ทํา พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ มีขั้นตอนอย่างไร ? ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง

แชร์ต่อ
ทํา พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง | มิสเตอร์ คุ้มค่า

หลายคนอาจยังไม่เข้าใจความหมายของการ ทําพรบ มอเตอร์ไซค์ ทำไมถึงต้องมี รวมถึงหากมีแล้วสามารถใช้งาน พ.ร.บ. มีประโยชน์อย่างไรกับคุณ มิสเตอร์ คุ้มค่า จึงได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจ รวมถึงขั้นตอนการทำพรบ มอเตอร์ไซค์ มาให้ทำความเข้าใจแบบละเอียดยิบ เพื่อให้คุณใช้เป็นแนวทางในอนาคต ซึ่งจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ? ไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย !

ทํา พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง ?

ขั้นตอนต่อ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ออนไลน์ | มิสเตอร์ คุ้มค่า

พรบ มอเตอร์ไซค์ คือการคุ้มครองค่าใช้จ่ายของผู้ขับขี่ที่ค่อนข้างครอบคลุม โดยให้ความคุ้มครอง 2 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

1. ค่าเสียหายเบื้องต้น ยังไม่ต้องพิสูจน์ความผิด

คือค่าใช้จ่ายที่ พ.ร.บ. จะดำเนินการชดใช้ให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สามารถเบิกจ่ายได้ทันที โดยยังไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่งในส่วนนี้ครอบคลุมทั้งคนขับและคนซ้อน

  • ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท/คน
  • เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ ชดเชย 35,000 บาท/คน
2. ค่าสินไหมทดแทน เมื่อพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก

คือค่าใช้จ่ายที่ พ.ร.บ. จะชดเชยให้เมื่อพิสูจน์แล้วว่าผู้ขับขี่เป็นฝ่ายถูก ครอบคลุมทั้งคนขับและคนซ้อนเช่นเดียวกัน โดยมีความคุ้มครองดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท
  • เสียชีวิต ทุพพลภาพ ชดเชย 300,000 บาท
  • สูญเสียอวัยวะ ได้แก่ นิ้วขาด 1 ข้อขึ้นไป ชดเชย 200,000 บาท / สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน ชดเชย 250,000 บาท และสูญเสียอวัยวะ 2 ส่วน ชดเชย 300,000 บาท
  • หากมีการรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
*หมายเหตุ: ความคุ้มครองดังกล่าว จะคุ้มครองเฉพาะกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น ไม่ได้ชดเชยในส่วนของค่าซ่อมแซมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุแต่อย่างใด

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ราคาเท่าไร ?

เชื่อว่าหนึ่งในทางเลือกของการทําพรบ มอเตอร์ไซค์ ของหลาย ๆ คน ก็คือ “ตรอ.” เนื่องจากมีการให้บริการอย่างครบวงจร แต่เรามีวิธีการดี ๆ ที่คุณไม่ต้องออกจากบ้านอีกต่อไป นั่นก็คือการต่อ พ.ร.บ. ผ่านเว็บไซต์ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (พ.ร.บ.กลาง) โดยมีรายละเอียดดังนี้

อัตราเบี้ยประกัน พรบ.รถจักรยานยนต์

1. เบี้ย พรบ.รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
  • ไม่เกิน 75 ซี.ซี. ราคา 161.57 บาท
  • 75 ซี.ซี. - 125 ซี.ซี. ราคา 323.14 บาท
  • 125 ซี.ซี. - 150 ซี.ซี. ราคา 430.14 บาท
  • 150 ซี.ซี. ขึ้นไป ราคา 645.21 บาท
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ราคา 323.14 บาท
2. เบี้ย พรบ.รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือสาธารณะ
  • ไม่เกิน 75 ซี.ซี. ราคา 161.57 บาท
  • 75 ซี.ซี. - 125 ซี.ซี. ราคา 376.64 บาท
  • 125 ซี.ซี. - 150 ซี.ซี. ราคา 376.64 บาท
  • 150 ซี.ซี. ขึ้นไป ราคา 645.21 บาท
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เช่า/รับจ้าง ราคา 376.64 บาท
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ราคา 376.64 บาท

ขั้นตอนต่อ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ออนไลน์

ในขั้นตอนการต่อ พรบ มอเตอร์ไซค์ ออนไลน์ ผ่านบริษัท กลางคุ้มครองเพื่อผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สามารถทำได้ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ ผ่านเว็บไซต์ และผ่านแอปพลิเคชัน Line โดยมีรายละเอียดดังนี้

การซื้อ พรบ ออนไลน์ ผ่าน Line

  • เพิ่มเพื่อนด้วยการแอดไลน์ @iRVP (มี @ ข้างหน้า)
  • คลิกที่เมนู “ซื้อ พ.ร.บ.” กดที่ภาพ ซื้อ พ.ร.บ.ที่แสดงบนหน้าจอ
  • กดเลือกขนาดเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดความคุ้มครอง จากนั้นให้เลื่อนหน้าจอลงด้านล่าง กด “ซื้อ พ.ร.บ.”
  • ลงทะเบียนรายละเอียดผู้ซื้อ รายละเอียดรถจักรยานยนต์ กดถัดไปจนถึงหน้ายืนยันข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องแล้วกด “ยืนยันข้อมูล”
  • เลือกวิธีการชำระเงิน และชำระเงินให้เรียบร้อย
  • เอกสารกรมธรรม์จะถูกส่งไปทางอีเมลที่ลงทะเบียนเอาไว้

การซื้อ พรบ มอเตอร์ไซค์ ผ่านเว็บไซต์

  • เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ https://irvp.rvp.co.th/ เลือก “ซื้อ พ.ร.บ. Online”
  • ลงทะเบียนใช้งานเว็บไซต์
  • ลงทะเบียนยืนยันตัวตน
  • บันทึกข้อมูลรถจัดทำกรมธรรม์
  • ชำระเงินค่าเบี้ยประกัน
  • รับกรมธรรม์ผ่านอีเมล หลังจากนั้นจะมีข้อความ SMS แจ้งได้รับความคุ้มครองจากบริษัทกลางฯ

หากเกิดอุบัติเหตุต้องทำอย่างไร ?

กรณีที่รถมอเตอร์ไซค์ของคุณเกิดอุบัติเหตุและตัวคุณไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แนะนำให้ตั้งสติและทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. จดทะเบียนรถหรือถ่ายภาพรถคันที่เกิดอุบัติเหตุ
  2. รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงที่สุด
  3. แจ้งบริษัทกลางฯ ที่สายด่วน 1791 หรือบริษัทประกันภัยของรถคันที่เกิดเหตุ หรือแจ้งตำรวจในท้องที่
  4. แสดงบัตรประชาชนและแจ้งข้อมูลทะเบียนรถคันที่เกิดเหตุ ที่ทำให้ได้รับความเสียหายแก่โรงพยาบาล
  5. สิทธิของผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. (กรณีรถคันที่เกิดเหตุมีประกัน) โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน
  6. สามารถโทรติดต่อสอบถามข้อมูลความคุ้มครอง พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์เพิ่มเติมได้ที่ 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขาดต่อ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์หลายปี ต่อใหม่ได้ไหม ?

รถจักรยานยนต์บางคันที่อาจไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ อาจทำให้หลายคนละเลยในการต่อ พรบ มอเตอร์ไซค์ เมื่อต้องการนำรถคันนั้นกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงกรณีที่ต้องการขายรถ จำเป็นจะต้องกลับมาต่อ พ.ร.บ.ให้เรียบร้อยก่อน แต่ถ้าหากขาดการต่อนานเกินไป สามารถกลับมาต่อได้หรือไม่ ? เรามีคำแนะนำดี ๆ มาบอกต่อ

  • ขาดต่อ พรบ มอเตอร์ไซค์ 1 ปีขึ้นไป สามารถต่อได้เลย แต่จะมีค่าปรับในส่วนของภาษีรถ
  • ขาดต่อ พรบ มอเตอร์ไซค์ 2 ปีขึ้นไป ให้นำรถไปตรวจเช็กสภาพที่ขนส่ง เพื่อดำเนินการต่อภาษีและจ่ายค่าปรับ แนะนำให้เตรียมเอกสารไปให้พร้อม เช่น สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ สมุดทะเบียนรถ และทะเบียนบ้านเจ้าของรถ
  • ขาดต่อ พรบ มอเตอร์ไซค์ 3 ปีขึ้นไป ต้องมีการจดทะเบียนรถใหม่ เพราะมีโอกาสที่รถจะถูกระงับป้ายทะเบียน โดยจะมีการเสียค่าปรับและภาษีย้อนหลัง ซึ่งมีเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อม คือ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ สมุดทะเบียนรถ และทะเบียนบ้านของเจ้าของรถ

จะเห็นได้ว่าการทําพรบ มอเตอร์ไซค์ ที่เรานำมาบอกต่อเมื่อข้างต้น ไม่ได้มีรายละเอียดหรือขั้นตอนไหนที่ยุ่งยาก ซับซ้อนแม้แต่นิดเดียว ส่วนใหญ่หากทำผ่านช่องทางออนไลน์ จะใช้เวลาในการกรอกรายละเอียดมากสุด 15 นาทีเท่านั้น เพียงเท่านี้คุณจะได้รับการคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้มอเตอร์ไซค์แล้ว ยิ่งขี่มาก “ความเสี่ยงก็ยิ่งมาก” โดยเฉพาะกับรถ 2 ล้อ “หนังหุ้มเหล็ก” เสี่ยงไม่ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาทีไม่คุ้มเสีย มีประกันไว้ยังไงก็ดีกว่า ด้วยความเป็นห่วง จาก มิสเตอร์ คุ้มค่า แพลตฟอร์มเปรียบเทียบประกันรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินออนไลน์

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่