หัวข้อที่น่าสนใจ
- รถควันดำ มีสาเหตุมาจากอะไร ?
- 1. เครื่องยนต์ไม่เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
- 2. เครื่องยนต์ระบบเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
- 3. ไส้กรองอากาศอุดตัน
- รถควันดำแก้ไขยังไงได้บ้าง ?
- 1. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนด
- 2. ซ่อมแซมเครื่องยนต์ที่สึกหรอ หรือชำรุด
- 3. ทำความสะอาดไส้กรอง
- 4. ล้างท่อไอเสีย
- 5. ตรวจเช็กหัวฉีด และปรับตั้งหัวฉีด
- รถควันดำมีความผิดทางอาญา เรื่องจริงหรือแค่คำขู่ ?
- โทษห้ามใช้รถ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ?
- ห้ามใช้ชั่วคราว
- ห้ามใช้เด็ดขาด
- ตรวจสภาพรถยนต์ราคาเท่าไหร่ ?
ใช้รถต้องรับผิดชอบเพื่อนร่วมทาง! ใช่แค่ระวังเรื่องอุบัติเหตุ เพราะเรื่องกลิ่นควันรถก็อันตรายและผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีรถควันดำบนท้องถนนให้เห็นเต็มไปหมด แน่นอนว่ามันสร้างความรำคาญและก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย มิสเตอร์ คุ้มค่า รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมาเกี่ยวกับ “ควันรถรถของคุณ” ทั้งสาเหตุรถควันดำ เรื่องการ ดูแลรถ เพื่อแก้ไข และไฮไลท์คือประเด็นโทษปรับที่คนใช้รถต้องมีความรับผิดชอบในรถที่ขับ รายละเอียดเป็นอย่างไร ? ตามไปดูกันเลย
รถควันดำ มีสาเหตุมาจากอะไร ?
บ่อยครั้งที่พบเจอรถควันดำบนท้องถนน แล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น สาเหตุรถควันดำเกิดจากอะไร ? บอกไว้ตรงนี้เลยว่าส่วนใหญ่มักเกิดจาก “รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล” โดยเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. เครื่องยนต์ไม่เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
เนื่องจากน้ำมันเครื่องมีหน้าที่ในการ “ลดการสึกหรอ” ของการทำงานเครื่องยนต์ และมีส่วนช่วยในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไป หากไม่มีการเปลี่ยนถ่ายตามที่กำหนด จะทำให้น้ำมันเครื่องเกิดความหนืด ซึ่งเกิดจากสิ่งสกปรกที่ติดเข้าไป
2. เครื่องยนต์ระบบเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
ระบบเผาไหม้ในเครื่องยนต์ “ตัวจุดระเบิด” ทำงานได้สมบูรณ์ ไอเสียก็จะน้อย ทางกลับกันถ้าไม่สมบูรณ์ ผลที่ได้คือควันเหม็นที่ปล่อยมาทางท่อไอเสีย อีกหนึ่งอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝาสูบ แหวนลูกสูบ หรือลูกสูบชำรุด จากการใช้งานเครื่องยนต์มาอย่างยาวนาน จนเกิดอาการ “หลวม” เมื่อเครื่องหลวมก็ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงเล็ดลอดเข้าไปปะปนกับการเผาไหม้ จนกลายเป็นควันรถสีดำที่เห็นกันบ่อย ๆ บนท้องถนนนั่นเอง
3. ไส้กรองอากาศอุดตัน
ไส้กรองอากาศหรือแผ่นกรองอากาศรถยนต์ มีหน้าที่ในการดักจับฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรก ไม่ให้เข้าไปในเครื่องยนต์ ซึ่งถ้าหากเกิดการอุดตันจากการไม่ได้เปลี่ยนตามระยะที่กำหนด จะทำให้อากาศเข้าไปในกระบอกสูบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเครื่องยนต์ก็ทำการเผาไหม้ได้ไม่สมบูรณ์ จนในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นควันดำนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุรถควันดำหลัก ๆ เกิดจากเครื่องยนต์ที่ขาดการเอาใจใส่ การไม่ดูแลรถอย่างถูกต้อง หลาย ๆ คนจึงเกิดความสงสัยตามมา ว่าหากมีการดูแลรถอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยปละละเลย จะทำให้อาการรถควันดำหายไปหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นตามไปดูคำตอบจาก “วิธีแก้รถควันดำ” ในหัวข้อถัดไปกันเลยดีกว่า
ควันขาวเกิดจากอะไร ? พร้อมบอกวิธีแก้
นอกจากจะมีรถควันดำแล้ว ยังมี “รถควันขาว” ด้วย ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างสึกหรอ หรือทำให้น้ำมันเครื่องหลุดเข้าไปในกระบวนการจุดระเบิด ส่งผลให้อุณหภูมิการเผาไหม้ ไม่สามารถไปถึงจุดที่เผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็น “ควันรถ” ที่ออกจากปลายท่อไอเสีย แล้วไปเจอกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า รวมถึง “ความชื้น” ในอากาศ จึงทำให้เกิดเป็นควันสีขาวพวงพุ่งออกจากท่อไอเสียนั่นเอง
สำหรับวิธีแก้หลัก ๆ มีทั้งหมด 4 วิธี ดังนี้
- เปลี่ยนหรือเช็คสภาพของเหลวต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น น้ำหล่อเย็น น้ำมันเครื่อง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ทำความสะอาดท่อไอเสีย ด้วยการใช้น้ำหรือฉีดลมเข้าไปในท่อ เพื่อล้างคราบเขม่าควันรถ และฝุ่นละอองที่อยู่ภายใน
- ตรวจสอบคุณภาพของประเก็นฝาสูบ แหวนลูกสูบ และยางตีนวาล์ว ว่าหนาแน่นอยู่หรือไม่ หรือสึกหรอ ชำรุดส่วนไหนหรือเปล่า
- เปลี่ยนไส้กรองอากาศใหม่ และควรเปลี่ยนทุก ๆ รอบตามกำหนด (ประมาณทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร)
การปล่อยให้รถควันดำโดยไม่รีบแก้ไขให้เรียบร้อย นอกจากจะทำให้มีปัญหาในตอนที่ตรวจสภาพรถเพื่อต่อภาษีแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากชิ้นส่วน/อะไหล่ต่าง ๆ เริ่มได้รับความเสียหายไปเรื่อย ๆ หากไม่อยากปวดหัวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แนะนำให้เลือกซื้อ “ประกันภัยรถยนต์” ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม มิสเตอร์ คุ้มค่า ยินดีมอบความคุ้มครองดีที่สุดให้คุณ แถมยังเช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
รถควันดำแก้ไขยังไงได้บ้าง ?
สำหรับคนที่กำลังมองหาวิธีแก้ไข หรือหาข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้รถควันดำ ไม่ต้องไปหาจากที่อื่นให้เสียเวลา เพราะเราได้ลิสต์วิธีแก้มาให้เรียบร้อยแล้ว หลัก ๆ มีทั้งหมด 5 วิธี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนด
อย่างที่บอกไปแล้ว ว่ารถยนต์ที่ขาดการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถควันดำได้ ดังนั้นแนะนำให้ตรวจสภาพรถ โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องอยู่เสมอ รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนด นอกจากจะช่วยลดปัญหาควันรถดำได้แล้ว ยังช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ซ่อมแซมเครื่องยนต์ที่สึกหรอ หรือชำรุด
กรณีที่เครื่องยนต์ส่วนไหนก็ตาม สึกหรอ ชำรุด แนะนำให้ซ่อมแซมทันที เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถควันดำได้ นอกจากนี้ยังควรป้องกันไว้ก่อน ด้วยการตรวจสภาพรถใกล้ฉันเป็นระยะ ๆ
3. ทำความสะอาดไส้กรอง
แนะนำให้หมั่นทำความสะอาดไส้กรองหรือแผ่นกรองอากาศ รวมถึงเปลี่ยนตามระยะที่กำหนด เพื่อป้องกันอาการรถควันดำที่อาจเกิดขึ้นตามมา
4. ล้างท่อไอเสีย
การล้างท่อไอเสียรถยนต์ด้วยการฉีดน้ำเข้าไปในท่อ ถือเป็นการเป็นล้างคราบเขม่าควัน และสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ ซึ่งช่วยลดการเกิดควันดำที่ดีมาก ๆ อีกวิธีเลยล่ะ
5. ตรวจเช็กหัวฉีด และปรับตั้งหัวฉีด
แนะนำให้หมั่นตรวจเช็คหัวฉีดจ่ายน้ำมัน รวมถึงปรับตั้งหัวฉีดให้เหมาะสม เพื่อให้การจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพ หากพบว่าจุดไหนสึกหรอ ชำรุด หรือมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ควรซ่อมแซมโดยด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจทำให้รถควันดำได้
รถควันดำมีความผิดทางอาญา เรื่องจริงหรือแค่คำขู่ ?
รถควันดำซึ่งเกิดจากการดูแลรถที่ไม่เหมาะสม มีความผิดทางกฎหมายจริง แถมยังเป็น “กฎหมายอาญา” ด้วย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหามลพิษ จากแหล่งกำเนิดประเภทรถยนต์ ดังนี้
- กำหนดค่าทึบแสง ไม่เกิน 30% (จากเดิมไม่เกิน 45%)
- กำหนดค่ากระดาษกรอง ไม่เกิน 40% จากเดินไม่เกิน 50% (มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567)
สำหรับ “ความผิดทางกฎหมายอาญา” จะมีโทษดังต่อไปนี้
- รถยนต์ขนาดเล็ก ปรับสูงสุด 1,000 บาท
- รถยนต์ขนาดใหญ่ ปรับสูงสุด 50,000 บาท
นอกจากนี้หากพบว่ามีค่าควันดำเกินร้อยละ 50 รถยนต์คันนั้น ๆ จะถูกติดสติ๊กเกอร์ “ห้ามใช้ชั่วคราว” หรือ “ห้ามใช้เด็ดขาด” หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท กรณีไม่หยุดรถให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หรือเข้าไปในรถยนต์ หรือกระทำการใดที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โทษห้ามใช้รถ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าหากรถยนต์ของคุณ มีควันดำเกินร้อยละ 50 จะถูกสั่ง “ห้ามใช้รถชั่วคราวและห้ามใช้รถเด็ดขาด” ความผิดโทษที่ไม่ค่อยได้เจอนักสำหรับหลาย ๆ คน เพื่อป้องกันความสับสน มิสเตอร์ คุ้มค่า จะอธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นดังนี้
ห้ามใช้ชั่วคราว
“คำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว” สำหรับรถยนต์ที่มีควันดำเกินร้อยละ 50 เจ้าของรถจะได้รับแบบ คพ.1 และถูกติดสติ๊กเกอร์ห้ามใช้ชั่วคราว ซึ่งจะมีผลจนกว่าจะนำรถไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และมีควันดำเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดภายใน 30 วัน
เมื่อแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ให้นำรถพร้อม คพ.1 และหลักฐานการแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ ไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดค่าควันดำอีกครั้ง เพื่อยกเลิกคำสั่ง หากพบว่าการแก้ไขถูกต้อง เจ้าของรถจะได้รับ คพ.4 ไว้เป็นหลักฐาน
ห้ามใช้เด็ดขาด
กรณีที่ไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ภายในระยะเวลา 30 วัน พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกคำสั่ง “ห้ามใช้เด็ดขาด” ซึ่งเจ้าของรถยนต์จะไม่สามารถใช้รถได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้นำรถไปแก้ไขปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์เท่านั้น โดยเจ้าของรถจะได้รับหนังสืออนุญาตตามแบบ คพ.2
เมื่อแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ให้นำรถพร้อมแบบ คพ.1 พร้อมเขียนคำร้องขอยกเลิกคำสั่งตามแบบ คพ.3 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะที่กำหนด เพื่อขอให้ตรวจวัดค่าควันดำและยกเลิกคำสั่ง หากเป็นไปได้ด้วยดีเจ้าของรถจะได้รับแบบ คพ.4 ไว้เป็นหลักฐาน
ตรวจสภาพรถยนต์ราคาเท่าไหร่ ?
การตรวจสภาพรถประจำปีหรือตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีกลาย ๆ ว่ารถของคุณยังใช้งานได้ ควันดำ ควันขาวไม่เยอะเกินไปที่จะไม่ผ่านเกณฑ์การใช้งานทั่วไปจนถูกทำโทษไม่ให้ต่อภาษี
สภาพรถของคุณที่ต้องมีการตรวจทุกปีเหมือนคนที่ต้องเช็กสุขภาพประจำปีว่ายังไหวไหม มีความสำคัญทั้งในแง่มุมของทางกฎหมายและความปลอดภัยในการใช้รถ สามารถตรวจสภาพรถกับ “ตรอ.” ได้เลย เนื่องจากได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้เป็นสถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ โดยตรวจสภาพรถต่อภาษี ราคาแบ่งตาม “ประเภทรถ” ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
หากครั้งแรกตรวจสภาพรถไม่ผ่าน ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และนำรถมาตรวจสภาพใหม่อีกครั้งภายใน 15 วัน จะมีค่าบริการตรวจสภาพรถยนต์ ราคาครึ่งหนึ่งของราคาปกติ แต่ถ้าหากเกินกว่านั้น จะต้องเสียตรวจสภาพรถต่อภาษี ราคาเต็ม เหมือนกับการตรวจสภาพรถครั้งแรก
ไม่ว่ารถของคุณจะกลายเป็นรถควันดำจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม แนะนำให้รีบแก้ไขโดยด่วน ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย แนะนำให้ตรวจสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อใช้รถไปนาน ๆ มีอายุการใช้งานรถที่ยาวนาน อาจทำให้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่ต่าง ๆ สึกหรอ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ควันรถดำนั่นเอง
คำจำกัดความ
ยางตีนวาล์ว | หรือ “ซีลหมวดวาล์ว” มีหน้าที่ปิดกั้นน้ำมันเครื่อง ไม่ให้เล็ดลอด/ไหลลงหลอดวาล์วเข้าห้องเผาไหม้ปะปนกับน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้เกิดควันขาว |
น้ำหนักรถเปล่า | น้ำหนักของรถทั้งคัน ไม่รวมน้ำหนักบรรทุก |
เครื่องยนต์หลวม | เครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนภายในระบบสึกหรอ เสื่อมสภาพ ทำให้การทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจเกิดจากการใช้งานมานาน หรือเครื่องยนต์ขาดการบำรุงรักษา |