หัวข้อที่น่าสนใจ
- ระบบความปลอดภัยรถยนต์มีอะไรบ้าง
- 1. ระบบช่วยเตือนจุดอับสายตา : BSM
- 2. ระบบถุงลมนิรภัย : SRS
- 3. ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถยนต์ : ESC
- 4. ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ : PMM
- 5. ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ : ABS
- 6. ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี : TRC
- 7. เทคโนโลยีกล้องมองภาพรอบทิศทาง : IAVM
- เทคโนโลยี และระบบความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้า มีอะไรบ้าง ?
- ขับขี่แบบไหน ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีที่สุด ?
- สิ่งที่ควรมีติดรถ เพื่อการขับขี่ที่อุ่นใจ มีอะไรบ้าง ?
รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ช่วยเสริมสร้างการขับขี่ปลอดภัยได้ค่อนข้างมาก เพราะมาพร้อมกับระบบความปลอดภัยแบบจัดเต็ม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนมีรถจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพราะระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ มาพร้อมกับตัวย่อเต็มไปหมด ซึ่งจะมีความหมายว่าอะไร ใช้งานยังไงบ้าง ตาม มิสเตอร์ คุ้มค่า ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
ระบบความปลอดภัยรถยนต์มีอะไรบ้าง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบบความปลอดภัยในรถยนต์ เป็นตัวช่วยในการป้องกัน หรือลดความเสียหายรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนน ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยที่เรานำมาบอกต่อ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ระบบช่วยเตือนจุดอับสายตา : BSM
ย่อมาจากคำว่า Blind Spot Monitoring เป็นระบบความปลอดภัยที่สำคัญ ทำงานด้วยระบบเซนเซอร์ ช่วยตรวจสอบสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของสายตา และทำงานร่วมกับเรดาร์ สามารถใช้ในการตรวจจับสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับกล้องหน้ารถ หรือกล้องหลังรถ รวมถึงระบบการมองรอบคัน
หากเซนเซอร์ตรวจเจอสิ่งกีดขวาง ตัวคลื่นจะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ขับขี่เป็นแสงไฟกะพริบสีส้มบริเวณกระจกมองข้าง พร้อมกับส่งเสียงเตือนเมื่อผู้ขับขี่เปิดไฟเลี้ยวทางฝั่งที่มีสิ่งกีดขวาง
2. ระบบถุงลมนิรภัย : SRS
Supplemental Restrain System หรือที่หลายคนนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า Air bag ช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุร้ายแรงได้เป็นอย่างดี โดยถุงลมนิรภัยในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ด้วยการเพิ่มถุงลมนิรภัยไว้ด้านข้าง เพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุรอบคัน และช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารเมื่อประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน
3. ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถยนต์ : ESC
Electronic Stability Control มีหน้าที่ในการช่วยป้องกันการลื่นไหล และช่วยควบคุมการทรงตัวในขณะขับขี่ ซึ่งทำงานร่วมกับระบบ ABS โดยทำงานผ่านระบบเซนเซอร์ ตรวจจับการไหล ถือเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่สำคัญมาก ๆ แถมยังเป็นระบบพื้นฐานของรถยนต์ที่ควรมี และควรตรวจเช็กอยู่เสมอ
4. ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ : PMM
Pedal Misapplication Mitigation ช่วยตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อผู้ขับขี่เหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยจะทำงานเฉพาะการเคลื่อนรถไปข้างหน้าเท่านั้น ระบบจะทำการตรวจสอบวัตถุด้านหน้า หากมีการเหยียบคันเร่งผิดพลาด ระบบจะเตือนและตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเบรกรถได้ทัน
5. ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ : ABS
Anti-Lock Brake System ช่วยหลีกเลี่ยงการชน รวมถึงลดความรุนแรงเมื่อเกิดการชนด้านหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ โดยผสมผสานการทำงานกับกล้องและเรดาร์แบบคลื่นมิลิเมตร และเป็นระบบการเบรกปลอดภัย ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการเบรกจนล้อล็อก ทำให้รถเสียหลักหรือไถลจนคุมทิศทางไม่ได้
6. ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี : TRC
Traction Control System ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกตัว, เข้าโค้ง หรือต้องขับขี่บนถนนเปียก ซึ่งการที่ความเร็วของทุกล้อสัมพันธ์กัน จะช่วยป้องกันอาการรถปัดหรือส่ายขณะออกตัว หรือขณะเสียการทรงตัวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถประคองตัวกลับมาควบคุมได้ง่ายขึ้น
การทำงานของระบบนี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อระบบเซนเซอร์จับได้ว่าล้อใดล้อหนึ่งกำลังฟรีจากการลื่น ระบบจะตัดกำลังเครื่องยนต์หรือเบรกล้อข้างนั้นทันที
7. เทคโนโลยีกล้องมองภาพรอบทิศทาง : IAVM
Intelligent Around View Monitoring ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย และมีประโยชน์ในการขับขี่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นทัศนวิสัยภายนอกได้ 360 องศา รวมถึงมีประโยชน์มาก ๆ ในการจอดรถ โดยเฉพาะการถอยจอด ช่วยให้มือใหม่หัดขับหรือคนที่ยังไม่มีความชำนาญ หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ดีขึ้น แถมยังช่วยสร้างความมั่นใจในการขับขี่อีกด้วย
แม้ว่าคุณจะขับขี่ปลอดภัย ระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ พร้อมกับติดตั้งระบบความปลอดภัยพื้นฐานอย่างครบครัน แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย หากต้องการขับขี่อย่างอุ่นใจตลอดการเดินทาง การเลือกซื้อประกันรถยนต์ที่คุ้มครองครอบคลุม ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีเช่นกัน ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องเลือกซื้อแบบไหน ที่ให้ความคุ้มครองครบทุกด้าน แถมราคาสบายกระเป๋า เข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์ออนไลน์กับ มิสเตอร์ คุ้มค่า ก่อนตัดสินใจได้เลย
เทคโนโลยี และระบบความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้า มีอะไรบ้าง ?
กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศไทย โดยรวบรวมสถิติ 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีรถอีวีป้ายแดงรวม 52,443 คัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวน 49,997 คัน เพิ่มขึ้น 4.89% โดยในจำนวนนี้พบว่ายานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV) ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีสถิติจดทะเบียนในไทยรอบ 9 เดือนที่ผ่านมารวมกว่า 104,197 คัน เพิ่มขึ้นจาก 65,423 คันในปีก่อน (ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1150651)
ด้วยความที่ในปัจจุบันมีคนใช้งานรถไฟฟ้า EV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจรถยนต์ประเภทนี้ ต้องรู้จักเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยของรถไฟฟ้ากันสักหน่อย เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อรถได้ง่ายขึ้น
1. โครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถยนต์ไฟฟ้า มีการออกแบบโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง เพื่อปกป้องผู้โดยสารจากแรงกระแทก ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการเลือกใช้วัสดุเป็นเหล็กที่มีความแข็งแรงสูงและอะลูมิเนียม เพื่อลดน้ำหนักของรถ
2. การทดสอบความปลอดภัย
ก่อนที่จะรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันจะเปิดตัว และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดตามมาตรฐานสากล เช่น การทดสอบการชนหน้า, การชนด้านข้าง และการพลิกคว่ำ ซึ่งการทดสอบเหล่านี้ ช่วยให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีความปลอดภัยในทุก ๆ สถานการณ์
3. การจัดเก็บ และจัดการพลังงานไฟฟ้าในระบบแบตเตอรี่
ต้องบอกก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าถูกออกแบบให้มีระบบจัดเก็บ และจัดการพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่อย่างปลอดภัย มีการใช้งานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่มีการป้องกันความร้อนเกินและการระเบิด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่มีความทนทานและประสิทธิภาพสูงขึ้น
4. ระบบสัญญาณเตือน และป้องกันอุบัติเหตุ
รถยนต์ไฟฟ้ามีระบบความปลอดภัยที่ครบถ้วน ดังนี้
- ระบบเตือนเมื่อมีการชน (Collision Warning System)
- ระบบควบคุมเสถียรภาพ (Electronic Stability Control)
- ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (Automatic Emergency Braking)
นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจจับคนเดินถนนและจักรยาน (Pedestrian and Cyclist Detection) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
มาตรฐานความปลอดภัย ด้านไฟฟ้าแรงสูงในรถยนต์ไฟฟ้า
เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตออกมามีความปลอดภัยต่อการใช้งาน นอกจากระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ แล้ว มาตรฐานความปลอดภัยในด้านระบบไฟฟ้าแรงสูง (High Voltage Safety) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องมีทั้งระดับสากล และระดับสหภาพยุโรป ดังนี้
มาตรฐานสากล
ISO (International Organization for Standardization)
ISO 6469-3
มาตรฐานนี้กำหนดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับระบบไฟฟ้าแรงสูงในรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรงและโดยอ้อมกับส่วนที่มีไฟฟ้าแรงสูง
ISO 17409
มาตรฐานนี้กำหนดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับการชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ โดยรวมถึงการป้องกันการไฟฟ้าดูดและการตัดไฟเมื่อเกิดความผิดปกติ
IEC (International Electrotechnical Commission)
IEC 60664-1
มาตรฐานนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินความทนทานของวัสดุฉนวนไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าแรงสูง เพื่อให้แน่ใจว่ามีความทนทานต่อสภาวะการใช้งาน
IEC 61851-1
มาตรฐานนี้กำหนดข้อกำหนดสำหรับอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเน้นไปที่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
มาตรฐานสหภาพยุโรป
- การปรับใช้มาตรฐาน ISO และ IEC ที่เกี่ยวข้อง
- การกำหนดข้อกำหนดเพิ่มเติม ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
ขับขี่แบบไหน ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีที่สุด ?
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าต่อให้รถยนต์ของคุณมีระบบความปลอดภัยจัดเต็ม ก็ไม่อาจเลี่ยงอุบัติเหตุได้ 100% เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ถ้าจะให้ดีผู้ขับขี่ควรมีความรู้ และมีวิธีรับมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนี้
1. ขับรถทางไกล
ในบางครั้งที่จำเป็นต้องขับรถทางไกล เพื่อความปลอดภัยควรตรวจสภาพรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวบรวมเตรียมอุปกรณ์และอะไหล่รถที่จำเป็น ที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดเว้นการดื่มสุราหรือของมึนเมาทุกชนิด
2. ขับรถตอนฝนตก ถนนลื่น
หากต้องขับรถในช่วงที่ฝนตก ถนนลื่น ให้ชะลอความเร็วรถให้ช้ากว่าปกติ และทิ้งระยะห่างจากคันด้านหน้าให้มากที่สุด ถ้าขับอยู่บนทางที่ให้รถขับสวนกัน ควรเปิดไฟหน้ารถเพื่อเตือนรถที่วิ่งสวนมาด้วย และถ้าต้องการหยุดรถควรใช้เกียร์ช่วย ไม่ควรเหยียบเบรกกะทันหัน หรือหักพวงมาลัยรถอย่างฉับพลัน เพราะอาจทำให้รถปัดหรือหมุนจนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้
3. เข้าใจวิธีการใช้ เกียร์ขึ้นเขา - ลงเขา
การขับขี่รถขึ้นเขาที่ถูกต้อง ปลอดภัย ควรใช่เกียร์ต่ำที่มีกำลังพอ เพราะถ้าหากเครื่องยนต์ไม่มีกำลังมากพอ จะทำให้รถดับและไหล แนะนำให้เหยียบเบรกและใช้เบรกมือช่วย ในตอนที่ขับขี่รถลงเขาก็ควรใช้เกียร์ต่ำด้วยเช่นกัน เพื่อฉุดกำลังไม่ให้รถไหลเร็วเกินไป หรือคอยประคองรถด้วยการเหยียบเบรก ชะลอให้รถช้าพอที่จะบังคับได้
สิ่งที่ควรมีติดรถ เพื่อการขับขี่ที่อุ่นใจ มีอะไรบ้าง ?
นอกจากจะมีทริคในการขับขี่ที่ดี รถยนต์มีระบบความปลอดภัยที่ตอบโจทย์ แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ แนะนำให้เตรียมสิ่งของต่อไปนี้ติดรถไฟด้วย เพื่อความอุ่นใจ ไร้กังวลตลอดการเดินทาง
1. กล้องติดรถยนต์
หน้าที่ของกล้องติดรถยนต์ คือ คอยบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ บนท้องถนนในขณะที่ขับขี่อยู่อย่างครบถ้วน แถมยังช่วยเป็นหลักฐานสำคัญในการป้องกันจากสถานการณ์ขัดแย้ง หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ต้องการภาพบันทึก เพื่อยืนยันความถูกต้อง นอกจากนี้ยังใช้เป็นพยานให้กับบุคคลอื่นได้ด้วย
2. ยางอะไหล่สำรอง
หากต้องเดินทางไปในเส้นทางที่ขรุขระ เป็นหลุม เป็นบ่อ อาจทำให้ยางรถยนต์แตก หรือชำรุดได้ง่าย การมียางอะไหล่สำรองติดรถเอาไว้ จะช่วยให้คุณขับรถต่อไปยังอู่ซ่อมใกล้ ๆ เพื่อให้ช่างที่ชำนาญดำเนินการเปลี่ยนยางใหม่ หรือตรวจเช็กความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด
3. ปั๊มลมพกพาสำหรับรถยนต์
แม้ว่าจะเช็คลมยางรถยนต์ก่อนออกเดินทางมาดีแล้ว แต่ก็มีโอกาสยางรั่วซึมหรือยางแบนได้เสมอ การมีปั๊มลมพกพาจะทำให้สามารถเติมลมยางให้รถวิ่งต่อไปยังปั๊มน้ำมันเพื่อเติมลม หรือไปปะยางที่อู่ซ่อมรถใกล้เคียงได้ ซึ่งช่วยลดการสึกหรอของยางรถยนต์ได้ดีมาก ๆ เลยล่ะ
4. สายพ่วงแบตเตอรี่
ปกติแล้วแบตเตอรี่รถยนต์จะมีอายุการใช้งาน 2 ปีขึ้นไป แต่ถ้าหากเกิดปัญหารถแบตหมด แบตเสื่อมกลางทาง การมีสายพ่วงแบตเตอรี่ติดรถเอาไว้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแค่พ่วงแบตเตอรี่กับรถคันที่ปกติ ก็ช่วยให้คุณขับรถไปยังอู่ซ่อมใกล้ฉัน เพื่อเปลี่ยนแบตได้โดยไม่ต้องติดแหง็กอยู่กับที่เป็นเวลานาน
5. ที่ทุบกระจก และอุปกรณ์ตัดเข็มขัดนิรภัย
ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มาก ๆ เพราะถ้าหากพบเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้รถ รถตกน้ำ ไม่สามารถเปิดประตูออกจากรถได้ สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตได้เลย
เพื่อการขับขี่ปลอดภัย นอกจากจะติดตั้งระบบความปลอดภัยพื้นฐาน หรือเลือกซื้อรถที่มีระบบรักษาความปลอดภัยครบครันมาจากโรงงานอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจจนเกินไป ทุก ๆ ครั้งที่ขับขี่รถ ไม่ว่าจะระยะทางใกล้หรือไกลควรมีสติ และขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
คำจำกัดความ
คลื่นมิลิเมตร | ความถี่ของไฟฟ้าแม่เหล็กระหว่างไมโครเวฟและอินฟราเรด |
ยานยนต์ | รถยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะสำหรับเดินทาง และขนส่งสินค้าทางบก |
รับรอง | รับประกัน |