิงตามกฎหมาย พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 14 และมาตรา 15 ระบุว่า “ผู้ใดทำการขนส่งสุราในราชอาณาจักรเกินกว่า 1 ลิตร แต่ไม่เกิน 10 ลิตร เข้าในหรือออกนอกเขตพื้นที่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต ศุลกากร และต้องพกใบอนุญาตติดรถไว้ด้วย”
หมายความว่า การบรรทุกเครื่องดื่มมึนเมาหรือสุราสามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกิน 10 ลิตร หากต้องการใช้รถกระบะบรรทุกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 10 ลิตรหรือมากกว่า จะต้องมีใบอนุญาต แบบนี้ถึงจะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย
แต่งรถกระบะยังไง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ?
ด้วยความที่ต้องการใช้งานกระบะบรรทุกหนัก วัยรุ่นสร้างตัวหลายคนจึงจำเป็นต้อง “แต่ง” รถกระบะเพิ่มเติม ที่ไม่ใช่เน้นเพื่อสวยงามแต่เพื่อการใช้งาน เพื่อสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นล้วน ๆ และเพื่อความสะดวกในการขนย้ายสิ่งของ ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจ “ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการต่อเติมรถกระบะ” กันหน่อยดีกว่า ว่าแบบไหนทำได้หรือไม่ได้ เพื่อเลี่ยงค่าปรับที่อาจตามมาในภายหลัง
1. ยาง
เรื่องขนาดยางและความกว้างของดอกยาง ตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุออกมาตายตัว แต่ถ้าหากทำล้อใหญ่เกินไป ชนิดที่ว่ากีดขวางคนอื่นและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ก็มีสิทธิ์ถูกตรวจสอบได้ แต่ถ้ามีการยึดติดบางอย่างกับล้อ เช่น กระทะล้อ, เพลา ก็ต้องดูความเหมาะสมและความปลอดภัยด้วย
2. ความสูง
ในส่วนของการ “โหลดความสูง” ของรถกระบะ ข้อกำหนดจะเหมือนกับการดัดแปลงสภาพรถอื่น ๆ หากโหลดสูงต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร หากโหลดต่ำต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร
3. ฝากระโปรงหน้ารถ
ผู้ขับขี่รถกระบะบรรทุกหนักหลายคน นิยมเปลี่ยนฝากระโปรงหน้ารถเป็นสีดำ เพื่อเลี่ยงแสงสะท้อนจากกระโปรงหน้ารถในตอนกลางวัน ตามกฎหมายกำหนดว่า “ต้องทำสีใหม่ไม่เกิน 50% ของสีหลัก และต้องจดทะเบียนระบุไว้อย่างชัดเจน” หากไม่ได้ระบุมีสิทธิ์ถูกปรับ 2,000 บาท
4. หลังคา
การดัดแปลงสภาพหรือติดตั้งหลังคา ที่มีผลต่อความแข็งแรงต่อตัวรถ จะต้องแจ้งกับทางกรมขนส่ง โดยมีใบรับรองจากวิศวกร และต้องใช้เอกสารใบเสร็จการติดตั้งด้วย
5. ต่อเติมคอก หรือทำรถปิ๊กอัพ
สำหรับรถกระบะที่ทำการติดตั้งหลังคา เสริมคอก หรือใด ๆ ก็ตาม แล้วปรากฏว่าน้ำหนักรถจากเดิม 1.4 ตัน ขึ้นมาเป็น 1.6 ตัน แบบนี้จะต้องแจ้งกับนายทะเบียนก่อนเอารถออกมาวิ่ง ไม่อย่างนั้นจะมีความผิด มีสิทธิ์ถูกปรับ 2,000 บาท
นอกจากนี้การเปลี่ยนรถกระบะธรรมดา ๆ ให้เป็นรถบรรทุก จะต้องเสียภาษีรถยนต์แบบรถกระบะบรรทุกต่อปี แนะนำว่าควรศึกษารายละเอียดการดัดแปลงสภาพรถก่อนที่จะกลายเป็นผิดกฎหมาย
6. แต่งท่อไอเสียให้บวม
กรณีที่อยากแต่งท่อไอเสียให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ควรนำรไปตรวจสภาพกับ ตรอ. ให้เรียบร้อยก่อน หากท่อดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงดัง หรือมีควันดำเกินกว่ากฎหมายกำหนด มีสิทธิ์ถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท
จะเห็นได้ว่ารถกระบะบรรทุก ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะ 4 ประตู, กระบะตอนเดียว, กระบะแคป ล้วนมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกเพียบ หากไม่อยากถูกจับ ถูกปรับแบบงง ๆ แนะนำให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะเพื่อความถูกต้องแล้ว ยังเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ เพื่อนร่วมทาง และทรัพย์สินที่บรรทุกอีกด้วย
คำจำกัดความ
รถปิ๊กอัพ | รถบรรทุกขนาดเล็กที่ต่อตัวถังอย่างกระบะ |
สัมภาระ | สิ่งของเครื่องใช้ และเสบียงอาหารซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อภาระต่าง ๆ |
สุรา | น้ำเมาที่ได้จากการกลั่นสารบางประเภท อาทิ เอทิลแอลกอฮอล์ |
ตายตัว | คงอยู่อย่างนั้น, เปลี่ยนแปลงไม่ได้ |