ว่าด้วยเรื่องของ สีฟุตบาท ความหมาย ว่าอะไร ? สีไหนสามารถจอดรถได้หรือจอดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสีขาวแดง สีขาวดำ และสีขาวเหลือง เพราะเชื่อว่าหลายคนคงเคยเกิดปัญหาด้านการหาที่จอดรถพอสมควร จากปัญหาที่ว่า MrKumka จึงอยากพาคนใช้รถไป “ทวนความจำ” กันสักหน่อย สีฟุตบาทแบบไหน จอดได้ยังไงกันแน่ ตามไปดูกันเลย
รู้ยัง สีฟุตบาท ความหมาย ว่าอะไรบ้าง !?
สีขอบฟุตบาท (Curb Markings) เป็น “เครื่องหมายจราจร” บนเส้นขอบทาง ที่อยู่ในรูปแบบแถบสีต่าง ๆ ติดตั้งเอาไว้เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความปลอดภัย และป้องกันอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน ซึ่งแต่ละแถบสีมีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. สีฟุตบาทขาว-แดง
สีฟุตบาทขาว-แดง หรือ “เครื่องหมายห้ามหยุดรถ” หากพบเจอริมฟุตบาทที่แถบสีอยู่ในลักษณะสีแดงสลับสีขาว ให้เข้าใจไว้เลยว่าห้ามหยุดรถหรือจอดรถทุกชนิด ระหว่างแนวเขตที่กำหนดเป็นอันขาด นอกจากนี้ยังรวมถึงห้ามจอดแช่ ห้ามจอดรถรับส่ง และโบกให้รถแท็กซี่ รถตู้ รถประจำทาง หรือรถมอเตอร์ไซค์จอดด้วย
ซึ่งสีฟุตบาทดังกล่าว สามารถพบเห็นได้ในบริเวณโค้งถนนหรือหัวมุมถนน เพราะเป็นเลนส์ที่รถยนต์ห้ามจอด เนื่องจากมุมถนนส่วนใหญ่มักจะเป็นลักษณะ “เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาผ่านตลอด” หากมีรถยนต์ไปจอดบริเวณดังกล่าว อาจทำให้รถติดหรือเกิดอุบัติเหตุตามมาได้
2. สีฟุตบาทขาว-เหลือง
สีฟุตบาทขาว-เหลือง หรือ “เครื่องหมายห้ามจอดรถ” หากพบเจอริมฟุตบาทที่แถบสีอยู่ในลักษณะสีเหลืองสลับกับสีขาว ให้เข้าใจไว้เลยว่าห้ามหยุดรถระหว่างแนวที่กำหนด ‘เว้นแต่’ การหยุดรถรับส่งคนหรือสิ่งของเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ห้ามจอดทิ้งไว้ข้ามคืน
ซึ่งสีฟุตบาทดังกล่าว สามารถพบเห็นได้ในบริเวณที่สามารถหยุดรับหรือจอดส่งผู้โดยสารได้ ยกตัวอย่างเช่น ป้ายรถเมล์ เป็นการหยุดแล้วไปต่อ ไม่ใช่การจอดแช่เอาไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้การจราจรบนท้องถนนติดขัด รวมถึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
3. สีฟุตบาทขาว-ดำ
สีฟุตบาทขาว-ดำ หรือ “เครื่องหมายขาวดำ” หากพบเจอริมฟุตบาทที่แถบสีอยู่ในลักษณะสีดำสลับกับสีขาว ให้เข้าใจไว้เลยว่าเป็นการทำสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เห็นขอบทางอย่างชัดเจน เพื่อจุดประสงค์ในการให้ทุกคนลดความเร็ว หรือระวังอุบัติเหตุ
สีฟุตบาทดังกล่าว สามารถพบเห็นได้ในบริเวณช่วงขึ้นสะพานหรือวงเวียนกลับรถ หมายถึง “ห้ามจอด” เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชน แต่บางที่ก็สามารถจอดได้ เพียงแต่จะต้องจอดชิดขอบทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้คือความหมายและรายละเอียดของสีฟุตบาทรูปแบบต่าง ๆ ที่คุณควรทำความเข้าใจให้ดีเสมอ ว่าบริเวณที่คุณจอดรถนั้น กีดขวางการจราจรหรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ทันสังเกตจนพลาดไปจอดรถล่ะก็ อาจทำให้โดนใบสั่ง ล็อกล้อ พร้อมกับต้องเสียค่าปรับตามความผิด พ.ร.บ. มาตรา 57 และ 59 ได้
กฎหมายจราจรใหม่ เพิ่ม “โทษปรับ” ข้อไหนบ้าง ?
ใช้รถมากกว่าแค่เรื่องสีฟุตบาท เรื่องกฎจราจรต้องอัปเดทด้วย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรยังไง ล่าสุด..! เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐฯ ได้มีการปรับปรุงกฎหมายจราจรใหม่ พร้อมกับ “เพิ่มอัตราค่าปรับจราจร” ที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยมีหลากหลายข้อดังต่อไปนี้
ค่าปรับจราจร “ปัจจัยเสี่ยง” ต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- การขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ค่าปรับจราจรหากมีการ “แข่งหรือจัดแข่งรถ” ในทางสาธารณะ
- รวมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง ด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป ทางกฎหมายจะถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือดัดแปลง ปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือค่าปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากเป็นผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ร้านที่รับแต่งรถ เมื่อรถถูกนำมาใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะ “ผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับขี่โดย “ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย” ในชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
การไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้อื่น คือ “เมาแล้วขับ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากเป็นการทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำผิดครั้งแรก จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท
สีฟุตบาทนับว่าช่วยลดการจราจรที่ติดขัด และลดการเกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างมาก หากไม่ต้องการพบเจอปัญหาน่าปวดหัว แนะนำให้ซื้อประกันรถยนต์กับ MrKumka ติดรถเอาไว้ ซื้อวันนี้ ได้รับความคุ้มครองทันทีที่จ่ายค่าเบี้ยประกัน หากเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากจนเกินไป หรือถ้าหากต้องการเปรียบเทียบประกันรถยนต์ของแต่ละบริษัทก่อน ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพราะเว็บของเรายินดีให้บริการคุณตลอด 24 ชั่วโมง